posttoday

สนช.รับหลักการทำอีไอเอลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

24 พฤศจิกายน 2560

ที่ประชุมสนช.เห็นชอบวาระแรก "ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ"

ที่ประชุมสนช.เห็นชอบวาระแรก "ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ"

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่) พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 156 เสียง งดออกเสียง 2 พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา และกำหนดระยะดำเนินการ 57 วัน

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 คือ แก้ไขคำว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็น รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ พร้อมเพิ่มบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แก้ไขเพิ่มเติมการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคลุมมลพิษในการเข้าตรวจสอบสถานที่ เพิ่มบทกำหนดโทษ

สำหรับกรณีการไม่นำส่งรายงานการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกรณีการดำเนินการก่อสร้างหรือประกอบกิจการใดก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นหรือความเห็นชอบ เพิ่มคณะกรรมการเปรียบเทียบ และแก้ไขเพิ่มเติมอัตรา

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 บัญญัติให้การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ให้เป็นตามกำหนดในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่สอดคล้องกับมาตรา 58 และมาตรา278 ของรัฐธรรมนูญ ที่ ให้มีการจัดทำกฎหมายที่จำเป็นเพื่อกำหนดให้ดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ

ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งในพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ