posttoday

21 เหตุผลที่ปี 2021จะเป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับโลกธุรกิจและการตลาด (ตอนที่ 1)

18 กุมภาพันธ์ 2564

ในปี 2020 ที่ผ่านมา เราทุกคนได้เผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใด อยู่พื้นที่ใดของโลก จะรวยหรือจนก็ตาม แต่ในเมื่อชีวิตต้องก้าวต่อไป สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เราก้าวต่อไปได้นั้นก็คือ “ความหวัง”

แม้ปี 2020 จะเป็นปีแห่งวิกฤต แต่โลกไม่เคยหยุดนิ่ง แถมเคลื่อนที่อย่างเร็วขึ้น เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนไปโดยไม่รู้สึกตัว เรามาดูกันว่า 21 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคตมีอะไรบ้าง

1. ในปี 2020 ที่ผ่านมา เราพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ซึ่งหลากหลายแบรนด์ก็พร้อมกระโจนเข้าไปในน่านน้ำใหม่ เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราเห็นแบรนด์รถยนต์หรูอย่าง Marserati ที่เปิดตัวรถรุ่นใหม่ผ่านการไลฟ์บน TikTok ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ถึง 2.36 ล้านคน ในเดือนพฤศจิกายน Honda ที่เปิดตัวรถต้นแบบ Civic 11 บน Twitch แพลทฟอร์มไลฟ์สตรีมสำหรับเล่าเกมเมอร์ เช่นเดียวกัน Nike ที่เปิดตัวรองเท้ารุ่นใหม่ผ่านการไลฟ์ ซึ่งผลคือรองเท้ารุ่นดังกล่าวขายหมดภายใน 10 นาทีเท่านั้น การเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ เหล่านี้ อาจบ่งบอกถึงการเริ่มต้นแห่งยุคของการสร้างสรรค์งานโฆษณาแบบใหม่

2. เพราะธุรกิจในยุคนี้เป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ งานโฆษณาในเกมออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แถมยังมีวิวัฒนาการและได้รับความนิยมขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีช่องว่างอีกมากมายในการพัฒนาลูกเล่นอื่นๆ อย่างกรณีของวงกนตรี Travis Scott ที่ได้จัดคอนเสิร์ตของตัวเองในเกมออนไลน์ Fortnite เพื่อเปิดตัวซิงเกิ้ลใหม่ของวง

3. ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกของธุรกิจนั้น เราเข้าสู่ยุค “สร้างประสบการณ์” เห็นได้จาก Hinichijou ร้านกาแฟเล็กๆ ในเซี่ยงไฮ้ที่หากิมมิคให้กับร้านกาแฟของตัวเอง โดยหน้าร้านของเธอจะเป็นรูเล็กๆ ที่สามารถสอดมือและแก้วกาแฟออกมาได้ โดยลูกค้าสามารถสั่งกาแฟและชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ จากนั้นมือของตุ๊กตาหมีก็จะเสิร์ฟแก้วกาแฟออกมา ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้คล้ายกับ Little wine holes ช่องทางในการขายไวน์ในยุคเรเนซองต์ของยุโรป

4. เมื่อเร็วๆ นี้ ค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกันอย่าง Ford ได้ยื่นจดสิทธิบัติเพื่อสร้าง Marketplace สำหรับ “จราจร” แนวคิดนี้เป็นการใช้ Smat Contract Fulfillment ซึ่งเป็นกระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ผสานเข้ากับสกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ทำให้การจราจรสะดวกมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น รถยนต์ A จ่ายเงินให้รถยนต์ B เพื่อที่จะได้ทางไปก่อน

5. เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไมโครซอฟต์ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่สามารถสรุปการประชุมได้ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ผลการประชุมได้ออกมาเป็นคะแนน ซึ่งเทคโนโลยีที่จับแสียงและการแสดงออกทางหน้า ซึ่งถือเป็นอีกความก้าวหน้าหนึ่งของโลกที่สะท้อนให้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในสังคมสมัยใหม่

6. ปี 2020 เป็นอีกปีที่สอนให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน “สุขภาพใจ” และ “ความเป็นอยู่” ของผู้อื่น ล่าสุด ไมโครซอฟต์ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน Microsoft Teams และ Outlook เพื่อช่วยลดความเครียดของคนที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่บ้าน ซึ่งฟีเจอร์นั้นก็คือ การพูดคุยกับแชทบอตที่ชื่อว่า Headspace และ Woebot Health

7. โลกเสมือนได้ก้าวล้ำไปอีกขั้น เมื่อคนที่อยู่กันคนละซีกโลกสามารถเดินทางไปอีกซีกโลกหนึ่งเสมือนจริงได้ ล่าสุด งานแฟร์งานตกแต่งบ้านระดับโลกอย่าง Punto de Inflexion ได้จัดงานอีเว้นท์เสมือนหรือ Virtual event โดยใช้เทคโนโลยี VR เข้ามาสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ทำให้งานแฟร์นั้นคล้ายกับเกม สนุกและมีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ทั้งผู้ร่วมงานและผู้จัดแสดงมีปฏิสัมพันธ์ได้จริง

8. มนุษย์กำลังอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้น เพราะแม้แต่อินฟลูเอ็นเซอร์ก็ยังถูกสร้างและมีตัวตนขึ้นมาบนโลกออนไลน์ แต่ยอดขายนั้นเกิดขึ้นจริง และนี่เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการเข้าถึงและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น IKEA ญี่ปุ่นที่ดึง IMMA อินฟลูเอ็นเซอร์บนโลกเสมือนมาจัดดิสเพลย์บนย่านช้อปปิ้งอย่างฮาราจูกุ

9. แม้จะเกิดความนิยมของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็เกิดความตระหนักเรื่องผลกระทบทางสุขภาพตามมา ซึ่งหลายแบรนด์ต่างออกโซลูชั่นเพื่อควบคุมการใช้งาน ตัวอย่างเช่น Tencent ได้ออกฟีเจอร์ “จำกัดเวลา” ในการเล่นเกม เพื่อสนับสนุนการเล่นเกมอย่างพอดี ซึ่งนี่เป็นอีกแนวโน้มที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในหมู่นักพัฒนาแอปฯ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความบันเทิงและสุขภาพ ในอนาคต จะได้เห็นเครื่องมือดิจิทัลมีบทบาทต่อการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น

10. ในวิกฤตโควิด-19 หลายองค์กรและบริษัทต่างโพสิชั่นบทบาทของตัวเองต่อสังคมและชุมชน และนี่คือฉากทัศน์ใหม่ของบริษัทในการร่วมแก้ปัญหาสังคมโดยใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของตัวเอง อย่าง airbnb ที่แม้ตัวเองจะประสบปัญหาไม่ใช้น้อย แต่ก็ได้พัฒนาเว็บ airbnb.org เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อย่างเร่งด่วน

11. “โฮมออฟฟิศ” เป็นอีกคำหนึ่งที่เริ่มเห็นชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อนโยบาย Work From Home ถูกปรับใช้อย่างแพร่หลายในทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายและทำให้เราต้องกลับมาทบทวนถึงบทบาทของพื้นที่ส่วนรวมหรือ Shared environments เช่น มหาวิทยาลัย co-working space และพื้นที่อาคารสำนักงาน ในยุคหลังผ่านพ้นโควิด-19 ไป

แม้ในปีที่ผ่านมา จะเกิดวิกฤตการณ์แห่งศตวรรษอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกัน โลกไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่กลับก้าวเร็วขึ้นกว่าเดิมในอัตราเร่ง  แม้ร่างกายจะอยู่ห่างกัน แต่ความเป็นจริง เราสื่อสารกันมากขึ้น อยู่ใกล้กันกว่าที่เคย โดยที่เราไม่รู้ตัว จะเห็นได้ว่า 11 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว สะท้อนว่าโลกกำลังเดินทางก้าวหน้าสู่อีกระดับอย่างรวดเร็ว โดย 3 องค์ประกอบเป็นตัวขับเคลื่อนได้แก่ ข้อมูล เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญในวิกฤตย่อมมีโอกาส เพียงแค่เราหาตลาดและ pain point ของผู้บริโภคให้เจอ และพร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่น่านน้ำนั้น สร้าง “ประสบการณ์” ชั้นยอดแก่ผู้บริโภค

ส่วนตัวเชื่อเหลือเกินค่ะว่า ปี 2021 จะเป็นอีกปีที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เดี๋ยวเรามาต่อกันตอนหน้าค่ะว่า อีก 10 เหตุผลที่เหลือเป็นอะไรบ้าง และเราจะอยู่อย่างมีความหวังได้อย่างไรค่ะ

สามารถฟัง Podcast ฉบับเต็มได้ที่ https://www.posttoday.com/podcast/hawk-eye-view/645230