posttoday

เปิดตลาดเช่า ลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์

07 กันยายน 2561

ตลาดการขายหรือการเช่าลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดย..ดิจิทัลทิป

อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ หรือการออกแบบตัวการ์ตูนของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดการขายหรือการเช่าลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ (Character Licensing) ในประเทศมีการขยายตัว สร้างมูลค่าทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 พบว่า ตลาดการเช่าลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ไทย มีมูลค่าสูงกว่า 1,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 สูงถึงร้อยละ 7.2 และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 9.5 และ 8.1 ในปี 2560 และปี 2561 ตามลำดับ

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านคาแรกเตอร์ไทย ภายใต้กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายดิจิทัล คอนเทนต์ เป็นการในโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการออกแบบคาแรกเตอร์เพื่อสินค้าลิขสิทธิ์ (Character Licensing Workshop) ที่จะช่วยให้นักออกแบบได้มีการสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนไทยให้มีเสน่ห์น่าจดจำมากขึ้น และมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อย่าง โรเจอร์ เบอร์แมน (Mr.Roger Berman) ประธานบริษัท เซ้นเวิร์ค จากประเทศญี่ปุ่นมาให้ความรู้ทางด้าน Licensing กับผู้ประกอบการส่งเสริมนักพัฒนาคาแรกเตอร์ไทยทั้งเก่าและใหม่ ได้จัดกิจกรรมการประกวดออกแบบ Chracter Licensing ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผลงานตัวการ์ตูนไทยจากนักพัฒนาคาแรกเตอร์จะเข้าร่วมแสดงงาน SME One Fest 2018 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย. 2561 ณ ศูนย์การประชุมเเห่งชาติสิริกิติ์

กลุ่มเครือข่ายดิจิทัล คอนเทนต์ เป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านคาแรกเตอร์ แอนิเมชั่น และกลุ่ม CG Service สนับสนุน โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อช่วยเสริมสร้าง EcoSystem ของการสร้างสรรค์ผลงานด้านดิจิทัล คอนเทนต์ อย่างครบวงจรมากที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการทั้งสามกลุ่มของเครือข่ายดิจิทัล คอนเทนต์ จะมาร่วมงาน SME One Fest 2018 พื้นที่ที่ทำให้ผู้ประกอบได้พบกับคู่ค้า ขายสินค้าผ่านการจัดแสดงสินค้า อาทิ Bloody Bunny ติดลม ShewSheep Warbie Yama และตัวการ์ตูนอีกมากมาย

ภายในงานยังสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ของนักออกแบบคาแรกเตอร์ ที่จะได้พบกับผู้ประกอบการสินค้า ทำให้การออกแบบสินค้าตรงตามความต้องการของค้าและผู้บริโภคมากขึ้น เป็นการต่อยอดคาแรกเตอร์ไทยอย่างเข้มแข็ง พร้อมผลักดันสู่ตลาดโลก