posttoday

ซีพีเทียบไฮสปีดเทรน ฝรั่งเศส VS อิตาลี

11 กันยายน 2561

ไฮสปีดเทรน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ถือเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไทยให้โชติช่วงชัชวาลอีกครั้ง

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. ซึ่งจะเปิดยื่นประมูลปลายปีนี้เพื่อก่อสร้างกลางปี 2562 และเปิดให้บริการกลางปี 2567 ถือเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไทยให้โชติช่วงชัชวาลอีกครั้ง ดึงการลงทุนใหญ่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงช่วยเรียกความเชื่อมั่น

อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข หัวหน้าทีมประสานโครงการรถไฟความเร็วสูง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หนึ่งในบริษัทซื้อซองประมูล เปิดเผยว่า ซีพีได้เร่งศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงในอิตาลี ฝรั่งเศส เพราะการบริหารจัดการจะอยู่รอด ปัจจัยสำคัญต้องสร้างรายได้มากกว่าแค่การขายตั๋ว แต่ต้องสามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ขณะที่การออกแบบและก่อสร้างต้องหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศร่วมกัน

ในส่วนของการบริหารจัดการ แอร์พอร์ตเรลลิงค์ สุวรรณภูมิ-มักกะสัน เมื่อผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูง ต้องมีการปรับพิจารณาปรับปรุง เพื่อให้แอร์พอร์ตเรลลิงค์มีความ เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภา รวมถึงสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ นอกจากนี้ต้องมีจุดเซ็นเตอร์ศูนย์ซ่อมบำรุงและรักษาเครื่องยนต์ด้วย รวมถึงพฤติกรรมของคนไทยระหว่างการเดินทางด้วยเครื่องบินกับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องสร้างการรับรู้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงแตกต่างกันอย่างไร

สำหรับเส้นทางการศึกษารถไฟความเร็วสูงระหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี ระบบความเร็วของทั้งสองประเทศไม่แตกต่างกันมาก สามารถวิ่งได้เร็วสูงสุด 320-390 กิโลเมตร/ชั่วโมง การแบ่งระหว่างชั้นขบวนโดยสาร มีตั้งแต่ระดับธรรมดาจนถึงบิซิเนสคลาส มีบริการอาหารและขนมระหว่างทาง ระดับค่าโดยสารเริ่มตั้งแต่ 100-150 ยูโร ใช้เวลาเดินทางข้ามเมือง 45 นาที รวมถึงดูกลยุทธ์บริหารพื้นที่ค้าปลีกเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

ด้าน แอคแนส โรมาเธ-เอสปาญรองประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส หรือแอสแอนเซแอ็ฟ (SNCF) กล่าวว่า ระบบบริหารจัดการรถไฟในฝรั่งเศส มีการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟความเร็วสูงกับรถรางของบริษัท ทรานส์เดฟ ที่เชื่อมต่อแต่ละแคว้นของฝรั่งเศส ซึ่งโครงการรถรางมีทั้งระบบใช้ไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษทางอากาศ โดยเป็นการร่วมทุนบริษัทกับพันธมิตรในบางเส้นทาง และเน้นความปลอดภัยถึง 4 ระดับ

ขณะที่ นีโน่ ชิงโกลานี่ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านการสร้างระบบรถไฟระหว่างประเทศ เครือการรถไฟแห่งชาติ เอฟเอส อินเตอร์เนชั่นแนล-อิตาเลี่ยน กล่าวว่า จุดแข็งของเอฟเอสคือการบริหารจัดการรถไฟ ที่รวมถึงระบบเครือข่ายถนน รถบัส และการจัดการที่มีไอที แพลตฟอร์ม และใช้ระบบจัดการข้อมูลเอไอ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ควบคุมการบริหารจัดการรถไฟ เพื่อตรวจสอบดูถึงปัญหาซึ่งอิตาลีไม่เคยประสบอุบัติเหตุ

นอกจากนั้น สัปดาห์นี้ซีพีเตรียมตัวสำรวจเส้นทางในประเทศไทย เพื่อศึกษาความหนาแน่นประชากร และต้องใช้รถไฟจำนวนเท่าใด จุดเริ่มต้นรถไฟความเร็วสูงไทยควรอยู่ที่ราว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นรถไฟชั้นเดียว ซึ่งการศึกษาระบบรถไฟทั้งอิตาลีและฝรั่งเศสต้องนำมาผสมให้ได้ดีที่สุด