posttoday

ส่องทางรอด "ทีวีดิจิทัล" ลดค่าใช้จ่าย-ขยายสู่แพลตฟอร์มหลากหลาย

26 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างหนัก บางส่วนปรับลดค่าใช้จ่ายและแนวทางธุรกิจ ขยายเข้าสู่ทีวีออนไลน์

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างหนัก บางส่วนปรับลดค่าใช้จ่ายและแนวทางธุรกิจ ขยายเข้าสู่ทีวีออนไลน์

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างหนัก โดยมีช่องที่ได้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและได้กลุ่มทุนใหม่เข้ามาแล้ว ได้แก่ กลุ่มเนชั่นมัลติมีเดีย ช่องวัน (ONE 31) ในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ อมรินทร์ทีวี และผู้ประกอบการบางส่วนได้ปรับลดค่าใช้จ่ายและแนวทางธุรกิจ ขยายเข้าสู่ทีวีออนไลน์เป็นช่องทางใหม่ในการนำเสนอ

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้ประกอบการช่องไหนที่ทำการตลาดแบบซิงเกิ้ลมีเดียอาจอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนหนึ่งมีการย้ายแพลตฟอร์มการรับชมไปยังช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรสร้างแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด

รายงานข่าวจาก บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ ผู้ดำเนินธุรกิจช่องนิวส์ทีวี ระบุว่า กรณีที่ช่องนิวส์ทีวีมีการปลดพนักงานจำนวน 37 คน ทำให้ตอนนี้เหลือพนักงาน 40 คนนั้น ทางบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ ได้มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานกลุ่มดังกล่าว โดยในส่วนของพนักงานที่มีอายุงานไม่ถึง 1 ปี จะได้เงินชดเชย 1 เดือน ส่วนพนักงานที่อายุเกิน 1 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และพนักงานที่มีอายุเกิน 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 6 เดือน

สำหรับผังรายการใหม่ที่จะออกอากาศนับจากนี้ได้มีการปรับผังใหม่ ด้วยการเน้นรายการสารคดีเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็จะมีการปรับลดระยะเวลาลงจากเดิมทั้งวัน เหลือเพียงช่วงเวลาหลัก คือ เที่ยงและเย็นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ในด้านของเนื้อหายังคงเน้นรายการข่าวที่หลากหลาย ทั้งบันเทิง อาชญากรรม กีฬา เศรษฐกิจ

นวมินทร์ ประสพเนตร ผู้ช่วยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท โมโน เทคโนโลยี (MONO) เปิดเผยว่า บริษัทใช้เวลา 2 ปี ในการพลิกกลับมามีกำไร สำหรับปี 2561 นี้ คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจทีวีดิจิทัล 2,500-2,600 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้ 1,640.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 51.17%

ทั้งนี้ โมโน แจ้งว่า ปี 2560 มีรายได้รวม 2,575.71 ล้านบาท มีกําไรสุทธิ 58.17 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 ขาดทุนสุทธิ 249.55 ล้านบาท การเติบโตของรายได้รวมมาจากรายได้ของธุรกิจทีวีดิจิทัลช่อง MONO29 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนมาจากเรตติ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเดือน ธ.ค. 2560 มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.803 เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2559 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.690 และปัจจุบันช่อง MONO29 มีเรตติ้งเฉลี่ยเป็นลําดับที่ 3 จากจํานวนช่องฟรีทีวีทั้งหมด (ข้อมูลจากเอจีบี นีลเส็น)

ดามพ์ นานา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส (RS) แจ้งว่า เดือน ธ.ค. 2560 สถานีโทรทัศน์ “ช่อง 8” ประสบความสําเร็จอย่างงดงามด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.65

สำหรับแผนปี 2561 จะได้เห็นทั้งรายการข่าว ซีรี่ส์ต่างประเทศที่ต่อจากซีรี่ส์ “หนุมาน สงครามมหาเทพ” ซึ่งประสบความสําเร็จอย่างมาก บริษัทคาดว่าซีรี่ส์ใหม่นี้จะได้รับการตอบรับที่ดีกว่าเดิม รวมถึงวาไรตี้รูปแบบใหม่ที่เข้มข้นขึ้นเข้ามาสนับสนุนเรตติ้งให้เพิ่มขึ้น และเป็นไปตามเป้าหมายการปรับค่าโฆษณาในปี 2561

ในปี 2560 อาร์เอสมีรายได้จากธุรกิจสื่อโทรทัศน์และสื่อวิทยุ รวม 1,703.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5% แม้ว่ารายได้จากช่อง 8 จะเพิ่มขึ้น แต่ถูกหักกลบด้วยการลดลงของรายได้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและวิทยุตามการลดลงของอุตสาหกรรมโดยรวม

บริษัท บีอีซี เวิลด์ (BEC) แจ้งว่า ปี 2560 มีรายได้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท  ลดลง  10% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 61.01 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 95% ด้านรายได้จากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่มบีอีซีในปี 2560 อยู่ที่ 9,890.2 ล้านบาท ลดลง 11.3% จากปีก่อน ทั้งนี้เป็นไปตามเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมของตลาดที่หดตัว 6% ในปี 2560