posttoday

เสน่ห์อยู่ที่ความท้าทาย

01 มกราคม 2560

ความไม่แน่นอนในบางอาชีพ อาจจะทำให้คนที่ทำอาชีพนั้นรู้สึกไม่สนุก หรือไม่มั่นคงกับงานที่ทำอยู่ แต่สำหรับอาชีพ “วิศวปิโตรเลียม”

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ความไม่แน่นอนในบางอาชีพ อาจจะทำให้คนที่ทำอาชีพนั้นรู้สึกไม่สนุก หรือไม่มั่นคงกับงานที่ทำอยู่ แต่สำหรับอาชีพ “วิศวปิโตรเลียม” ความไม่แน่นอนนั้น คือ “ความท้าทาย” ที่กลายเป็น “เสน่ห์” เช่นเดียวกับที่ ป๊อก-เดชชัย อิฐรัตน์ นักธรณีฟิสิกส์ ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) หนุ่มวัย 26 ปี ที่ตกหลุมรักอาชีพนี้เข้าอย่างจัง

ป๊อก เดชชัย บอกกับเราว่า เพราะความไม่แน่นอน การที่ไม่รู้เลยว่าข้างล่างใต้พื้นดินที่กำลังสำรวจอยู่นั้น จะมีอะไรอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับการแปรผลของข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้เป็นความท้าทายที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และสิ่งนี่เองที่เป็นเสน่ห์ของการสำรวจปิโตรเลียมที่ยิ่งได้ทำ ยิ่งได้สัมผัสก็ยิ่งชอบ

ย้อนความกลับไปยังจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ เกิดจากการที่มีรุ่นพี่พาไปดูนิทรรศการการสำรวจปิโตรเลียมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ได้เห็นถึงเทคโนโลยีในการสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งได้เรียนรู้ว่าขั้นตอนการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ประกอบกับพื้นฐานที่เป็นเด็กชอบการสำรวจและแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่แล้ว จึงทำให้รู้สึกถูกจริตกับอาชีพนี้

หลังจากนั้น ป๊อก เดชชัย ก็เริ่มมุ่งเป้าเพื่อพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ชอบ ด้วยการพยายามหาทุนเพื่อไปเรียนเกี่ยวกับด้านนี้ แม้ว่าพ่อแม่จะอยากให้ป๊อกเป็นหมอมากกว่า จนเจอทุนของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เมื่อ 6 ปีก่อน ที่ให้ทุนไปเรียนต่อด้านปิโตรเลียมที่สหรัฐ โดยป๊อกต้องแข่งขันเพื่อชิงตั๋วใบนั้นจากผู้สมัครขอรับทุนในตอนนั้นที่มีมากกว่า 1,000 คน

ถือว่าเป็นโชคดีของป๊อกที่มีพื้นฐานความรู้ในการเรียนวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของธรณีศาสตร์มาเป็นอย่างดี แต่พอได้เข้าไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้านธรณีฟิสิกส์ ก็รู้สึกว่ามันยากกว่าที่คิดไว้กว่าตอนแรกมาก เพราะเป็นหลักสูตรใหม่ที่ในประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน ประกอบกับการแข่งขันในต่างประเทศมีสูง จึงทำให้ป๊อกต้องใช้เวลาในการปรับตัวทั้งเรื่องของภาษาและการใช้ชีวิตในต่างแดนพอสมควร

ในช่วงนั้นเอง ป๊อกได้ไปดูงานประชุมวิชาการด้านธรณีฟิสิกส์ใหญ่ๆ อยู่บ่อยครั้ง เพื่อไปฟังและดูเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันและปิโตรเลียมจากบริษัทชั้นนำนานาชาติ รวมทั้งมีโอกาสได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารของ ปตท.สผ.ในขณะนั้น โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นผู้บริหารใหญ่

ด้านประวัติการศึกษาของป๊อกเองก็ไม่ใช่ย่อย เพราะสามารถเรียนจบทั้งปริญญาตรีและโทในสายวิทยาศาสตร์ เอกธรณีฟิสิกส์ ภายในระยะเวลารวมกันเพียง 4 ปีเท่านั้น!!! และยังได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนวิศวกรรมดีเด่นของมหาวิทยาลัยโคโลราโด และเป็นผู้ช่วยนักวิจัยของ ศ.พอล ซาวา และยังได้รางวัลเหรียญทองของธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด อีกทั้งยังเป็นนักศึกษาไทยคนแรกๆ ที่มีโอกาสได้เข้าไปฝึกงานกับบริษัทด้านการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมระดับโลกอย่างโคโนโค่ฟิลิปส์และสแตตออยล์

เสน่ห์อยู่ที่ความท้าทาย

 

หลังจากเรียนจบ ทำให้หนุ่มป๊อกได้รับการทาบทามจากบริษัทปิโตรเลียมชั้นนำให้ไปร่วมทำงานด้วยอยู่หลายแห่ง แต่หนุ่มป๊อกกลับตัดสินใจที่จะเลือกกลับมาทำงานในประเทศไทยแทน โดยหวังว่าจะนำเอาความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตัวเองมีโอกาสได้เรียนรู้กลับมาบูรณาการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเกิดตัวเองดีกว่า เหตุนี้เองจึงเลือกที่จะไปสมัครงานที่ ปตท.สผ. เพราะถือเป็นการตอบแทนจุดกำเนิดที่ทำให้มีโอกาสในทุกวันนี้

ปัจจุบันป๊อกอายุเพียง 26 ปี แต่หากดูจากจุดสตาร์ทที่เริ่มต้นมาถึงขณะนี้ ถือว่าเป็นวิศวกรหนุ่มที่มีอนาคตไกลทีเดียว เพราะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำเสนอดีเด่นในปี 2558 และผู้นำเสนอยอดเยี่ยมในปีนี้ ในการประชุมทางวิชาการเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ (IPTC) รวมทั้งได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปผู้นำกลุ่มบุคลากรรุ่นใหม่เกี่ยวกับด้านเทคนิคและการบริหารจัดการด้านปิโตรเลียม ซึ่งมีตัวแทนนักธรณีฟิสิกส์บริษัทปิโตรเลียมชั้นนำจากทั่วโลกมาร่วมด้วย

“ผมเพิ่งเริ่มทำงานด้านนี้อย่างเต็มตัวมา 2 ปีกว่า เริ่มรู้สึกดีที่มีส่วนในการทำให้เพื่อนร่วมงานในทีมตื่นตัวกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ให้เทียบเท่ากับบริษัทชั้นนำของโลก อย่างการสร้างภาพจำลองจากคลื่นเสียง (ไซมิส) ในการสำรวจชั้นหินใต้ดิน และมีความฝันที่จะอยากมีส่วนในการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งผลิตและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ อย่างแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน” ป๊อก บอกถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้มีโอกาสร่วมกับทีมไปสำรวจศักยภาพความเป็นไปได้ของแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่ในเมียนมา คือ แหล่ง M11 และ MD7 ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมในทะเลน้ำลึก 3 กิโลเมตร ในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ ปตท.สผ.ทำการศึกษาแหล่งปิโตรเลียมในทะเลน้ำลึกขนาดนี้ เบื้องต้นเห็นว่าพอมีศักยภาพ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความคุ้มค่า เพราะการสำรวจขุดเจาะในทะเลน้ำลึกขนาดนี้มีความเสี่ยงและมีต้นทุนในการขุดเจาะสำรวจจะสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/หลุม ซึ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันถูกเช่นนี้อาจทำให้ไม่คุ้มค่าการลงทุนได้

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีด้านการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมที่ได้แลกเปลี่ยนกันในงานประชุมวิชาการเทคโนโลยีปิโตรเลียมครั้งนี้ ทำให้เห็นเลยว่าเทคโนโลยีใหม่จะอยู่ที่การสำรวจ เพราะถ้าสามารถหาตำแหน่ง (โลเกชั่น) ได้ชัดและถูกต้อง ก็จะลดความเสี่ยงและต้นทุนลง ขณะที่การขุดเจาะก็จะมีเทคโนโลยีหัวเจาะที่สามารถเจาะผ่านชั้นหินที่มีความแข็งได้มากขึ้น และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recover Oil) ซึ่งทุกคนยังเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันจะกลับมา เพราะพลังงานยังมีส่วนสำคัญที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ