posttoday

อนาคตกรุงเทพฯจมบาดาล? โลกร้อนเพิ่มระดับน้ำทะเล

15 กุมภาพันธ์ 2560

กรณีร้ายแรงที่สุดคือ นานาชาติไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกก็จะเดินสู่จุดที่ภาวะน้ำแข็งละลายหมด

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

หมายเหตุ: สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา จัดเสวนาเรื่อง “ระดับน้ำทะเลสูง ประเทศไทยบางส่วนจะจมอยู่ใต้บาดาลตั้งแต่ปี 2563 จริงหรือไม่”

“ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน  ทำให้น้ำแข็งในขั่วโลกละลาย ส่งผลให้น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ดังนั้นทั่วโลกต้องปรับตัวรับมือ เพราะคาดการณ์ว่าในปี2563 เมื่อระดับน้ำสูงมากขึ้นประเมินกันว่า กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล จมอยู่ใต้บาดาล”

คำกล่าวของ วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ขยายความเรื่องปัญหาโลกร้อนกระทั่งทำให้น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้นว่า  จากการศึกษาทำให้สามารถทำนายได้ว่าระดับน้ำทะเลของโลกจะสูงขึ้น 2.3 เมตร ต่อการเพิ่มอุณหภูมิโลกเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส แม้นานาชาติจะประชุมหารือแล้วตกลงกันว่าจะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซเซียส ภายในศตวรรษนี้ เพราะการที่อุณหภูมิโลกขึ้นสูง 2 องศาเซลเซียส จะทำให้น้ำทะเลเพิ่มจึ้นถึง 5 เมตร ส่งผลกระทบต่อประเทศโซนยุโรป เอาเซีย โดยเฉพาะประเทศ บังกลาเทศ ไทย เวียดนาม เป็นต้น

“กรณีร้ายแรงที่สุดคือ นานาชาติไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกก็จะเดินสู่จุดที่ภาวะน้ำแข็งละลายหมดทั้งโลก ทำให้หลายประเทศที่อยู่ริมฝั่งทะเลจมน้ำหายไป ทั้งมลรัฐตามชายฝั่งของสหรัฐฯ ประเทศด้านเหนือของยุโรป ประเทศบังกลาเทศจะจมหายไปทั้งหมด รวมถึงส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย จีน เอเซียอาคเนย์ จะจมอยู่ใต้บาดาล สำหรับประเทศไทย ถ้าน้ำทะเลสูงถึง 60 เมตร ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะจมน้ำทะเล ขึ้นไปถึงจ.พิษณุโลก” วรศักดิ์ กล่าว

ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา และอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรุงเทพฯจะจมอยู่ใต้บาดาลหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย แบ่งเเป็นสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดปริมาณน้ำฝน รวมถึงปัญหาดินทรุด ส่วนอีกปัจจัยคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อน้ำแข็งที่ขั่วโลก

เริ่มที่ปัจจัยแรกยืนยันจากข้อมูลของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) พบว่าปริมาณฝนตก ในเขตกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5% ระดับน้ำทะเลสถานีหลัก บริเวณปากแม่น้ำทั้ง 4 คือ แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง มีแนวโน้มสูงขี้นโดยเฉลี่ย 1.3 เซนติเมตร/ปี

ขณะที่กรุงเทพฯมีการทรุดตัวประมาณ 1 เซนติเมตร/ปี ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น  3 มิลลิเมตรทุกปี ปัจจัยหลักทั้งหมดนี้ทำให้เชื่อได้ว่าประมาณปี 2563 ชาวกรุงเทพฯ ต้องรับมือกับภาวะ น้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนบนมีความเสี่ยงสูงมาก ถึงขนาดเกรงกันว่าวันหนึ่งน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ จนจมอยู่ใต้บาดาล

ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยถัดมาพบว่ารายงานฉบับล่าสุดของ ไอพีซีซี ฉบับปี ค.ศ. 2013 พบว่าข้อมูลใหม่ที่ได้มีการปรับแก้ การละลายของก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ทั้งที่ กรีนแลนด์ และแอนตากติก้า ที่ละลายเร็วกว่าปกติหลายเท่าตัวนั้นแบบจำลองระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นในอนาคตอาจจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับตั้งแต่ 44-74 เซนติเมตรในระยะเวลาอีก 80 ปีในอนาคต (คศ.2100) โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของ ระดับน้ำทะเลทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.2 มิลิเมตร/ปีเท่านั้นดังนั้น ความเป็นไปได้ที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล บางส่วน จะจมอยู่ใต้บาดาล ในปี 2563 จึงเป็นไปได้ยากมาก

ทั้งนี้ จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลย้อยไปในอดีตช่วงยุคน้ำแข็ง ครั้งหลังสุดเมื่อ  1.5 หมื่นปีที่แล้วพบว่า ระดับน้ำทะเลในขณะนั้นมีระดับต่ำกว่าระดับปัจจุบัน ประมาณ 130 เมตร ดังนั้นพื้นที่ทะเลในอ่าวไทยปัจจุปันทั้งหมดเคยเป็นแผ่นดินและชายฝั่งทะเลอยู่ในบริเวณทะเลจีนใต้ โดยเมื่อประมาณ 1.2 หมื่นปีที่แล้วมีการเพิ่มขี้นของระดับ น้ำทะเลในอัตรา 26-38 มิลิเมตร/ปี ทำให้น้ำทะเลท่วมแผ่นดินขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงที่สุด (โฮโลซีนออฟติมัล) เมื่อ 6,000 ปีที่แล้วคือ น้ำทะเลท่วมไปถึง จ.พระนครศรี อยุธยาและอ่างทอง โดยกรุงเทพมหานครในขณะนั้นกลายเป็นทะเลทั้งหมด

จากนั้นอัตราการขึ้นของระดับน้ำทะเลก็ลดลงเหลือ 5.6 มิลลิเมตร/ปี และลดลงตามลำดับ จนเมื่อ 150 ปีที่แล้วเหลือ 1.2 – 1.8 มิลลิเมตร/ปี ทำให้ชายฝั่งมีการงอกเพิ่มขึ้น กว่า 60 เมตร/ปี ต่อมาเริ่มพบปัญหาการกัดเซาะหลังจากมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2510 ซึ่งอัตราการขึ้น ของระดับน้ำทะเลปัจจุบันอยู่ที่ 4.1 มิลลิเมตร/ปี

จากการติดตามและตรวจวัดระดับน้ำทะเลที่สถานีตรวจวัดน้ำขึ้นน้ำลงบริเวณ อ่าวไทย ตอนบน ตั้งแต่แม่น้ำบางปะกงถึงปากแม่น้ำเพชรบุรี ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร พบว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมา อ่าวไทยตอนบน มีอัตราการขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์อยู่ที่ประมาณ 4 - 42 มิลลิเมตร/ปี จุดที่สูงที่สุดคือสถานีปากแม่น้ำท่าจีนเฉลี่ย 42 มิลลิเมตร/ปี ส่วนสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า 20.5 มิลลิเมตร/ปี สถานีปากแม่น้ำเจ้าพระยา 15 มิลลิเมตร/ปี สถานีปากแม่น้ำบางปะกง 4 มิลลิเมตร/ปี และสถานีปากแม่น้ำแม่กลอง 18 มิลลิเมตร/ปี

นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับนักวิชาการ เนื่องจากไอพีซีซี รายงานครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 ว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูง ขึ้นประมาณ 3.2 มิลลิเมตร/ปี อัตราการขึ้นของระดับน้ำทะเล สัมพัทธ์ที่สูงมากส่วนหนึ่งมาจากปัญหา การทรุดของแผ่นดินของบริเวณนี้ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ในบริเวณดังกล่าวประมาณ 30 เมตร/ปี ใน 30 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์สูงขึ้นถึง 2 เมตร ทำให้พื้นที่ชายฝั่งจึงหาย ไปแล้วถึง  1 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ และการกัดเซาะไม่ได้เกิดขึ้น เฉพาะชายฝั่งเท่านั้น แต่ยังกัดเซาะลึกลงไปในพื้นที่ท้องทะเลอีกด้วย

ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อนาคตของกรุงเทพฯ และแถบปริมณฑลจะจมทะเล กลายเป็นเมืองบาดาลหรือไม่ ในวันข้างหน้านั้น คงต้องช่วยกันคิดและวางแผนในระยะยาวในการแก้ไขปัญหา และหาวิธีป้องกันต้องควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์นิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวกลัวเรื่องปัญหาภัยแห้งแล้งยาวนานมากที่สุด เนื่องจากภาวะแห้งแล้งทำให้มนุษย์ตั้งตัวไม่ถูกไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะทำอะไรไม่ได้มาก ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลต้องออกนโยบายเพื่อเตรียมการรับมือให้พร้อม เพราะปัญหาภัยแล้วก่อให้เกิดการแย่งน้ำ ดังจะเห็นจากข่าวชาวบ้านในภาคตะวันออกทะเลาะแย่งน้ำทุกปี ซึ่งรัฐบาลให้ความรู้กับประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือเท่าที่จะทำได้ อย่าหวังแต่พึ่งภาครัฐเพียงอย่างเดียว