posttoday

ผู้ค้ายื่นข้อเสนอกทม. ขอขายบนทางเท้าแต่จัดระบบให้ดีขึ้น

17 กรกฎาคม 2560

ผู้ค้ายื่นข้อเสนอ กทม. ขอขายของบนทางเท้าในจุดเดิมแต่จัดระบบให้ดีขึ้น ชี้พื้นที่ใหม่ที่จัดทดแทนไม่เหมาะทำการค้า

ผู้ค้ายื่นข้อเสนอ กทม. ขอขายของบนทางเท้าในจุดเดิมแต่จัดระบบให้ดีขึ้น ชี้พื้นที่ใหม่ที่จัดทดแทนไม่เหมาะทำการค้า

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานการประชุมบริหารจัดการผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารกทม. และตัวแทนกลุ่มผู้ค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับการจัดระเบียบ ยกเลิกแผงลอยไปแล้วเข้าร่วมการประชุม ขณะที่ภายนอกห้องประชุมมีผู้ค้ารวมตัวกันมารอรับฟังผลประชุมและมอบดอกกุหลาบให้พล.ต.อ .อัศวิน จำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม กทม.ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มตัวแทนผู้ค้าได้เสนอความคิดเห็นในการแก้ปัญหาการจัดระเบียบทางเท้า โดยผู้ค้าส่วนใหญ่ต่างมีข้อเสนอขอกลับมาขายในจุดเดิมที่กทม.ได้ยกเลิกการค้าไป เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการยกเลิกแผงค้าบนทางเท้า ไม่มีพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ใหม่อื่นๆที่กทม.ได้จัดหาให้ผู้ค้าทดแทนนั้นก็ไม่เหมาะสมในการทำการค้า

นายสมบูรณ์ บานเย็น ตัวแทนผู้ค้าเขตราษฎร์บูรณะ กล่าวว่า กลุ่มผู้ค้าของเขตราษฎร์บูรณะอยู่ในพื้นที่เขตรอบนอก ซึ่งไม่มีปัญหาในด้านการจราจรในพื้นที่ อีกทั้งทางเท้าในพื้นที่ดังกล่าว ก็เป็นทางเท้าขนาดใหญ่ กว้างกว่า 5.50เมตร หากแบ่งบางส่วนเพื่อตั้งวางแผงค้า ก็จะไม่กระทบกับการสัญจรของประชาชนมากนัก ดังนั้นจึงอยากขอโอกาสให้กลุ่มผู้ค้าได้ขายอาหารราคาถูกเพื่อคนยากจน

นางลักษมน กองศร ผู้ค้าหน้าตลาดบางขุนศรี กล่าวว่า หน้าตลาดบางขุนศรี ผู้ค้าส่วนใหญ่ขายอาหารและผลไม้ ซึ่งเมื่อกทม.ยกเลิกแผงค้าไป ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบ ไม่มีพื้นที่ทำการค้า ซึ่งหากต้องเข้าไปเช่าพื้นที่ตลาดเพื่อทำการค้า ก็จะต้องจ่ายค่าเช่าแผงวันละกว่า 700บาท ซึ่งผู้ค้าที่เป็นคนยากจนก็ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ จึงอยากให้กทม.อนุญาตให้ขายบนทางเท้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่ค้าขาย

ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนกลุ่มผู้ค้า กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตี ได้มีท่าทีที่ผ่อนปรนกับผู้ค้า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และประชาชนไม่มีพื้นที่ทำกิน โดยกรุงเทพฯมีผู้ค้าหาบเร่ในจุดผ่อนผันกว่า 50,000ราย ดังนั้น หากกทม.อนุญาตให้มีการค้าบนทางเท้า และจัดเก็บภาษีปีละ 1,500บาท ก็จะช่วยให้กทม. มีงบประมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าปีละ 75ล้านบาท ซึ่งอยากให้กทม.พิจารณาในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งผู้ค้าก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การจัดระเบียบทางเท้า ผู้ค้าต้องเห็นใจกทม. ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนทั้งกรุงเทพฯ และมีความจำกัดด้านกฎหมาย ซึ่งนอกเหนือจากผู้ค้าแล้ว ประชาชนผู้ใช้ทางเท้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่กทม.ต้องดูแลให้เท่าเทียมกัน ดังนั้นกรุงเทพฯต้องมีเส่นห์แห่งความเป็นระเบียบ หากไม่เป็นระเบียบ เมืองก็จะไม่มีคุณภาพ อยากให้ประชาชนเข้าใจให้ตรงกัน

ด้านพล.ต.อ.อัศวิน กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากข้อเสนอของผู้ค้า กทม.จะนำไปพิจารณาหารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมมากที่สุด โดยจากนี้ตนจะออกคำสั่งให้สำนักงานเขตพื้นที่ตั้งคณะกรรมการโดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ประชาชนคนเดินเท้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กทม.ร่วมกันหาแนวทาง ที่ทำให้ผู้ค้าและผู้สัญจรสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเร่งการพิจารณาให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว แต่ ในระหว่างนี้พื้นที่ที่มีการจัดระเบียบยกเลิกการค้าไปแล้วก็ห้ามมีให้มีผู้ค้ากลับมาตั้งแผงค้าใดๆได้

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมโน รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า หลักการใช้สิทธิใดๆ ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นเช่นกัน ดังนั้นผู้ค้าต้องถามตัวเองว่า การหวังจะใช้สิทธิบนทางเท้านั้น จะละเมิดสิทธิผู้ใช้ทางเท้าอื่นๆหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาล ได้ออกคำสั่งให้กทม.และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันตั้งคณะทำงานในการดูแลผู้ค้า โดยกำหนดว่าจะมีการจัดหาสถานที่ให้ผู้ค้าเพื่อการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมีการจัดหาเงินทุนสนับสนุนผู้ประกอบการ ซึ่งคณะทำงานจะพิจารณาในจุดต่างๆ แต่ในที่มีการจัดระเบียบไปแล้ว และเป็นปัญหาประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ก็คงไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ค้ากลับมาตั้งแผงค้าบนทางเท้าได้อีก ซึ่งกทม.ก็ จะต้องดูแลระหว่างผู้ค้าผู้ใช้ทางเท้าปัญหาการจราจรทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความสมดุลมากที่สุด