posttoday

“เขาคลังใน” คลังสมบัติทางโบราณคดีสมัยทวารวดีที่ศรีเทพ

13 ตุลาคม 2566

เขาคลังใน ถือ เป็นคลังสมบัติทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะที่ล้ำค่า ในช่วงต้นของสมัยประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ ทวารวดี ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของความหลากหลายและแรงบันดาลใจทางวัฒนธรรมจากดินแดนภายนอกผสมผสานกับความเป็นท้องถิ่นของศรีเทพ

เชื่อว่าคนไทยหลายท่านคงจะตื่นเต้นและดีใจไม่ต่างกับผม ที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา และทำให้ศรีเทพกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันที่จะมาที่นี่ให้ได้สักครั้งหนึ่ง

เมื่อทุกท่านเดินทางมาถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  เมืองในทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะมีบริการรถรางนำชมหรือถ้าหากท่านใดชื่นชอบการปั่นจักรยานก็สามารถปั่นจักรยานรอบเมืองและใช้เวลาเดินชม ถ่ายรูป หลุมขุดค้นและตัวโบราณสถานได้อย่างเต็มที่ ครั้งนี้ผมเลือกปั่นจักรยานครับ

เมื่อเราปั่นจักรยานมาถึงพื้นที่กลางเมืองใน เราจะพบตัวโบราณสถานสำคัญ 3 แห่ง คือ เขาคลังใน ปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพ โดยครั้งนีเผมจะเน้นที่ตัวโบราณสถาน “เขาคลังใน” เพราะจุดนี้ถือเป็นหลักฐานการเริ่มต้นสังคมเมืองของศรีเทพในสมัยทวารวดี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ เมื่อประมาณพันสองร้อยปีที่แล้ว

 

โบราณสถานเขาคลังใน ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

 

จากการศึกษาโบราณสถานเขาคลังใน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2447 เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่เมืองศรีเทพและได้มีพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” กล่าวถึงตัวโบราณสถานกลางเมืองว่า

 

“ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถานและมีโคกดินปนศิลาแลงซึ่งแสดงว่าเคยเป็นโบราณสถาน”

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2521 กรมศิลปากรขุดแต่งเขาคลังใน โดยพบลักษณะงานสถาปัตยกรรม คือ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่วางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก กว้างประมาณ 44 เมตร ยาว 76 เมตร สูง20 เมตร จากการขุดแต่งทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกได้พบร่องรอยการก่อเรียงศิลาแลงเป็นแนวยาวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งอาจจะเป็นแนวขอบฐานชั้นนอกสุดหรือเป็นแนวขอบทางเดินของโบราณสถาน ถัดขึ้นไปเป็นลักษณะการก่อเรียงศิลาแลงตั้งสูงขึ้นไปจนถึงยอดและมีอิฐกระจาย นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุหลายชิ้น อาทิ เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น ชิ้นส่วนปูนปั้นลายกนกและลายก้นหอย ชิ้นส่วนมือเทวสตรีทำจากศิลาทรายสีเขียว ถ้วยตะคันดินเผา เศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ (ศรีทวารวดีถึงรัตนโกสินทร์,หน้า 43-44) จากนั้นกรมศิลปากรก็ได้มีการขุดค้น ขุดแต่ง รวมถึงการบูรณปฏิสังขรณ์เขาคลังในเรื่อยมา

 

ด้านหน้า โบราณสถานเขาคลังใน ด้านทิศตะวันออก

 

จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี กล่าวได้ว่า ที่ตั้งของ เขาคลังใน ตั้งอยู่กลางเมืองในที่มีลักษณะเป็นคูน้ำคันดินรูปทรงค่อนข้างกลมล้อมรอบอันเป็นลักษณะการสร้างเมืองแบบทวารวดีที่เป็นการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูก การที่เขาคลังในตั้งอยู่กลางเมืองอาจสะท้อนให้เรารับทราบเกี่ยวกับคติศูนย์กลางของจักรวาลซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแนวคิดการสร้างมหาธาตุประจำเมืองโดยเฉพาะบ้านเมืองที่มีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

 

คูน้ำคันดินในเมืองศรีเทพ

 

ตัวโบราณสถานมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกคล้ายคลึงกับแผนผังของโบราณสถานหมายเลข 18 วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี  มีทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออก ตรงฐานทำเป็นลักษณะของฐานเขียง ชั้นเขียงและประดับเส้นลูกแก้วขนาดใหญ่ที่เราเรียกว่า “ฐานบัววลัย”

 

ฐานบัววลัย ทางด้านหน้า โบราณสถานเขาคลังใน

 

ถัดขึ้นมา เป็นประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบกประดับอยู่ตามห้องต่างๆ โดยประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบกที่ศรีเทพนั้นมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบกในวัฒนธรรมทวารวดีที่อื่น คือ ศีรษะของคนแคระนั้นมีลักษณะศีรษะของสัตว์มงคลผสมอยู่ เช่น ช้าง สิงห์ ลิง สีหน้าท่าทางมีอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกหนัก หรือ ยิ้ม หรือ แสดงท่าทางเหาะ มีการประดับเครื่องประดับต่างๆ เช่น ต่างหูขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของวัฒนธรรมทวารวดีผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดคงเป็นจินตนาการของช่างที่ศรีเทพที่ต้องการใส่ความเป็นเอกลักษณ์ งานช่างศิลปะ เชื่อท้องถิ่น และอารมณ์ของศิลปินลงไป

คนแคระนั้นมีความหมายเชิงบวกทั้งผู้ที่ปกปักรักษาตัวศาสนสถาน ความอุดมสมบูรณ์ (จากลักษณะร่างกายของคนแคระ คือ ลักษณะพุงพลุ้ย)  ร่ำรวยเงินทอง พบในศิลปะอินเดียมาตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณจนถึงสมัยคุปตะ ในศรีลังกา ศิลปะสมัยอนุราชปุระ มีการทำประติมากรรมคนแคระเป็นทวารบาลตั้งอยู่ด้านหน้าซ้ายขวาของประตูทางเข้า คือ ปัทมนิธิและสังขนิธิ เฉกเช่นเดียวกับหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์หรือปุรณฆฏะ

 

ซ้าย ประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบก ขวา ประติมากรรมคนแคระแบกศีรษะเป็นลิง

 

นอกจากนี้ยังมีงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาที่สวยงาม อาทิ ลายกระหนกผักกูด ลายดอกกลมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ และลวดลายเหล่านี้ยังปรากฏบนงานศิลปวัตถุหลายชิ้น เช่น ธรรมจักร อายุพุทธศตวรรษที่ 12-13  จัดแสดงอยู่ด้านหน้าเขาคลังใน โดยธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแผ่และยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา

 

ซ้าย ธรรมจักร ศิลปะทวารวดี อายุพุทธศตวรรษที่12-13 ขวา ลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายลูกประคำ

 

นอกจากนี้ยังมี ลายก้านขดมัดเป็นช่อๆ ซึ่งไปคล้ายคลึงกับศิลปะที่ปราสาทบันทายสรี กัมพูชา ราวพุทธศตวรรษที่15-16 สำหรับตรงกลางและส่วนยอดของเขาคลังในพังทลายลงมาไม่สามารถศึกษารูปแบบของตัวเจดีย์ด้านบนได้ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงหม้อน้ำหรือทรงปราสาท ก็เป็นได้

 

ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของเขาคลังใน เมืองศรีเทพ ที่ทุกท่านสามารถไปเห็นได้ด้วยตาตัวเองและจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ สวยงามของโบราณสถานแห่งนี้จากข้อมูลทางโบราณคดีที่ทำให้ทุกท่านเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งศาสนา ศิลปะ แนวคิดจากศิลปะอินเดีย ทวารวดี เขมร รวมถึงคนศรีเทพเองก็มีรูปแบบแนวคิด ความเชื่อ รวมถึงงานศิลปะที่เป็นของตัวเองและนี่คือความลงตัวและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีที่ศรีเทพที่ไม่เหมือนใคร  มาศรีเทพ มาดูเขาคลังในกันนะครับ

 

 


ผู้เขียน: วีรพงษ์ คำด้วง

นักเขียน / มัคคุเทศก์ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ / อาจารย์พิเศษทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์