posttoday

เป็นไปได้แค่ไหน? เลิกเซนเซอร์ เลิกห้ามฉาย เพื่อสนับสนุน Soft Power หนังไทย

15 กันยายน 2566

ประกาศนโยบายล่าสุดกับการส่งเสริม Soft Power ไทยแบบสุดๆ ของนายกรัฐมนตรีฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมวงการภาพยนตร์ไทยสู่สายตาชาวโลกให้มากขึ้น และลึกลงไปอีกคือการยกเลิกกฎหมายเซนเซอร์ โดยห้ามไม่ให้มีคำว่า ‘ห้ามฉาย’

ไม่รู้ว่าการประกาศนี้จะย้อนหลังไปถึงภาพยนตร์หลายเรื่องที่เคยโดนหรือไม่ แต่ข้อสงสัยหนึ่งคือ ‘เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน’ ในทางปฏิบัติ  ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องต้องถูกตอกหมุดห้ามฉาย บางเรื่องต้องเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากที่เคยตั้งใจเพื่อประคองให้ได้ฉายในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะความพยายามดิ้นรนหลุดจากเรต ฉ.20 เพื่อให้เนื้อหาขยายสู่วงกว้าง มีคนซื้อบัตรเข้าชมภาพยนตร์เยอะๆ เพื่อหลีกหนีจากการขาดทุน ซึ่งก็ยังต้องดูท่าทีว่าการสนับสนุนดังกล่าวจะครอบคลุมการจัดเรตติ้งอย่างไร

ที่ผ่านมาการเซ็นเซอร์เนื้อหาของภาพยนตร์นั้นเป็นสิ่งที่คนในวงการหนังต่างออกมาลุกฮือกันเป็นพักๆ เพราะเป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้หนังไทยยังไม่ไปไหน ไม่สามารถสื่อสารบางประเด็นซึ่งสะท้อนภาพสังคมตามความเป็นจริงได้! ในทางกลับกัน คนไทยทุกวันนี้ก็สามารถเสพหนังนอกที่มีเนื้อหาที่คงไม่ผ่านเซ็นเซอร์บ้านเราได้ในแพลตฟอร์มต่างประเทศแล้ว

 

สำหรับหลักการของการเซ็นเซอร์นั้น จริงๆ มีประวัติเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473 โดยมีเนื้อหาให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตัดทอนเนื้อหา แก้ไข เบลอภาพได้ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้มีการใช้มานานกว่า 70 ปีเลยทีเดียว! จนมีการเสนอร่างใหม่ คือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พุทธศักราช 2551 โดยใช้ระบบการจัดเรตติ้งแทน ให้อำนาจผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคนพิจารณา สามารถตัดเนื้อหาบางส่วน จนถึงการห้ามฉายนั่นเอง โดยลักษณะของภาพยนตร์ที่ถูกสั่งห้ามฉายหรือโดนเซ็นเซอร์หลักๆ คือมีเนื้อหาที่ ‘บั่นทอนสถาบันต่างๆ ของประเทศ’

 

วันนี้ฝ่ายข่าว ไลฟ์สไตล์ โพสต์ทูเดย์ จึงขอยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่เคยถูกคำว่า ‘ห้ามฉาย’ หรือโดนเซ็นเซอร์จากประเด็นต่างๆ มาให้พิจารณา และลองดูกันว่าหากเพื่อไทยขับเคลื่อน ‘เลิกเซ็นเซอร์’ และแบนการ ‘ห้ามฉาย’ จริง เนื้อหาของภาพยนตร์ที่จะออกมาและกล่าวถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะได้รับการอนุญาตให้ถูกถ่ายทอด

 

แสงศตวรรษ ( ปี 2551 )

 

เป็นไปได้แค่ไหน? เลิกเซนเซอร์ เลิกห้ามฉาย เพื่อสนับสนุน Soft Power หนังไทย

 

ภาพยนตร์ผลงานของ ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ผู้กำกับไทยที่เป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลก ... ‘แสงศตวรรษ’ กล่าวถึงชีวิตของแพทย์หญิงในโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ต่างจังหวัด ที่มีความทรงจำที่ดีต่อผู้ป่วยและความรัก และอีกชีวิตของแพทย์ทหารหนุ่มในโรงพยาบาลในเมือง กับผู้ป่วยพิการและคู่รักของเขาที่จะจากไป

หนังเรื่องนี้มีกำหนดฉายในประเทศไทยในเดือนเมษายน ปี 2550 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพราะชี้ว่ามีฉากที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ โดยมีเงื่อนไขให้ตัด 4 ฉากออกไปเพราะบั่นทอนวิชาชีพและสถาบัน ซึ่งหลักๆ ก็คือสถาบันศาสนา ได้แก่ ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์ ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลและเกิดอารมณ์ทางเพศ และฉากพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งทำให้ผู้กำกัดตัดสินใจไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้

จนถึงเหตุการณ์ไม่คืนฟิล์ม เมื่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ไม่คืนฟิล์มให้กับทางผู้กำกับจนกว่าจะตัดฉากทิ้ง จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม 1 ปีผ่านไปภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้ารับการพิจารณาอีกครั้ง และถูกสั่งตัดเพิ่มเป็น 6 ฉาก ทางผู้กำกับจึงตัดสินใจใส่ฟิล์มดำแทนฉากที่โดนตัดเพื่อแสดงถึงการโดนบังคับดังกล่าว

 

Insects in the Backyard ( 2553 )

 

เป็นไปได้แค่ไหน? เลิกเซนเซอร์ เลิกห้ามฉาย เพื่อสนับสนุน Soft Power หนังไทย

 

หนังเรื่องนี้คือหนังไทยเรื่องแรกที่ถูกสั่ง ‘ห้ามฉาย’ ในปี 2553 ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ โดยผู้กำกับยื่นขออนุญาตฉายภาพยนตร์หลังจากที่นำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยสาเหตุที่ห้ามฉายด้วยเหตุผลที่ว่า ‘มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’

สำหรับหนังเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวของ LGBTQ ที่พยายามมอบความสุขให้แก่น้องสาวและน้องชายวัยเรียน โดยเนื้อหานั้นท้าทายขนบธรรมเนียมค่อนข้างสูง และมีประเด็นเรื่องเพศที่ลงลึกเพื่อตั้งคำถามถึงขนบธรรมเนียมของสังคมที่ไม่กล้าพูดความจริง และถูกครอบนำด้วยมายาคติ .. และเมื่อโดนห้ามฉาย ทางผู้กำกับได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แม้ว่าศาลปกครองจะยกฟ้องคำร้อง แต่ศาลก็ได้ชี้ว่าหากตัดบางฉากให้สั้นลงจะสามารถจัดฉายในได้ประเภท ฉ20 ทางผู้กำกับจึงยอมลดทอนและสามารถฉายได้ในปี 2560 หรืออีก 7 ปีต่อมา

 

นาคปรก (2553)

 

เป็นไปได้แค่ไหน? เลิกเซนเซอร์ เลิกห้ามฉาย เพื่อสนับสนุน Soft Power หนังไทย

 

“นาคปรก” ผลงานการกำกับของคุณภวัติ พนังคศิริ ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ปีที่จะพาหนังเข้าฉายได้สำเร็จ เนื่องจากว่ากันว่าทางผู้กำกับรอให้ภาครัฐเปลี่ยนจากระบบเซ็นเซอร์มาเป็นการจัดเรตซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 ปีเพื่อให้หนังได้ฉายแบบไม่โดนตัด .. อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนาคปรกนี้ทำให้ทางภาครัฐมีการใช้มาตรการจัดเรตติ้งอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก เกิดการควบคุมให้ผู้เข้าชมต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีเท่านั้น

นาคปรก เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนเรื่องราวด้านมืดในวงการสงฆ์  เมื่อย้อนกลับไป 10 ปีก่อนยุคสมัยนั้นอาจมีคนกล้าพูดในประเด็นวงการสงฆ์น้อย เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีข่าวด้านมืดของวงการสงฆ์มามากต่อมากแล้ว แต่ในยุคสมัยนั้นการพูดถึงวงการสงฆ์แบบที่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างจริงๆ ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย และแน่นอนว่าเมื่อมีกำหนดฉาย องค์กรต่างๆ ก็ทำหนังสือยื่นต่อทางกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อให้ห้ามฉายเพราะจะทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมเสีย แต่สุดท้ายนาคปรกก็สามารถเข้าฉายได้เป็นผลสำเร็จ

 

เชคสเปียร์ต้องตาย ( 2555 )

 

เป็นไปได้แค่ไหน? เลิกเซนเซอร์ เลิกห้ามฉาย เพื่อสนับสนุน Soft Power หนังไทย

หนังไทยนอกกระแสที่คนไทยไม่เคยได้ดู เพราะได้รับเรท ‘ห’ คือห้ามเผยแพร่ในประเทศไทยและยังไม่มีโอกาสได้ฉาย!

ภาพยนตร์โดย อิ๋ง สมานรัชฎ์ ซึ่งได้ทุนส่วนหนึ่งจากกระทรวงวัฒนธรรม แต่กลับโดนอีกหน่วยหนึ่งของรัฐแบน! เป็นหนังที่ใช้กลวิธีละครเวทีซ้อนเรื่องจริง ซ้อนไปซ้อนมา ดัดแปลงจากละครโศกนาฎกรรมแม็คเบ็ธ ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ที่ถูกดัดแปลงให้เข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทย ในช่วงนั้นที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างคุกรุ่นในปี 2555

หนังเรื่องนี้โดนแบน จากเหตุผลที่ว่ามีเนื้อหาก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ  เนื่องจากในภาพยนตร์มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีฉากที่คนดูละครจับผู้กำกับแขวนคอ มีการนำฟุตเทจภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 มาใช้ และการให้ปิศาจในเรื่องสวมชุดสีแดงเปรียบเหมือนการกล่าวหามวลชนเสื้อแดง

 

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ( 2556 )

 

เป็นไปได้แค่ไหน? เลิกเซนเซอร์ เลิกห้ามฉาย เพื่อสนับสนุน Soft Power หนังไทย

 

หนังสารคดีไทยกำกับโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งนับเป็นหนังไทยเรื่องที่ 3 ที่ไม่ผ่านเซนเซอร์ในประเทศ เพราะเนื้อหาขัดต่อความมั่นคงของชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากมีการนำเสนอข้อมูลบางเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล นั่นคือเหตุการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร

สารคดีเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น เมื่อผู้กำกับไปพบกับพื้นที่หมู่บ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องเขาพระวิหาร ไม่ว่าจากเหตุการณ์เฉียดตาย หรือการหลบเสียงปืนของชาวบ้าน รวมไปถึงบทสนทนาที่ด่าว่ารัฐบาลแบบเต็มๆ จากชาวบ้าน อีกทั้งยังมีการถ่ายทำสัมภาษณ์ความคิดเห็นของคนทางฝั่งกัมพูชาที่ไม่พอใจรัฐไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ข่าวเผยแพร่ไปในวงกว้าง ภายในปีเดียวกันนั้น ก็ได้มีการประกาศว่าเกิดความเข้าใจผิด คือ มติไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทยนั้น เป็นเพียงแค่มติของอนุกรรมการ ไม่ใช่มติของคณะกรรมการชุดใหญ่ จึงทำให้สารคดีดังกล่าวได้กลับมาฉายอีกครั้งภายใต้ เรต 18+ และดูดเสียงออก 2 วินาที ซึ่งเป็นประโยคที่ว่า "เรามาร่วมเคาท์ดาวน์และร่วมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา” ออก ซึ่งทางผู้กำกับมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญของเนื้อหาจึงดำเนินการและสามารถกลับมาฉายได้สำเร็จ

 

หุ่นพยนต์ (2566)

 

เป็นไปได้แค่ไหน? เลิกเซนเซอร์ เลิกห้ามฉาย เพื่อสนับสนุน Soft Power หนังไทย

 

สำหรับหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ไม่ผ่านกองเซนเซอร์คือ ‘หุ่นพยนต์’  หนังเรื่องนี้ว่าด้วยชายหนุ่มที่เดินทางมาหาพี่ชายในวัดแห่งหนึ่ง แต่กลับมาเจอเรื่องราวแปลกๆ กับหุ่นปั้นพ่อปู่สิงธรรมที่ดูเหมือนภูตผีมากกว่าเทพที่คอยปกปักรักษา จนกระทั่งเกิดเหตุอาเพศในหมู่บ้าน

ส่วนเหตุผลที่กองเซนเซอร์ไม่ให้หนังเรื่องนี้ผ่าน เพราะมองว่าสร้างความเสื่อมเสียให้ศาสนาและก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคี  หนึ่งในฉากที่เป็นปัญหาคือภาพเณรกอดแม่ เพราะตามมุมมองของผู้เซ็นเซอร์มองว่าเป็นเรื่องอาบัติ ... โดยทางค่ายได้ส่งหนังเข้ารับการพิจารณาถึงสองรอบ ในรอบแรกเกือบถึงขั้นต้องถูกสั่งห้ามฉาย จนต้องปรับแก้ไขเนื้อหาใน 5 ฉาก ได้แก่ ให้ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์ ตัดฉากเณรชกกันในผ้าเหลืองและลดคำหยาบคาย ตัดฉากคลุกอาหาร ตัดฉากเณรกอดผู้หญิง ตัดฉากท่องศีล 5 ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ และสังเกตว่าพระหรือเณรในเรื่องไม่โกนคิ้วเลย  จนท้ายสุดทางผู้กำกับปรับเปลี่ยนเนื้อหาดังกล่าว และเปลี่ยนชื่อเรื่อง เป็นปลุกพยนต์ และเข้าฉายได้ในเรต 18+

การออกมาเซนเซอร์หนังเรื่องหุ่นยนต์ด้วยเหตุผลข้างต้น ก่อให้เกิดดราม่าโต้ตอบในสื่อโซเชียลมีเดีย ถึงความล้าสมัยในการพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้สร้างหนัง แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนก็ตาม

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเนื้อหาของภาพยนตร์ที่ถูกเซ็นเซอร์ และห้ามฉายตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เห็นได้ว่าหากภาพยนตร์เรื่องไหนมีประเด็นที่แตะต้องความมั่นคง และสถาบันหลักของชาติ ก็มีอันต้องหวาดเสียวไปตามๆ กัน ... อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าคิดว่าในอนาคตโดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนต่างกล้าออกมาตั้งคำถามมากขึ้น หากเกิดการขับเคลื่อนในเรื่องของการเลิกเซ็นเซอร์จริง  เราอาจจะได้เห็นภาพยนตร์ที่กล้าพอจะสื่อสารประเด็นต่างๆ ออกมามากมาย  และคงจะหนักหน่วงมากกว่าที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแน่นอน  ซึ่งก็วกกลับมาที่คำถามข้างต้นว่า ‘เป็นไปได้แค่ไหน กับการเลิกเซนเซอร์ในประเทศไทย’ และผู้ออกนโยบายจริงจังแค่ไหนกับการขับเคลื่อนวงการหนังไทย.