posttoday

‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ประวัติศาสตร์ความคิดสามัญชนที่ยังคงมีชีวิต

07 สิงหาคม 2566

‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ นักคิด และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทย ผู้ให้นิยามว่าประวัติศาสตร์ที่แท้จริง คือประวัติศาสตร์ที่มาจากสามัญชนไม่ใช่ชนชั้นผู้นำ!

ประวัติศาสตร์ความคิดสามัญชนคนไทย ผ่านประวัติ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด  เกิดเมื่อวันที่  23 พฤษภาคม พ.ศ.2483 จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา  ช่วงเวลาที่อาจารย์นิธิเกิด อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและการปกครอง เกิดการปฏิวัติหลายต่อหลายครั้งด้วยชนชั้นที่กุมอำนาจทางการเมือง

นอกจากนี้ในช่วง พ.ศ.2500  ซึ่งเป็นช่วงที่การศึกษาระดับอุดมศึกษาขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดการเดินขบวนของนิสิต นักศึกษาที่ไม่พอใจกับการเมือง รวมไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดชนชั้นกลางขึ้นในสังคมไทย … ปัจจัยทั้งสามด้านนี้เอง ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา ควบรวมกันจนทำให้เกิดกลุ่มชนชั้น ‘ปัญญาชน’ ที่ตั้งคำถามกับบ้านเมือง และ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ก็เป็นผลผลิตของสิ่งเหล่านั้นเช่นกัน

 

มีนักวิจัยกล่าวว่าผลงานทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่เป็นยุคทองของอาจารย์นิธิ เกิดในช่วงปี พ.ศ.2520-2529  แม้ว่าจะเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ของ ‘อาจารย์นิธิ’ ไม่ได้ยึดติดที่ชนชั้นบนเป็นตัวละครเอก ดั่งเช่นหนังสือประวัติศาสตร์ที่พร่ำสอนคนไทยมานานนับหลายศตวรรษ แต่ประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิ ตั้งอยู่บนการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคน ‘สามัญชน’ ประชาชนชั้นกลางดั่งเช่นรากของเขา ที่เป็นคนจีน มีการศึกษา และนั่นนำไปสู่ผลงานด้านประวัติศาสตร์ของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ที่ตั้งคำถามกับความคิดกระแสหลักของสังคมในเวลาต่อมาอย่างโดดเด่น  โดยอาจารย์นิธิเคยเขียนลงในหนังสือชื่อ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอดีตและอนาคต ไว้ว่า

‘ จุดมุ่งหมายของนักประวัติศาสตร์มิใช่เพื่อเข้าใจด้านเดียวของสังคมในอดีต จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือการเข้าใจทั้งหมด’

 

กำเนิด มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ปากเสียงของสามัญชนและคนไร้โอกาส

 

ในปี 2540 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อีกหนึ่งผลงานของอาจารย์นิธิได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีอาจารย์นิธิเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยเป็นเว็ปไซต์ที่รวบรวมงานวิชาการหลายสาขา รวมทั้งมีกระดานข่าวเพื่อแสดงความคิดเห็นแบบสาธารณะ และสารานุกรมที่จะอธิบายคำต่างๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งประชาชนคนทั่วไปสามารถเข้าไปอ่าน และออกความคิดเห็นได้ ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นสถานที่ที่สนับสนุนความเข้มแข็งและเป็นปากเสียงให้กับสามัญชนและคนยากจนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันของสังคมที่ปิดกั้นโอกาส ทั้งทางด้านการศึกษา ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเมื่อเทียบกับอภิสิทธิ์ชน ในยุคที่ความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมไม่ได้แพร่หลายอย่างเช่นในปัจจุบันด้วยซ้ำ!!

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโด่งดังในช่วงทศวรรษดังกล่าว เพราะเป็นสถานที่ๆ กล้าออกมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนชนชั้นกลางและคนยากจน และพูดในประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีจุดเด่นที่มีหลักฐานและความคิดทางวิชาการเชื่อมโยง  ซึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้เองที่ยิ่งทำให้เห็นว่า ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ คือบุคคลที่สนับสนุนให้ ‘สามัญชน’ เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง   … นอกจากนี้ในช่วงหลัง งานของอาจารย์นิธิก็ยังขยายขอบเขตของเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ไปยังผู้เสียประโยชน์ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ‘มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน’  ก็ไม่อาจต่อรองกับอำนาจนิยมได้ เว็ปไซต์ถูกปิดกั้นหลายครั้งในช่วงของการรัฐประหารในช่วงปี 2549-2557

 

อาลัย ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ประวัติศาสตร์สามัญชนที่ยังคงต้องอยู่ต่อไป

 

ในปี 2545 หลังจากที่เขาได้รับรางวัล ศรีบูรพา ได้มีคำประกาศรางวัลถึงอาจารย์นิธิไว้ว่า

‘ ความสำคัญของนิธิ เอียวศรีวงศ์คือการใช้ปากกา และความเป็นนักเขียนและนักวิชาการมาชี้ให้เห็นความสำคัญของ ‘สามัญชน’ โดยย้ำว่า ‘สามัญชน’ คือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน’

 

หลังจากเป็นผู้จุดประกายประวัติศาสตร์เพื่อสามัญชนมานานกว่า 83 ปี อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2566 ในวันที่ประเทศไทยยังคงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล จากการต่อรองอำนาจของชนชั้นนำและชนชั้นปกครอง.