posttoday

22 ปี ของการต่อสู้ 'สมรสเท่าเทียม’ บนเวทีการเมืองไทย

23 พฤษภาคม 2566

ย้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การต่อสู้บนเส้นทางสีรุ้ง สู่วัน ‘เท่าเทียม’ ที่ รอคอย 22 ปีที่ภาคประชาสังคมและการเมืองฝ่าฟัน ขับเคลื่อน ต่อต้าน และต่อสู้ เพื่อสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สู่วันที่ MOU ของพรรคฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลบรรจุ 'สมรสเท่าเทียม' ให้เป็นภารกิจ

วันที่ 22 พฤษภาคม เวลา 16:30 น. เมื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลอย่าง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประกาศ  MOU ร่วมกันของฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค .. ทวิตเตอร์พร้อมใจกัน #สมรสเท่าเทียม บางคนออกมาโพสต์ภาพตัวเองร้องไห้ขณะนั่งดูข่าวนี้ บางคนแคปภาพหน้าจอมือถือมาลงแม้ภาพและคำพูดจะวนซ้ำกับของคนอื่น ... แม้การประกาศครั้งนี้จะยังไม่เป็น Action อย่างที่นักข่าวต่างประเทศถามถึง ‘How’ ของ MOU ที่ทั้ง 8 พรรคร่างขึ้น

 

แต่สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ .. นี่คือหนึ่งในวันประวัติศาสตร์ที่พวกเขารอคอย

 

22 ปี ของการต่อสู้ 'สมรสเท่าเทียม’ บนเวทีการเมืองไทย

 

 

เมื่อมองย้อนกลับไปดูตลอดเส้นทางการต่อสู้บนถนนสีรุ้ง .. ‘การยอมรับ’ เรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาได้ง่ายๆ เพราะมีการต่อสู้ในเวทีการเมืองมากว่า 22 ปี

ปี 2544     

รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตร แต่กระแสสังคมไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง (ช่วงนั้นเพลงประเทืองยังดังอยู่ เพศหลากหลายยังถูกล้อเลียนและเป็นเรื่องตลก) รัฐบาลมองเห็นว่าสังคมไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้จึงตกไป

 

ปี 2555       

มีคู่รักเพศหลากหลายต้องการจดทะเบียนสมรสแต่ถูกปฏิเสธ จึงได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่ เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การร่างกฎหมาย

 

ปี  2556   

เกิดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในสมัยอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  แต่ไม่ได้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการบางอย่างเช่นคู่รักชาย-หญิง  .. อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าวต่างประเทศก็มีกฎหมายที่คล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ Civil Partnership ที่ไม่ได้ครอบคลุมสิทธิทั้งหมดเช่นกัน เนื่องจากยุคสมัยดังกล่าวกระแสของ Equality ยังไม่ได้รับการตระหนักถึงเท่าปัจจุบัน

 

ปี  2557  

เกิดรัฐประหาร การผลักดันร่าง พ.ร.บ. จึงยุติลง เพราะภาคสังคมมองว่ารัฐบาลในยุคที่มาจากการรัฐประหารไม่อาจเข้าใจสิทธิมนุษยชนได้

 

ปี  2563    

ในรัฐบาลของนายประยุทธ์ จันทน์โอชา  เริ่มมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมเช่นเดียวกับกระแสทั่วโลกที่พัฒนาเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ และมีแนวโน้มจะแก้ไข Civil partnership เป็นพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งให้สิทธิที่เท่าเทียมกับคู่รักชาย-หญิง

 

มิ.ย. 2563

พรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต่อสภาและถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน

 

ปี 2563 - 2566 ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด   

มีการยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อให้ผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยสามารถผ่านวาระที่หนึ่งไปแล้วในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 แต่ด้วย สภาล่มบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ ทำให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมตกไปตามรัฐธรรมนูญ   อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายจะถูกพิจารณาต่อได้ด้วย ครม.ชุดที่มาจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสามารถหยิบร่างกฏหมายที่ตกไปมาพิจารณาต่อ แต่ต้องทำภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก

 

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมสามารถผ่านวาระที่หนึ่งไปแล้วในวันที่ 15 มิถุนายน 2565

 

22 พ.ค. 2566

MOU ที่ร่างขึ้นโดยฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ยืนยันร่วมกันถึงภารกิจของรัฐบาลที่ต้องผลักดันร่วมกัน โดยมีเนื้อหา 23 ข้อ และอีก 5 ประเด็นที่ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ซึ่ง 1 ใน 23 ข้อนั้นคือกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ โดยมีเนื้อหาใจความว่า

 

‘ ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ’

 

22 ปี ของการต่อสู้ 'สมรสเท่าเทียม’ บนเวทีการเมืองไทย

 

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คงไม่เกินไปนักที่จะพูดว่านี่คือเส้นทางสู่ชัยชนะ ของการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิอัน ‘เท่าเทียม’ ที่รอมานานกว่า 22 ปีบนเวทีการเมือง.