posttoday

27 ม.ค. และ 1 ก.พ.คนกรุงเทพเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5

26 มกราคม 2566

กทม. เตือนประชาชนรับมือฝุ่น PM 2.5 ในวันที่ 27 ม.ค. และ 1 ก.พ. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน WFH ช่วยลดปริมาณฝุ่น พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา

ในการแถลงมาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 สูงในกรุงเทพฯ ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา  นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าการเกิดฝุ่นPM 2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามและคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่า ช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 66 โดยค่า PM 2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือนเมษายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM 2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น จากสถิติที่ผ่านพบว่า เดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM 2.5 มากที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์

27 ม.ค. และ 1 ก.พ.คนกรุงเทพเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5

ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า 2 ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น ปัจจัยแรก ได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศ โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า เพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ PM 2.5 เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในหน้าร้อนและเพดานอากาศจะต่ำลงในหน้าหนาว และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงวันที่ 31 ม.ค. 66 ถึง 1 ก.พ. 66 สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค. 66 ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือ ปัจจัยที่สอง แหล่งกำเนิด เช่น การจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง เราสามารถร่วมด้วยช่วยกันควบคุมได้

27 ม.ค. และ 1 ก.พ.คนกรุงเทพเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5

นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า หากค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ รวมถึงการแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพ ซึ่งกทม.ได้วางแผนการทำงาน เป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย

ระดับที่ 1 (ฟ้า) ค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซด์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้มีการฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น

ระดับที่ 2 (เหลือง) ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะมีการเพิ่มความเข้นข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น

ระดับที่ 3 (ส้ม) ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. จะมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือให้ทำงานแบบ Work From Home 60% รวมถึงลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง

ระดับที่ 4 (แดง) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานแบบ Work From Home 100% เพราะเป็นการช่วยลดมลพิษได้เป็นอย่างมากรวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ หลังจากที่ กทม.ได้ตั้งวอร์รูมฝุ่น PM 2.5 เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในกรุงเทพฯ ให้รับมือกับสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในวันที่ 27 ม.ค.และระหว่างวันที่ 31 ม.ค.- 1 ก.พ.นี้ จะมีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 หนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะเพดานการลอยตัวของอากาศ ในกรุงเทพฯ ต่ำลง อาจส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องเจอสภาพอากาศในลักษณะนี้อีก แต่ค่าฝุ่นปีนี้จะหนักเป็นช่วงระยะ ไม่ได้ติดต่อกันหลายวันเหมือนปีที่ผ่านมา

 

27 ม.ค. และ 1 ก.พ.คนกรุงเทพเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ กทม.ได้บูรณาการการทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้างอย่างเข้มข้น รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 1 ก.พ.นี้ ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพจะเป็นสีแดง ส่วนมาตรการที่จะให้ประชาชน Work From Home ในวันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม. ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้ มี 11 บริษัทเอกที่สนใจและจะเข้าร่วม Work From Home  กับ กทม.

รวมถึงได้แจ้งเตือน ขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ส่วนโรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่างและให้โรงเรียนงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัยหากเป็นหน้ากากอนามัยปกติจะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้น้อย หากเป็นหน้ากาก N95 จะสามารถกรองและป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า