posttoday

5 ขั้นตอนช่วยชีวิต เมื่อพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

03 มกราคม 2566

เหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเรื่องความเจ็บป่วยของร่างกายอย่าง ‘อาการหัวใจหยุดเต้น’ ที่มักจะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ลองไปดู ‘5 ขั้นตอนชวนรอด เมื่อหัวใจหยุดเต้น’ เพื่อเตรียมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุกันดีกว่า

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น ว่าอาการหัวใจหยุดเต้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้า หรืออาจมีอาการเจ็บหน้าอกเฉพาะที่ หากคนในครอบครัว คนใกล้ตัว หรือพบคนหมดสติจากสภาวะหัวใจหยุดเต้น สิ่งที่ต้องทำโดยเร็วที่สุดคือการช่วยชีวิตอย่างถูกวิธี เพื่อจะได้เพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด

 

5 ขั้นตอนช่วยชีวิต เมื่อพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

 

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า อาการหัวใจหยุดเต้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุดคือเกิดจากโรคหัวใจ โดยเฉพาะอาการลิ่มเลือดอุดตันหรือเส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลัน จากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หากขาดการรักษาอย่างทันท่วงที จะส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นได้ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง อาจเต้นช้าหรือเต้นเร็วผิดปกติ หรือทั้งเต้นช้าและเต้นเร็วสลับกัน อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ และกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติตั้งแต่กำเนิด สามารถพบได้ในคนที่มีอายุน้อย เกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่าง ผนังหัวใจจะหนามากจนปิดกั้นการสูบฉีดเลือด ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง จนทำให้หัวใจหยุดเต้นฉับพลันได้

ส่วนใหญ่แล้วอาการหัวใจหยุดเต้นจะไม่มีสัญญาณเตือน แต่อาจจะมีอาการเจ็บ แน่นหน้าอก ร้าวไปที่แขน หรือเจ็บบริเวณลิ้นปี่ โดยอาการจะเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงอย่าง ขึ้นบันได เดิน รวมถึงตกใจสุดขีด โดยจะเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก ใจสั่น หน้าซีดคล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ โดยถ้าเห็นคนจะเป็นลม แน่นหน้าอก เหงื่อแตก ล้มฟุบ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ควรรีบเข้าไปช่วยเหลือทันทีตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ดังนี้ 

 

5 ขั้นตอนช่วยชีวิต เมื่อพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

 

ขั้นตอนที่ 1 ตั้งสติและสังเกตดูความปลอดภัย 

ผู้ให้การช่วยเหลือต้องตั้งสติ พยายามไม่ตกใจ ดูเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นตรวจสอบก่อนเข้าช่วยเหลือ หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ ตึกถล่ม ห้ามเข้าไปช่วยเหลือโดยเด็ดขาด ควรรอดูสถานการณ์ให้ปลอดภัยแล้วเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังสถานที่ปลอดภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้น 

จัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงดังและตบที่ไหล่ทั้งสองข้าง เพื่อดูการตอบสนองว่าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่ จากนั้นหากผู้ป่วยตื่นหรือรู้สึกตัว ให้จัดท่านอนตะแคง

ขั้นตอนที่ 3 ฟังเสียงหายใจและดูจังหวะการหายใจที่หน้าอก 

การฟังเสียงหายใจและดูจังหวะการหายใจ ก็เพื่อตรวจดูว่าผู้ที่หัวใจหยุดเต้นหายใจหรือไม่ โดยเอียงหูลงไปแนบใกล้ปากและจมูกของผู้ป่วยเพื่อฟังเสียงหายใจ ใช้แก้มเป็นตัวรับสัมผัสลมหายใจที่อาจออกมาจากจมูกหรือปากของผู้ป่วย และใช้ตาจ้องดูการเคลื่อนไหวที่หน้าอกของผู้ป่วยว่ากระเพื่อมขึ้นลงเป็นจังหวะหรือไม่

ขั้นตอนที่ 4 ร้องขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 

เมื่อประสบกับเหตุการณ์ที่มีคนหมดสติ ไม่หายใจ ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 พร้อมระบุสถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจน ตามด้วยการขอรถพยาบาลและเครื่อง AED พร้อมระบุชื่อและเบอร์โทรศัพท์คนที่ติดต่อด้วย เพราะยิ่งช่วยได้เร็วยิ่งดี

 

5 ขั้นตอนช่วยชีวิต เมื่อพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

 

ขั้นตอนที่ 5 เริ่มทำ CPR เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย 

หากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ต้องปั๊มหน้าอกให้ลึกพอที่แรงกดจะไปเอาเลือดออกจากหัวใจได้ ซึ่งต้องกดลงไปบริเวณกระดูกหน้าอกลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว เพื่อให้แรงมากพอที่จะทำให้เลือดในหัวใจบีบออกมา และจังหวะต้องเหมาะสมคือประมาณ 100 ครั้งต่อนาที

ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจหยุดเต้นจะมีเวลาอยู่ที่ประมาณ 4 - 5 นาที ไม่ควรเกินกว่านี้ เพราะจะทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์หรือความเสี่ยงดังกล่าว ควรได้รับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี และควรเตรียมตัวให้พร้อมเสมอกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ Heart Coordinator โทร.08-0191-9019 Contact Center โทร.1719 หรือ Heart Care LINE Official : @hearthospital