posttoday

Beyond Artistic Boundary ความงามข้ามขอบเขต

18 พฤศจิกายน 2561

รากฐานของศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยของไทยมีการก่อเกิดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานจากอดีตถึงปัจจุบัน

โดย พริบพันดาว 

รากฐานของศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยของไทยมีการก่อเกิดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานจากอดีตถึงปัจจุบัน

จุดหนึ่งที่เป็นหมุดหมายวัดถึงพัฒนาการและการวิวัฒน์ของศิลปะร่วมสมัยของไทย นั่นก็คือรางวัลในการประกวดศิลปะต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงที่จัดมาอย่างต่อเนื่องเวลากว่า 40 ปี ก็น่าจะเป็นรางวัลหนึ่งที่สามารถสะท้อนภาพเหล่านี้ออกมาได้

นิทรรศการ “Beyond Artistic Boundary :ความงามข้ามขอบเขต” จึงเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่งยวด เนื่องจากเป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินเมื่อครั้งได้รับรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง และผลงานผลงานที่สร้างสรรค์ใหม่ที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อนอีก 1 ชิ้น เพื่อแสดงถึงความเคลื่อนไหวของงานศิลปะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อีกทั้งเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ และเป็นกำลังใจให้แก่ศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อไป

Beyond Artistic Boundary ความงามข้ามขอบเขต

หากย้อนถอยหลังกลับไปสู่อดีต รางวัลจิตรกรรมบัวหลวง มีศิลปินที่ได้รับรางวัลถึง 224 คน ซึ่งปัจจุบันศิลปินที่เคยได้รับรางวัลบ้างสามารถก้าวสู่เกียรติยศแห่งชีวิตเป็นศิลปินแห่งชาติ บางคนสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาความสามารถจนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ได้เดินดูผลงานศิลปะที่คัดเลือกศิลปินจากอดีต 46 คน มีผลงานที่ร่วมจัดแสดงจำนวน 83 รูป อาทิ อิทธิพล ตั้งโฉลกปรีชา เถาทอง เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปัญญา วิจินธนสาร ประสงค์ ลือเมือง ญาณวิทย์ กุญแจทอง ชาติชายปุยเปีย วิโชค มุกดามณี ถาวร โกอุดมวิทย์ ปริญญา ตันติสุข และไพโรจน์ วังบอน เป็นต้น

ในวันเปิดนิทรรศการ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า นิทรรศการชุดนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ขับเคลื่อนงานศิลปะให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในสังคม อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ยังทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนางานศิลปะในแต่ละยุคสมัย ให้วงการศิลปะมีความก้าวหน้า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินได้นำไปพัฒนาผลงาน

Beyond Artistic Boundary ความงามข้ามขอบเขต

จากการได้เดินชมผลงานศิลปะที่จัดแสดงในครั้งนี้ อาทิ ภาพมุมหนึ่งของชีวิตไทย และภาพการเปลี่ยนแปลงภายใน ผลงานของเฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์ ภาพแสงและเงา ผลงานของปรีชา เถาทอง ภาพยมกปาฏิหาริย์ ผลงานของอนุวัฒน์ ลัดดาวัลย์ ภาพค่าน้ำนม ผลงานของนพวงษ์ เบ้าทอง ภาพความหวัง ผลงานของ ผศ.อภิชัย ภิรมย์รักษ์ ฯลฯ จะเห็นได้ถึงศิลปกรรมร่วมสมัยของไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ได้ย้อนความหลังในการประกวดและได้รับรางวัลนี้เมื่อครั้งอดีตว่า เขาเองคือหนึ่งในศิลปินที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดที่มูลนิธิบัวหลวง ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หรือในปี 2520 ได้ส่งผลงานที่ชื่อว่า “มุมหนึ่งของชีวิตไทย” ที่สะท้อนเรื่องราวของผู้คนในระเบียงวัดโพธิ์ในระหว่างรอการทำบุญ มีทั้งการพูดคุย หรือการทานขนมที่หาบเร่มาขาย แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทยสมัยนั้น โดยตัวรูปวาดใช้สีฝุ่นบนกระดาษสา

ในการประกวดสมัยก่อน เฉลิมชัยเท้าความหลังและตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า ผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นรูปพระพุทธเจ้า หรือรูปโบราณๆ รูปแบบเดิมๆ จนมาถึงสมัยของเขาเอง มีความรู้สึกอยากจะทำอะไรให้ดูแปลกใหม่ จึงเหมือนบุกเบิกให้งานศิลปะมีความคิดที่หลากหลายมากขึ้น มีความเป็นไทยที่สามารถก้าวไปสู่สากลได้ ดังนั้น เวทีการประกวดจึงสำคัญ เพราะนอกจากจะมีชื่อเสียง ยังสร้างรายได้ตามอีกด้วย

Beyond Artistic Boundary ความงามข้ามขอบเขต

การส่งเสริมให้ศิลปินรุ่นใหม่เกิดการพัฒนามีทักษะ แนวคิด และความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้านจิตรกรรมให้มีคุณภาพและมีคุณค่า รางวัลจิตรกรรมบัวหลวง จึงมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมากทุกปี ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของศิลปะในแต่ละยุค ความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของศิลปิน ยามีล๊ะ หะยี ที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดในปี 2558 และได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย ขยายความถึงงานของเธอว่า เป็นงานเย็บปักที่สะท้อนภาพบทบาทและหน้าที่ของสตรีมุสลิมที่มีต่อครอบครัว และสถานการณ์ของสตรีมุสลิมในบริบทของสังคมร่วมสมัยแห่งโลกปัจจุบัน ในการศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอนศาสนา เพื่อนำมาขัดเกลาจิตใจของตนเอง

ส่วนผลงานในปัจจุบันที่ชื่อว่า “ความสุข...ความปรารถนา” เธอยังคงรูปแบบในการสะท้อนบทบาทของสตรีมุสลิม แต่เป็นบทบาทของผู้ที่จะเป็นแม่ การแต่งงาน และการละหมาดของผู้หญิง ให้เห็นเป็นนามธรรม เพื่อให้คนดูได้จินตนาการถึงสถานะของผู้หญิง ความปรารถนาและความเพ้อฝัน

“ดังนั้นการทำงานศิลปะไม่ว่าจะด้านใด ตัวศิลปินต้องมีการพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ เพราะมีศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เราได้อยู่รอดในการทำความฝันและความตั้งใจต่อไป”

Beyond Artistic Boundary ความงามข้ามขอบเขต

นอกจากนี้ ยังมีโครงการดาวเด่นบัวหลวง ครั้งที่ 11 ในเดือน ธ.ค.นี้ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามาเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันแล้ว ยังได้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสนใจและเข้าใจในงานศิลปะมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับนิทรรศการ “Beyond Artistic Boundary: ความงามข้ามขอบเขต” จัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผ่านฟ้า กทม. จนถึงวันที่ 8 ม.ค. 2562 เวลา 10.00-19.00 น. (ยกเว้นวันพุธ) หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.queengallery.org และ http://facebook.com/ queengallerybkk/ โทร. 02-281-5360-1