posttoday

เสาชิงช้า

02 กันยายน 2560

จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล

เสาชิงช้า

 จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเสาชิงช้าในพระนครขึ้นตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เมื่อวันพุธ เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรง บริเวณลานด้านเหนือของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

 ต่อมาย้ายมาสร้างใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันบริเวณหน้าวัดสุทัศน์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2492 นับตั้งแต่สร้างครั้งแรกเมื่อปี 2327 จนถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด ซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี 2549 ปัจจุบันเสาชิงช้ามีอายุรวมประมาณ 233 ปี

 สำหรับการขุดค้นทางโบราณคดี พบหลักฐานต่างๆ สามารถสรุปชั้นดินเบื้องต้นได้ว่าแนวอิฐในสมัยที่ 1 (ด้านวัดสุทัศน์) น่าจะเป็นแนวถนนเดิมที่มีมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนแนวพื้นสมัยที่ 2 (ด้านวัดสุทัศน์) น่าจะเป็นแนวถนนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีรางระบายน้ำอยู่ขอบถนน อาจมีการปรับพื้นที่ด้วยการอัดดินเหนียวเพื่อให้ได้ระดับแล้วจึงเทชั้นถนน ส่วนท่อเหล็กสมัยที่ 3 น่าจะเป็นท่อประปาที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง คือสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นหลังจากมีการสร้างถนนแล้ว

 สาเหตุที่สร้างเสาชิงช้า กล่าวกันว่า เนื่องมาจากมีพราหมณ์นาฬิวันชาวเมืองสุโขทัยผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่าพระครูสิทธิชัย (กระต่าย) ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่าในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายอันเป็นประเพณีของพราหมณ์มีมาแต่โบราณนั้น จำเป็นต้องมีการโล้ชิงช้า และเสาชิงช้าก็ถูกสร้างขึ้นตรงกลางพระนคร เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2327 (โบราณกำหนดเอาบริเวณเสาชิงช้าว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร)

 ต่อมาอีก 34 ปี คือเมื่อเดือน พ.ย. 2361 (รัชกาลที่ 2) ได้เกิดฟ้าผ่าลงบนยอดเสาชิงช้าทำให้เสียหายไปเล็กน้อย และดูเหมือนว่าตั้งแต่นั้นมาก็จะไม่ได้ซ่อมแซมกันเท่าไรนัก

 ต่อมาอีกร้อยปีปรากฏว่าบริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้อยู่ในเวลานั้น ได้อุทิศซุงไม้สักให้หลายต้นเพื่อซ่อมแซมให้ดีดังเดิม โดยอุทิศบุญกุศลเป็นที่ระลึกแก่ หลุยส์ ธอมัส เลียวโนเวนส์ การซ่อมแซมครั้งนั้นสำเร็จลงเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2463 ดูเหมือนจะมีคำจารึกไว้ที่เสาด้วย

 ในปี 2502 ทางกรุงเทพมหานครได้จัดการซ่อมแซมใหม่ ได้ทำพิธียกกระจังขึ้นตั้งยอดเสาเมื่อเดือน ธ.ค. 2502 และมีการบูรณะในวาระครบรอบ 222 ปี ในปี 2549

 เมื่อกล่าวถึงเสาชิงช้า ก็ต้องกล่าวถึงพิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่า พระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลง แสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน

 ดังนั้น พิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น "ต้นพุทรา" ช่วงระหว่างเสาคือ "แม่น้ำ" นาลีวัน ผู้โล้ชิงช้าคือ "พญานาค" โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ

 อีกตำนานหนึ่งเชื่อว่า พระพรหมเมื่อสร้างโลกแล้ว ได้เชิญให้พระอิศวรทดสอบความแข็งแรงของโลก พระอิศวรจึงใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับข้างต้นในการทดสอบ คตินี้สอนเรื่องการไม่ประมาท

 พิธีโล้ชิงช้านี้ได้มีติดต่อกันมาหลายรัชกาล จนถึงรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจของไทยเราชักไม่ค่อยมั่นคง เงินในท้องพระคลังร่อยหรอลงเต็มที การโล้ชิงช้าต้องใช้เงินมาก และเป็นการหมดเปลืองเงินหลวง และในระยะนั้นเป็นสมัยที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใหม่ๆ เหตุการณ์ยังไม่ค่อยสงบดีนัก ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้จึงได้ยกเลิกประเพณีการโล้ชิงช้าเสีย คงทำเฉพาะปี 2477 ซึ่งพระยาชลมารควิจารณ์ (ม.ล.พงศ์ สนิทวงศ์) ได้เป็นประธานหมู่นาฬิวัน นับเป็นปีสุดท้ายที่ได้มีการโล้ชิงช้า ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น

 เสาชิงช้าตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศนเทพวราราม และลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ใกล้กับเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในพื้นที่แขวงเสาชิงช้า และแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

 บริเวณย่านเสาชิงช้าเป็นย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่จำนวนมากโดยเฉพาะอาคารพาณิชย์สองฝั่งถนนบำรุงเมืองรอบเสาชิงช้า ระหว่างแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า และแยกสำราญราษฎร์ ถือเป็นย่านจำหน่ายสังฆภัณฑ์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ

 นอกจากนี้ โดยรอบยังมีศาสนสถานที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่หลายแห่ง ได้แก่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดเทพมณเฑียร และศาลพระนารายณ์ ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังบริเวณเกาะกลางถนนอุณากรรณ-ถนนศิริพงษ์ ข้างวัดสุทัศน์

 เสาชิงช้าจึงเป็นย่านที่มีแหล่งท่องเที่ยวและย่านของกินที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ที่พลาดไม่ได้