posttoday

มนัสลิล มนุญพร เมื่อดอกไม้ร่ายมนตร์

29 ธันวาคม 2557

จากความตั้งใจที่จะทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ทำให้สาวมาร์เก็ตติ้งร่างเล็กอย่าง มนัสลิล มนุญพร หรือมาย และหนุ่มการเงิน นรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร (นนท์)

โดย...กองทรัพย์

จากความตั้งใจที่จะทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ทำให้สาวมาร์เก็ตติ้งร่างเล็กอย่าง มนัสลิล มนุญพร หรือมาย และหนุ่มการเงิน นรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร (นนท์) ตกลงกันว่าจะแยกย้ายกันไปทำงานประจำหลังเรียนจบจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University International College) เพื่อหาประสบการณ์และให้เวลาตัวเองตัดสินใจว่าทั้งสองคนเหมาะกับธุรกิจประเภทใด ฝ่ายชายทำงานด้านวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ส่วนฝ่ายหญิงก็ไปทำงานด้านครีเอทีฟมาร์เก็ตติ้งให้กับเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป ซึ่งเป็นงานที่ตรงสายงานของทั้งคู่ก่อนจะเริ่มต้นจริงจังในธุรกิจที่ตั้งใจไว้

ลองผิดลองถูก

มนัสลิล บอกว่า การเปิดโลกการทำงานของทั้งสองคน เริ่มต้นด้วยดีและเป็นไปด้วยดี แต่เพราะอยากมีธุรกิจร่วมกัน ทั้งเธอและแฟนหนุ่มจึงลาออกเมื่อเริ่มงานประจำไปแล้ว 2 ปี

“เราเริ่มต้นด้วยการลองธุรกิจหลายอย่าง แต่ทำแล้วก็พบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ในยุคการเรียนของเรา จะมีการยกตัวอย่างคนต้นแบบด้านธุรกิจ เช่น คุณตัน ภาสกรนที หรือแบรนด์เถ้าแก่น้อย ทำให้การค้นหาตัวตนของเราในช่วงแรกที่ทำธุรกิจจะจับธุรกิจที่หวังเข้าถึงคนหมู่มาก เช่น เคยอยากทำข้าวเกรียบปลา เพราะยายทำข้าวเกรียบปลาอร่อย ก็ทำไปขายในมหาวิทยาลัย อยากทำเครื่องดื่มที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ ลองศึกษาดูแล้วพบว่าต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ซึ่งงานแบบนี้เรามองว่าจะต้องเป็นคนที่เก๋าและต้องมองขาดในเรื่องการตลาด ต้องใช้ประสบการณ์ ซึ่งเงินลงทุนสูงกับคนไม่มีประสบการณ์อย่างเราสองคน บอกเลยว่าเสี่ยงมาก”

หลังจากค้นพบว่าธุรกิจที่เข้าถึงคนหมู่มากไม่ใช่แนวทางที่ถนัด สิ่งที่เป็นธรรมชาติของตัวเองน่าจะดีกว่า ซึ่งเมื่อถามว่าสิ่งที่ถนัดคืออะไร ก็ได้รับคำตอบว่าจะต้องเป็นงานที่สามารถมองเห็นภาพการเติบโตในอนาคตได้เรื่อยๆ สามารถควบคุมและดำเนินงานได้ในอนาคต และที่สำคัญเป็นงานที่เรารักด้วย

“สำหรับดอกไม้เราทำแล้วเราคิดเป็นสเต็ปต่อไปเรื่อยๆ เราเข้าใจเราควบคุมได้ ตอนที่ทำในสิ่งที่เราเคยทำ เหมือนใส่เสื้อผ้าที่ไม่ใช่ของเรา ขยับทำอะไรก็ไม่สะดวก คิดอะไรก็ดูไม่เข้าท่าไปหมด ก็เลยไม่เอาดีกว่า อีกอย่างช่วงแรกที่ทำงานที่เราไม่ชอบ ความสัมพันธ์ที่เคยดีๆ กันก็พาลทะเลาะกัน ไม่สื่อสารกัน เรารู้คำตอบทันทีว่าเราเลือกประเภทธุรกิจผิด” มาย อธิบาย

มนัสลิล มนุญพร เมื่อดอกไม้ร่ายมนตร์

 

คำตอบคือดอกไม้

การเป็นคนชอบท่องเที่ยวและอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก ทำให้มายให้ความสำคัญกับอารมณ์และความสนุกในการทำงาน ในด้านความรู้สึกแล้ว ดอกไม้คือความสุขและความสนุกของมาย ขณะที่ในฝั่งการดำเนินธุรกิจและการวางแผนการลงทุนก็สร้างความแปลกใหม่และตื่นเต้นให้กับฝ่ายชายอยู่ไม่น้อย จึงเกิดร้านดอกไม้ที่ไม่มีหน้าร้านชื่อ “Plant House” ขึ้นมา ทว่าเป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยเอกลักษณ์การดีไซน์ช่อที่ไม่เหมือนใคร

“เรามาเจอกันครึ่งทาง มายชอบดอกไม้ซึ่งมองเห็นลู่ทางที่จะเติบโตได้ และในแง่ธุรกิจเองการทำดอกไม้ก็สนุกมากเหมือนกัน เพราะเราแบ่งพาร์ตเป็นโปรดักต์และเซอร์วิส ซึ่งการที่เรามีเซอร์วิสก็จะไม่อ้างอิงกับฤดูกาลมากนัก ทำให้รายรับค่อนข้างเสถียร เช่น แบรนด์ต้องการเปิดตัวสินค้าใหม่แล้วให้เราจัดดอกไม้ จัดเวิร์กช็อป งานแต่งงาน หรือจัดนิทรรศการในร้านกาแฟ ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาลูกค้าทำให้เราโต เพราะเขาช่วยผลักดันด้วยการมอบงานที่ท้าทายมาให้ เราจะทำงานเฉพาะคอนเซ็ปต์งานที่เราเข้าใจจริงๆ ลูกค้ากับเราเข้าใจกัน”

“ปัญหาที่เจอช่วงแรกมันค่อนข้างยาก เพราะเรายังงงในคาแรกเตอร์ดอกไม้ ใช้เวลาจัดหนึ่งช่อใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ตอนหลังไม่สะเปะสะปะ เริ่มเลือกดอกไม้เป็น ทำรีเสิร์ชศึกษาดอกไม้ทำความเข้าใจจนมีภาพในหัว จับไปจับมาก็กลายเป็นสไตล์ของเราไป แต่เราก็พยายามหาสไตล์ใหม่ๆ ให้กับโปรดักต์ของเรา เริ่มใช้วัสดุอย่างอื่นนอกเหนือจากดอกไม้ สร้างความแฟนตาซีในโปรดักต์ของเรา”

มนัสลิล มนุญพร เมื่อดอกไม้ร่ายมนตร์

อยากเป็นแฟนตาซีที่มีระบบ

เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นทำสองคน เมื่อคนหนึ่งรับผิดชอบเรื่องดีไซน์ ฝ่ายชายที่ถนัดเรื่องการรันธุรกิจ จึงรับผิดชอบการวิเคราะห์การเงิน บัญชี และวางแผนธุรกิจ การคำนวณต้นทุน

“เพราะเราอยากให้ธุรกิจของเรามีการเติบโต เราจะแบ่งกำไรไปลงทุน จริงๆ มันสำคัญมาก การทำธุรกิจรุ่นใหม่โดยเฉพาะงานที่เป็นงานฝีมือ งานศิลปะ จำเป็นต้องใส่ใจในระบบที่สามารถรันธุรกิจไปได้ เพราะเราคงไม่สามารถทำธุรกิจแค่สองคนได้ วันหนึ่งถ้าธุรกิจขยายใหญ่ขึ้น ระบบจะเป็นสิ่งจำเป็นมาก นับเป็นเรื่องดีที่เริ่มทำจากคนน้อยๆ เราสองคนมีความถนัดต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายในสิ่งเดียวกัน เราอยากจัดระบบให้เป็นเรื่องเป็นราว มีเรื่องของการลงทุน มายก็จะเป็นพาร์ตของการใช้จินตนาการมีหน้าที่สื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจใจโปรดักต์ของเรา ว่าดอกไม้ของเรามีความสนุก มีชีวิตชีวา ส่วนพาร์ตซีเรียสนนท์เขาก็จะเป็นคนรับผิดชอบไป”

“ก่อนจะปรากฏภาพที่สวยงามในสื่อต่างๆ เรามีการพูดคุยเรื่องรายละเอียดของธุรกิจค่อนข้างมาก อยากทำให้ยั่งยืน เราไม่ได้ทำจากความหลงใหลอย่างเดียวแล้วธุรกิจจะไปได้ตลอด เราสองคนจะได้รับเงินเดือนประจำจากธุรกิจ กำไรก็จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นรายได้ของสองคน อีกส่วนหนึ่งคือจะเอาไปลงทุน”

หนึ่งปีที่ผ่านมา Plant House ยังไม่มีหน้าร้าน ใช้บ้านย่านตลิ่งชันเป็นออฟฟิศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขายังมองหาเนื้อที่ที่มากพอสำหรับการขยับขยายธุรกิจให้เรือนเพาะชำแห่งนี้กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้กลางปี 2558 พวกเขากำลังจะมีหน้าร้านที่เดินทางสะดวกในซอยทองหล่อ และยังต้องการบุคลากรที่เข้าใจศิลปะ ดอกไม้ต้นไม้มาเป็นส่วนหนึ่งในทีม

“ในระยะต่อไปอยากจะกระจายความเสี่ยงไปที่ด้านอื่นๆ  มากกว่าดอกไม้ เช่น อุปกรณ์จัดสวน เฟอร์นิเจอร์สำหรับพื้นที่เอาต์ดอร์ เราอยากทำอะไรที่ความผันผวนน้อยและมีรายรับที่สม่ำเสมอมากขึ้น เราทำธุรกิจท้ายที่สุดเราก็อยู่ได้ด้วยรายได้ และสนุกกับมัน” มนัสลิลทิ้งท้าย

มนัสลิล มนุญพร เมื่อดอกไม้ร่ายมนตร์