posttoday

พระธรรมคุณ- 1

02 มีนาคม 2557

หมายเหตุ ตามที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ระบุว่า ให้"สวดอิติปิโส..." นั้น

หมายเหตุ ตามที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ระบุว่า ให้"สวดอิติปิโส..." นั้น เพื่อให้ได้สดับความหมายของคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอย่างน้อย จึงขอนำเทศนาของ เจ้าคุณอุบาลี (จันทร์ สิริจันโท) ซึ่งจำแนกเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างพิสดารมานำเสนอ โดยครั้งนี้จะเป็นเทศนาของท่านเรื่องพระธรรมคุณ หรือ ธัมโม ซึ่งท่านเทศน์ไว้เมื่อ 6 ตุลาคม 2467 โดยเสนอไปในสัปดาห์ก่อนตอนหนึ่งแล้ว ในส่วนต่อตอนจบมีความโดยละเอียดดังนี้

ส่วนปฏิเวธธรรมนั้นเป็นผลสำเร็จมาแต่ปฏิบัติธรรม ตามที่มาต่างๆท่านแสดงว่ามรรคผลนิพพาน ชื่อว่าปฏิเวธธรรม ความจริง มรรคผลนิพพานเป็นแต่สัญญานามธรรมเท่านั้น ทำไฉนเราจึงจะรู้ได้ เมื่อเช่นนั้นต้องดูปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมซึ่งมีในตน ส่วนปริยัติ คือรู้ลักษณะอาการของสกลกาย มีผม ขน เป็นต้น หรือรู้นามรูปธาตุ ขันธ์ อายตนะ ซึ่งมีในสกลกายเป็นต้น ส่วนปฏิบัติธรรม คือรู้ความประพฤติรักษาร่างกายตลอดขึ้นไปจนรู้จักศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีลพระปาฏิโมกข์ซึ่งมีที่ตน เหมือนอย่างผู้ที่เห็นว่า กายของตนเป็นศีลเพราะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักของท่าน ไม่ล่วงกามผิด ไม่ดื่มสุราเมรัย วาจาของตนเป็นศีล เพราะไม่กล่าวคำเท็จ ไม่กล่าวคำหยาบ ไม่กล่าวคำส่อเสียด ไม่กล่าวคำโปรยประโยชน์ และมีอาชีวกรรมบริสุทธิ์ เลี้ยงชีพโดยชอบธรรม รู้สึกว่าศีลของตนเป็นอธิศีล และรู้จิตต์ของตนว่าเป็นสมาธิ เพราะสงบจากนิวรณ์เป็นอธิจิตต์ รู้ปัญญาของตนว่าเป็นอธิปัญญา เพราะกำจัดอุปธิกิเลสออกได้ คือรู้เท่าสังขารและวิสังขาร เมื่อรู้ตนได้ในปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรม โดยชัดเจนเช่นนี้ ส่วนปฏิเวธธรรมก็รู้อยู่เอง คือไม่ใช่อื่นออกไปจากปฏิบัติธรรม พึงเข้าใจความว่าปฏิเวธธรรมเป็นผลของปฏิบัติธรรมนั่นเอง อธิบายว่า ปัญญาที่รู้จักธรรมฐิติชั้นสังขาร คือธรรมดาของสังขารย่อมเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่โดยปกติ เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยามชั้นพระสูตร เป็นของจริงด้วย แต่จริงเพียงชั้นสังขารเท่านั้น ปัญญารู้เพียงเท่านี้ยังไม่นับว่าเป็นปฏิเวธธรรม ต่อเมื่อปัญญาทำลายกิเลส คือตัวสังขารธรรมทั้งสิ้นออกเสียได้ คงยังเหลืออยู่แต่วิสังขารธรรม วิสังขารธรรมนั้นหมายสภาวะความเป็นเอง ความจริงสกลกายนี้ถ้าดูให้ละเอียดแล้ว ก็จักแลเห็นได้ว่าล้วนแต่ของเป็นเองทั้งสิ้น การปรุงได้แต่งได้ ก็ปรุงก็แต่งได้ตามสภาพความเป็นเองทั้งสิ้น เหมือนอย่างอาการที่สูงต่ำดำขาว ศีรษะ มือ เท้า อวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวงซึ่งมีในสกลกายนี้ ล้วนแต่ของเป็นเองทั้งสิ้น ที่ว่าบุญญาภิสังขาร อบุญญาภิสังขารปรุงแต่งนั้นก็จริง แต่แต่งได้เพียงให้ประณีตหรือให้เลวทรามเท่านั้น ส่วนสภาวะซึ่งเป็นตัวภพตัวชาตินั้น คงเป็นไปตามหน้าที่ของตน ไม่เป็นวิปริณามธรรม คือไม่มีอนิจจัง ไม่มีทุกขัง คงมีอยู่แต่อนัตตา คือไม่ใช่ตัว เป็นธรรมต่างหาก คือมารู้ตัวเป็นธรรม รู้ธรรมเป็นตัว อย่างนี้แหละชื่อว่าปฏิเวธรรม ไม่ต้องกล่าวถึงมรรคผลนิพพาน ข้อนั้นผู้ปฏิบัติเมื่อรู้แจ้งแทงตลอดแล้วจะพึงเห็นเอง เป็น สนฺทิฏฐิโก การจะรู้จะเห็นก็ไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา เพราะตนมีอยู่ทุกเมื่อ เป็น อกาลิโก และอาจท้าทาย อวดผู้อื่นได้ว่า ท่านจงมาดูเถิด เป็น เอหิปสฺสิโก และเป็นธรรมน้อมมาสู่ตนได้ ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็น โอปนยิโก และเป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติจะพึงรู้จำเพราะที่ตน ไม่ต้องไปรู้ที่ผู้อื่น คือไม่ต้องไปหาหมอดู เป็น ปจฺจตฺตํ พุทธบริษัทพึงเข้าใจเถิด พระปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นสวากขาตธรรมแท้ จึงประกอบด้วยพระคุณทั้ง 5 ประการ มี สนฺทิฏฐิโก เป็นต้น เป็นพะยานในตนด้วยประการฉะนี้.

เพื่อพุทธบริษัทได้สดับพระธรรมคุณดังบรรยายมานี้ พึงตรวจดูในตนว่า ตนของเราทุกวันนี้ รู้จักปริยัติธรรมแล้วหรือ? ส่วนปฏิบัติธรรมได้มีแก่ตนแล้วเพียงชั้นไหน? ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราเป็นอธิศีล อธิจิตต์ อธิปัญญา หรือยัง? ส่วนปฏิเวธธรรมได้แจ่มแจ้งแก่ตนหรือยัง? เมื่อมีปัจจเวกขณญาณอย่างนี้ ก็จักรู้ตนว่าตนตั้งอยู่ในภูมิไหน? ส่วนใดที่มีบริบูรณ์แล้ว ก็ควรชื่นชมยินดี ส่วนใดที่ยังบกพร่อง ก็ควรรีบเร่งบำเพ็ญให้บริบูณณ์ขึ้นด้วยพระธรรมย่อมอาจให้ผล คือให้ประโยชน์และความสุขตามชั้นตามภูมิของตน ชั้นปริยัติก็ให้คุณตามชั้นปริยัติ ชั้นปฏิบัติก็ให้คุณตามชั้นปฏิบัติ ชั้นปฏิเวธก็ให้คุณตามชั้นปฏิเวธ เหตุนั้นควรพุทธบริษัทตรวจตรองให้ได้ความชัดเจนแล้ว ตั้งหน้าประพฤติปฏิบัติ อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาพบพุทธศาสนา จงทำตนให้เป็นแก่นสาร คือให้มีสรณะที่พึ่งอันแน่นอน ก่อนแต่ชรา พยาธิ มรณะ ยังไม่มาครอบงำ จึงจะนับว่าเป็นผู้ฉลาดอาจให้สำเร็จประโยชน์ของตน โดยนัยดังวิสัชชนามา ด้วยประการฉะนี้