posttoday

ใช่หรือ ชุดประจำชาติไทย บนเวทีนางงาม

24 ตุลาคม 2556

บนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส การประกวดชุดประจำชาติเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1962 ซึ่งชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในปีแรกตกเป็นของชาติอังกฤษ สวมใส่โดย “คิม คาลตัน”

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ 14 เสกสรร โรจนเมธากุล

บนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส การประกวดชุดประจำชาติเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1962 ซึ่งชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในปีแรกตกเป็นของชาติอังกฤษ สวมใส่โดย “คิม คาลตัน” และนับตั้งแต่นั้นมา การประกวดชุดประจำชาติก็มีมาทุกปี (ยกเว้นปี ค.ศ. 2007)

มาถึงวันนี้ ประเทศที่ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมมากที่สุดถึง 6 ครั้ง ได้แก่ ประเทศโคลัมเบีย ขณะที่ไทยของเราก็ไม่ใช่ไก่กา คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมจากเวทีเดียวกันนี้มากเป็นลำดับที่ 2 (5 ครั้ง) ได้แก่ ปี ค.ศ. 1969 กับชุดประจำชาติที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนางละครในวรรณกรรม สวมใส่โดย แสงเดือน แม้นวงศ์ ปี ค.ศ. 1988 กับชุดประจำชาติชุดไทยจักรีประยุกต์ ดัดแปลงมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดย อ.ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์ แห่งห้องเสื้อระพี เป็นผู้ออกแบบ สวมใส่โดย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก

ตามมาด้วย ปี ค.ศ. 2005 กับชุดไทยประยุกต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสตรีสูงศักดิ์แห่งอยุธยา สวมใส่โดย ชนันภรณ์ รสจันทร์ ปี ค.ศ. 2008 กับชุดที่สร้างความแปลกแตกต่างในชุดนักมวยโบราณ สวมใส่โดย กวินตรา โพธิจักร และปี ค.ศ. 2010 กับชุดสยามไอยรา ที่นำสัตว์ประจำชาติอย่างช้าง มาประยุกต์ใช้ร่วมกับโครงชุดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายของสตรีสมัยรัชกาลที่ 5 สวมใส่โดย ฝนทิพย์ วัชรตระกูล

ใช่หรือ ชุดประจำชาติไทย บนเวทีนางงาม

สำหรับในปีนี้ ปีที่ นาฏยมาลี ชุดประจำชาติไทยที่ ชาลิตา แย้มวัณณังค์ จะสวมใส่ประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2013 ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เป็นชุดที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ จนทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า จริงๆ แล้วอะไรคือชุดประจำชาติไทยจริงๆ แล้วต้องเป็นแบบไหนกันแน่ ทำไมถึงมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่ใช่ นี่ไม่ใช่ชุดประจำชาติ

อะไรคือใช่หรือไม่ใช่ นิยามใดจะมาแทนที่คำว่าชุดประจำชาติไทย นับจากบรรทัดนี้ไป เรามีคำตอบ...

อะไรคือชุดประจำชาติไทย

ก่อนอื่นเราต้องแยกแยะให้ออกก่อนว่า เรากำลังพูดถึงชุดประจำชาติไทย ที่หญิงไทยนำมาสวมใส่ออกงานที่เป็นพิธีการ หรืองานมงคล หรืองานต่างๆ ที่ไม่เป็นพิธีการมากนักหรือเปล่า หรือเรากำลังพูดถึงชุดที่เหล่าสาวงามนำไปบนเวทีประกวดสาวงามระดับโลก หากเรากำลังพูดถึงชุดประจำชาติไทย ที่หญิงไทยนำมาสวมใส่ออกงานที่เป็นพิธีการ หรืองานมงคล หรืองานต่างๆ ที่ไม่เป็นพิธีการมากนัก ชุดไทยพระราชนิยม คือชุดที่เราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่านี่คือ ชุดประจำชาติไทย

ทว่า หากเรากำลังพูดถึงชุดที่เหล่าสาวงามนำไปบนเวทีประกวดสาวงามระดับโลกแล้วละก็ คำว่านี่คือชุดประจำชาติไทย อาจจะไม่เหมาะสมมากนัก แต่หากเราเรียกว่า ชุดที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมของไทย หรือชุดที่แสดงถึงอัตลักษณ์ (ลักษณะเฉพาะตัว) ของความเป็นไทย หรือให้กระชับที่สุดคือชุดไทยประยุกต์ นี่อาจจะเรียกขานได้เหมาะสมกว่า

ใช่หรือ ชุดประจำชาติไทย บนเวทีนางงาม

 

ชุดประจำชาติไทยเกิดขึ้นเมื่อไร

จากหนังสือพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่อง “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ตามเสด็จเยือนยุโรปและอเมริกา 14 ประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2503 ในการตระเตรียมงาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้กล่าวว่า “การตระเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็นับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิงเรา” สิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พบเจอปัญหา นั่นคือการไม่มีเสื้อผ้าที่ใช้เป็นแบบฉบับอันเป็นชุดประจำชาติที่เหมาะสมกับยุคสมัย

นั่นจึงเป็นที่มาของการตัดสินพระทัยในการค้นคว้าและออกแบบชุดไทยที่มีความเป็นไทย ที่เป็นการแต่งกายสำหรับชุดประจำชาติของหญิงไทยนับแต่นั้นมา โดยเรียกชุดเหล่านั้นว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” ที่นิยมใช้ผ้าไหมและผ้าซิ่นเป็นหลัก มีอยู่ด้วยกัน 8 แบบ ได้แก่ ไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน ไทยจักรี ไทยดุสิต ไทยจักรพรรดิ และไทยศิวาลัย

ชุดประจำชาติเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้?

หากพิจารณาถึงที่มาของชุดประจำชาติไทย ที่ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2503 นี่คือผลงานการคิดค้นคว้า และมีการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อย้อนไปในสมัยทวารวดี (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 1116) การแต่งกายของหญิงไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา หาใช่หยุดนิ่งอยู่กับรูปแบบของชุดใดชุดหนึ่งไม่ ทำให้น่าคิดตามว่า ชุดประจำชาติไทยสามารถเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้ ขอเพียงให้มีการคิดค้นคว้า ออกแบบอย่างสร้างสรรค์ สวยงาม ประณีต และคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทย

ใช่หรือ ชุดประจำชาติไทย บนเวทีนางงาม

อะไรคือใช่/ไม่ใช่ชุดประจำชาติ

อ.ปัญญา วิจินธนสาร อาจารย์พิเศษ ภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ไว้ว่า หากเราจะมาวิพากษ์วิจารณ์กันในเรื่องของความใช่ไม่ใช่ เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า เราไม่ควรยึดติดในรูปแบบของชุด เพราะชุดมันมีหลากหลายรูปแบบตามยุคสมัย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมีภาพจำใน|ชุดไทยพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ “หากเราทุกคนมองว่าความเป็นไทย หรือศิลปวัฒนธรรมไทยสามารถถ่ายทอดผ่านการออกแบบสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ได้ ซึ่งต้องมีที่มาที่ไป มีความหมายที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย การวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม และเป็นผลดีต่อนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่จะนำเสนอความเป็นไทยผ่านเครื่องแต่งกายที่เราสามารถเรียกได้ว่าไทยประยุกต์ หรือไทยร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี”

ผศ.เธียรชาย อักษรดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจะพิจารณาว่านี่ใช่หรือไม่ใช่ชุดประจำชาติไทย เราต้องพิจารณาว่าคนออกแบบมีองค์ความรู้มากแค่ไหน “อย่างประเทศไทยก็มีหลากหลายภาค แต่ละภาคก็มีศิลปวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป การออกแบบชุดที่สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวแล้วเอามาต่อยอดได้ นี่คือสิ่งสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบ การใช้สี วัสดุ การตัดเย็บ มันต้องเกี่ยวพันกัน รวมทั้งต้องอยู่ในรสนิยมที่ลงตัว ถ้าอลังการแต่ไร้รสนิยม มันก็ดูไม่ใช่ ซึ่งรสนิยมมันสอนกันไม่ได้ มันต้องมาจากการตกผลึก”

ผศ.เธียรชาย ยังฝากให้นักออกแบบได้ตระหนักไว้อีกว่า การใช้ศิลปวัฒนธรรมไทยมาต่อยอด บางครั้งต้องมีความพอดี มีความ|ละเมียดละไม รอบด้าน ไม่ได้สักแต่จะสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่พื้นภูมิความหลังของความเป็นไทยนั้นผิวเผิน “ควรต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นไทย สามารถรับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่แสดงความเป็นไทยได้ อีกทั้งยังต้องศึกษาบริบทอื่นๆ เช่น ความเชื่อ ความศรัทธา ต้องเอามาประกอบอีกด้วยครับ”

ธีรยุทธ นิลมูล ประธานกลุ่มนาฏยศิลปินอิสระสิปานคอลเลคชั่น และที่ปรึกษาฝ่ายศิลปวัฒนธรรม บริษัท โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ บอกว่า การจะมองให้ออกว่าอะไรคือไทยหรือไม่ เราต้องรับรู้ว่าเรารับอิทธิพลจนมีความคล้ายคลึงจากหลากหลายประเทศ “อย่าลืมว่าชุดที่เราสวมใส่หรือนุ่งห่ม คือสิ่งประดิษฐ์จนเกิดเป็นแฟชั่นของแต่ละยุคสมัย แล้ววัสดุหรือผ้าต่างๆ เราก็นำเข้า เพราะเราประดิษฐ์ไม่เป็น เอามาใช้จนกลมกลืนจนคล้ายจะเป็นของเรา เพราะฉะนั้นอะไรใช่ไทยหรือไม่ใช่ไทย เราตอบไม่ได้อย่างเต็มปาก แต่เรามีอิสระในการสร้างสรรค์ชุดให้โดดเด่นได้ นี่คือจุดเด่นของเรา”

ธีรยุทธ เผยว่า แฟชั่นไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มันมีพลวัต ขอเพียงผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบของชุด ชุดต้องมีที่มาที่ไป และต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะนุ่งจะห่ม จะสวมจะใส่อย่างไร อันนี้สำคัญมากกว่า

ใช่หรือ ชุดประจำชาติไทย บนเวทีนางงาม

นิยามชุดประจำชาติไทย

เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ เราจะค้นพบว่าการยึดติดกับคำว่าชุดประจำชาติไทย อาจทำให้นักออกแบบรุ่นใหม่เกิดความขัดแย้งกับคนที่มีภาพจำชุดไทยพระราชนิยมที่มีอยู่ 8 แบบ ทำให้ไม่ว่าการสร้างสรรค์ใดๆ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้แสดงถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง แต่หากเราเลือกใช้คำ เช่น ชุดที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมไทย ชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นไทย ชุดที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย หรือชุดไทยประยุกต์ ที่หญิงไทยสามารถประยุกต์ใช้ผ่านทางผ้าไทย เครื่องประดับไทย หรืออะไรที่แสดงถึงความเป็นไทย ผสมผสานกับความเป็นแฟชั่น นี่อาจเป็นชุดที่หญิงไทยสามารถสวมใส่และนุ่งห่มได้อย่างร่วมสมัยในรูปแบบของตน และเป็นการแสดงออกถึงความเป็นไทยได้อย่างดีเยี่ยมอีกทางหนึ่ง

นาฏยมาลีล่ะ ชุดประจำชาติไทย?

ธนาคม สิทธิอัฐกร นักศึกษาภาควิชา|ออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ชนะเลิศการออกแบบชุดประจำชาติประจำปีนี้ กล่าวอย่างมั่นใจว่า นาฏยมาลีสามารถเป็นชุดประจำชาติไทย ที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมไทยบนเวทีการประกวดนางงามระดับโลก “แต่หากจะใช้เรียกตามชุดที่เป็นแบบแผน คงไม่อาจเรียกว่านี่คือชุดประจำชาติไทยได้ เพราะชุดประจำชาติไทย ณ ยุคสมัยนี้ คือชุดไทยพระราชนิยมที่มีอยู่ด้วยกัน 8 แบบ”

นงนารถ จิรกิติ ดีไซเนอร์และเจ้าของห้องเสื้อ “โนริโกะ” หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งร่วมพิจารณาให้ชุดนาฏยมาลีชนะเลิศในการออกแบบการประกวดชุดประจำชาติประจำปีนี้ กล่าวถึงประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า ในฐานะที่นาฏยมาลีคือชุดที่นำไปโชว์บนเวทีการประกวดที่ฝรั่งเขาจัดประกวดโดยใช้คำว่า เนชั่นแนล คอสตูม เมื่อถอดมาเป็นภาษาไทย เลยใช้คำว่าชุดประจำชาติ “หากจะให้เป็นชุดประจำชาติไทยอย่างแท้จริงเลย คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันแฟนตาซีขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็พยายามสื่อให้เห็นว่าชุดนี้มาจากประเทศไทยนะ เป็นชุดที่บ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมไทย อีกทั้งยังมีความสวยงาม”