posttoday

องค์กรจะยั่งยืน มิใช่แค่การปรับเปลี่ยน (Change) แต่มันต้องปฏิรูป (Transformation) ตอนที่ 1

05 เมษายน 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

องค์กรจะยั่งยืน มิใช่แค่การปรับเปลี่ยน (Change) แต่มันต้องปฏิรูป (Transformation) ตอนที่ 1

เพราะโลกไม่แน่นอน อ่อนไหว ซับซ้อน คลุมเครือ การดำเนินธุรกิจมีการแข่งขันสูงและทวีความรุนแรงมากขี้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนโฉมรูปแบบการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อมาสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน รวมทั้งการลดต้นทุนและการให้บริการเชิงรุก

ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงต้องปรับตัว แต่การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องก้าวข้ามจากมุมมองของแค่การปรับเปลี่ยน (Change) มาเป็นการปฏิรูป (Transformation) คำถามคือ เราต้องปฏิรูปอะไร อย่างไร องค์กรจึงจะอยู่รอด

องค์กรจะยั่งยืน มิใช่แค่การปรับเปลี่ยน (Change) แต่มันต้องปฏิรูป (Transformation) ตอนที่ 1

1. การปรับมุมมองจากการพัฒนาเพื่อ “ความมีประสิทธิภาพ” มาเป็นการพัฒนาเพื่อ “ความยั่งยืน” เพราะชีวิตมีมิติของเวลา มันดำเนินไปอย่างสืบเนื่องเชื่อมโยง ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องก้าวข้ามจากมุมมองที่คับแคบ เพียงเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ มาเป็นการพัฒนาในมุมมองที่กว้างไกล เพื่อการเติบโตอย่างสมดุล เข้มแข็ง มั่นคงยั่งยืน

2. การก้าวข้ามจากการพัฒนา “คน” มาเป็นการพัฒนา “มนุษย์” เพราะองค์ประกอบสำคัญที่สุดขององค์กรคือ มนุษย์ มนุษย์มีชีวิต ชีวิตต้องการคุณค่าและความหมาย ดังนั้น การบริหารองค์กรให้ยั่งยืนจึงต้องก้าวข้ามจากการพัฒนา “คน” มาเป็นการยกระดับ “คุณค่าความเป็นมนุษย์” จึงจะสามารถระเบิดศักยภาพภายในของบุคลากรออกมาได้อย่างเต็มที่ สามารถนำตนเองได้ เพื่อเล่นเชิงรุก

3. การยกระดับการเปลี่ยนแปลงจาก “การปรับแต่งพฤติกรรม” มาเป็น “การพัฒนาที่ฐานรากชีวิต” เพราะความยั่งยืนไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยเพียงการปรับแต่งพฤติกรรมซึ่งเป็นเรื่องผิวเผิน ฉาบฉวย แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนที่ฐานรากชีวิต นั่นคือ “กรอบความคิด” ด้วยการปรับมุมมองที่มีต่อตนเองเชิงบวก และเห็นคุณค่าในความแตกต่าง จึงจะสามารถดึงศักยภาพภายในตนเองและทีมงาน ให้ระเบิดออกมาได้อย่างมีพลังร่วม เป็นหนึ่งเดียว

4. การพลิกมุมมองจาก “การพัฒนาเชิงเดี่ยว” มาเป็น “การพัฒนาเชิงองค์รวม” ที่ผ่านมา การพัฒนาองค์กรยังไม่ยั่งยืนนั้นเป็นเพราะ บุคลากรยังยึดติดอยู่กับกรอบแนวคิดของการพัฒนาแบบแยกส่วน เราจึงต้องปรับมุมมองจากการพัฒนาเชิงเดี่ยว มาเป็น “การพัฒนาเชิงองค์รวม” ที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิต คือ จิตใจ ปัญญา อารมณ์ และภาวะผู้นำ

5. การปรับยุทธศาสตร์จาก “การขายของ” มาเป็น “การสร้างคุณค่า” เพราะเป้าหมายขององค์กรคือความอยู่รอดอย่างยั่งยืน ดังนั้น ในการดำเนินงาน องค์กรจึงต้องยกระดับจากเพียงการปรับปรุงสินค้าและบริการเพียงเพื่อเพิ่มยอดขายและตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าอย่างผิวเผิน มาเป็น “การสร้างคุณค่า” ให้เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคอย่างจริงจัง

ดังนั้น ในยุคของความผันผวน เพื่อความอยู่รอด แนวทางการพัฒนาองค์กรจึงจำเป็นต้องปฏิรูปเสียใหม่ โดยยึดมั่นต่อความยั่งยืน ผ่านการเห็นุคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มุ่งเน้นการเปลี่ยนที่ฐานรากชีวิต ด้วยมุมมองการพัฒนาเชิงระบบอย่างเป็นองค์รวม เพื่อสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับผู้บริโภค

ท่านในฐานะผู้นำองค์กร ท่านและจะนำความเข้าใจดังกล่าวไปกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพทีมงาน และปลดปล่อยศักยภาพนั้นออกมาได้อย่างเต็มที่และไปในแนวเดียวกันได้อย่างไร