posttoday

การสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) เชิงรุก

08 มีนาคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ปัญหาด้านอารมณ์คืออะไร

โลกเปลี่ยนแปลง ไม่เคยหยุดนิ่ง ปัญหาเข้ามาไม่เคยหยุดหย่อน ไม่เคยซ้ำเดิม หลายประเด็นอยู่นอกเหนือการควบคุมและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สร้างแรงกดดัน บางองค์กรรับมือไหว แต่บางแห่งไม่ ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก บางคนรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ ขาดความมั่นคง รู้สึกว่าตนเองนั้นด้อยประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ สู้คนอื่นไม่ได้ มีแต่ความบกพร่อง รู้สึกว่าตนเองนั้นผิดอยู่ตลอดเวลาและนำไปสู่ความเครียด หงุดหงิด วิตกกังวล อารมณ์เสียง่าย เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด และแสดงออกทางอารมณ์อย่างก้าวร้าว รุนแรงเกินเหตุ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และทั้งหมดนี้ส่งผลให้ตนเองไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ และเราพบว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนสะท้อนมาจากภาวะความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) ต่ำ

และด้วยฐานะทางสังคม บุคคลที่มี EQ ต่ำ มักเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ชอบการสรรเสริญ เยินยอ บางคนมีความสมบูรณ์แบบสูง ทุกอยางต้องเป๊ะ เมื่อไม่ได้ตามคาด ก็หงุดหงิด ควบคุมตนเองยาก บางคนมักชอบคุยข่ม Look down คนอื่น แสดงตนเหนือกว่า เห็นแต่ความบกพร่องของคนอื่น เป็นพวกที่รอบรู้ไปทุกเรื่อง อยากแสดงความฉลาดให้คนอื่นเห็น เป็นพวกโง่ไม่เป็น แพ้ไม่ได้ บางคนหลงกับตำแหน่ง แสดงอำนาจ ชอบใช้อารมณ์ เพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องตนเอง ว่าไปแล้ว คนที่มี EQ ต่ำ มักเป็นคนอ่อนไหว ความอดทนต่ำ หุนหันพลันแล่น ควบคุมตนเองไม่ได้ บุคคลประเภทนี้ แม้มี IQ สูง แต่สุดท้ายก็ต้องตกม้าตาย ไปไม่ถึงฝั่ง ก้าวไม่ถึงฝัน อย่างน่าเสียดาย เพราะลำพังการพัฒนาความสามารถด้านการบริหารจัดการ (IQ) นั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องปรับสมดุลด้วยทักษะอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ ความมั่นคงทางอารมณ์ หรือ EQ

การสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) เชิงรุก

ความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) คืออะไร

เราพบว่าภาวะดังกล่าวแสดงออกมาในรูปของความมั่นคงภายใน มีความเชื่อมั่น มีภูมิต้านทาน เข้มแข็ง บุคคลเหล่านี้จึงสามารถปรับฟื้นคืนสภาพตนเองได้ แม้ในยามที่ยากลำบาก และระเบิดศักยภาพภายในออกมาได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างการนำตนเอง เพื่อกลับมาเล่นเชิงรุกได้ บุคคลจึงสามารถยืนหยัดรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาได้อย่างไม่หวั่นไหว

แล้วเราจะสร้าง EQ ได้อย่างไร

เราตระหนักแล้วว่า ความมั่นคงทางอารมณ์เป็นทักษะที่สำคัญในสังคมยุคปัจจุบัน ประเด็นสำคัญคือ เราจะพัฒนาความเข้มแข็งภายในนี้ขึ้นมาได้อย่างไร เราพบว่า รากของศักยภาพด้านอารมณ์นี้คือ การเห็นตนเองเชิงบวก มันคือกรอบความคิดที่เห็นตนเองมีคุณค่า และที่ว่าเห็นตนเองมีค่านั้นก็คือ การยอมรับอดีตตนเอง และให้อภัยในสิ่งที่ผ่านมาอย่างเข้าใจ มองอดีตที่ผ่านมาอย่างเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเติบโต มุมมองเชิงบวกที่มีต่อตนเองเช่นนี้นำไปสู่ความเข้มแข็งภายใน เกิดความมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นบุคคลจึงสามารถปรับฟื้นคืนสภาพให้กลับมานำตนเองได้ เล่นเชิงรุกได้ องค์กรที่มีบุคลากรที่มีความเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะสามารถองค์กรสู่ความมั่นคงยั่งยืนได้

และนอกจากจะเห็นคุณค่าตนเองแล้ว ที่สำคัญต้องเห็นคุณค่าคนอื่นด้วย การเห็นคุณค่าระหว่างกันนี้ ในอีกมุมมองหนึ่งก็คือ การเห็นคุณค่าในความแตกต่าง และมันจะเป็นจริงได้ บุคคลต้องปรับมุมมองเสียใหม่ มีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้อื่น เปิดใจกว้างรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่เห็นความจริงว่า องค์กรคือระบบที่บุคลากรเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพื่อระเบิดศักยภาพที่เหนือกว่าเมื่ออยู่เดี่ยวๆ อีกทั้งต้องสร้างทีมงานอย่างมีส่วนร่วมและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

คนที่มี EQ ดี จึงมีความหนักแน่น มั่นคง มีภูมิต้านทาน สามารถเผชิญกับแรงกดดัน รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไรในภาวะที่ยากลำบากด้วยความอดทน ยืนหยัด นอกจากนี้ ยังมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี รู้จักสร้างและรักษาสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่นบนฐานที่เห็นคนเป็นมนุษย์ มนุษย์คือมีชีวิตที่ต้องการคุณค่าและความหมาย การเห็นคุณค่าตนเองและการเห็นคุณค่าในความแตกต่างนี้ จึงจะสามารถยกขีดความสามารถตนเองและศักยภาพทีมงานเพื่อสร้างทีมงานเข้มแข็ง สามารถนำตนเองเชิงรุก นำองค์กรสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ในภาวะที่โลกผันผวน การปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถเพื่อความอยู่รอดคือหัวใจ การจะพลิกฟื้นคืนสภาพให้กลับมามีความเข้มแข็งได้จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงจากภายใน ความมั่นคงดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ด้วยการเข้าใจถึงความมีคุณค่าและความหมายของความเป็นมนุษย์หรือความเป็นตัวตนของทั้งตนเองและผู้อื่น