posttoday

การยกระดับรัฐวิสาหกิจไทยให้เป็นองค์กรนวัตกรรมที่มีคุณค่า

23 พฤศจิกายน 2563

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot–การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ในแต่ละปี รัฐวิสาหกิจส่งเงินเข้ารัฐเกือบสองแสนล้านบาท โดยกว่า 90% มาจากรัฐวิสาหกิจ 10 อันดับแรก (จากทั้งหมด 53 แห่ง) นั่นคือความสามารถในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคงยั่งยืน แล้วอะไรคือปัจจัยของความสำเร็จและจะทำอย่างไรให้รัฐวิสาหกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

เป้าหมายหลักของรัฐวิสาหกิจไทยคืออะไร

จากการศึกษายุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจไทย 10 อันดับแรก พบว่าเป้าหมายหลักคือ การขยายตัวและเติบโตของธุรกิจอย่างมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการนำส่งรายได้เข้ารัฐเพื่อร่วมสร้างสังคมไทย สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ควบคู่ไปกับการสร้างอนาคตสังคมไทยให้มั่นคงและยั่งยืน

การยกระดับรัฐวิสาหกิจไทยให้เป็นองค์กรนวัตกรรมที่มีคุณค่า

เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นจริงได้ รัฐวิสาหกิจไทยต้องเป็นอย่างไร

1. รัฐวิสาหกิจไทยจำเป็นต้องสร้างคุณค่าองค์กรให้เป็นเลิศมีมาตรฐานระดับโลกมีความมั่นคงมีภาพลักษณ์ที่ดีเชื่อถือได้เป็นที่ยอมรับ

2. บุคลากรจำเป็นต้องมี Business Mind เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่ Digital Transformation เพื่อความทันสมัย รวดเร็ว คล่องตัว มีประสิทธิภาพ

3. รัฐวิสาหกิจไทยต้องปรับองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม ด้วยสินค้าและบริการที่แตกต่าง แปลกใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และสามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างสมดุล เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนในอนาคต

4. รัฐวิสาหกิจไทยต้องสามารถปรับการใช้และบริหารสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

5.  รัฐวิสาหกิจไทยำเป็นต้องสร้างพันธมิตรทางธุรกิจบนพื้นฐานของความเป็นธรรม มุ่งสร้างความไว้วางใจ ความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดี เพื่อการดำเนินธุรกิจร่วมกันในระยะยาว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของ Business Portfolio 

6. การดำนเนินงานของรัฐวิสาหกิจไทยต้องตั้งอยู่บนฐานของมีคุณธรรมและจริยธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นธรรม โปร่งใส ถูกต้อง และตรวจสอบได้

เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นจริงได้ต้องทำอย่างไร

รัฐวิสาหกิจไทยจำเป็นต้องมีรูปแบบการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Change Model) เป็นของตนเองที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์เฉพาะขององค์กรและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

อีกทั้งต้องพัฒนาทีมนำให้ใช้รูปแบบนั้นได้แลกเปลี่ยนได้ถ่ายทอดเป็นและพัฒนาต่อยอดได้เพื่อสร้างทีมงานที่สอดคล้องไปในแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว

การยกระดับรัฐวิสาหกิจไทยให้เป็นองค์กรนวัตกรรมที่มีคุณค่า

รูปแบบการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเป็นในลักษณะของการพัฒนาเชิงองค์รวม (Holistic Approach) เพื่อสร้าง Multi Skills ที่ครอบคลุมด้านกรอบความคิดปัญญาอารมณ์และภาวะผู้นำ ดังนี้

1. ด้านกรอบความคิด รัฐวิสาหกิจไทยจะมั่นคงยั่งยืนอยู่ได้ บุคลากรต้องปรับมุมมองให้มี Business Mind เชิงรุกที่เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์พันธกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กรเพื่อสร้างภาพเป้าหมายให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับระบบเศรษฐกิจสังคมการดำเนินธุรกิจธรรมชาติขององค์กรสิ่งแวดล้อมและความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค 

ทั้งนี้ การปรับแนวคิดเชิงรุกดังกล่าวต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนตนเอง คิดเชิงบวก โดยการปรับออกจากกรอบแนวคิดการทำงานแบบเดิมๆ ที่ติดอยู่กับภาพความสำเร็จเก่าๆ มาเป็นการระเบิดศักยภาพจากภายใน สร้างแรงขับเคลื่อนภายในอย่างมุ่งมั่น เพื่อสร้างการนำตนเอง เพื่อเล่นเชิงรุกเป็นทีมให้สอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพ มีความมุ่งมั่นให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ ควบคู่กับการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องทั้งด้านคุณภาพและบริการ 

2. ด้านปัญญา จากเป้าหมายหลักของรัฐวิสาหกิจไทยคือ ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีความสามารถในการแข่งขันและสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ความสามารถดังกล่าวจะเป็นจริงได้ บุคลากรต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่าง ที่แปลกใหม่ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจสูง เพื่อใช้พัฒนาทางเลือกเพื่อการตัดสินใจในการแก้ปัญหาเชิงซ้อน ทั้งนี้ คุณสมบัติดังกล่าวจำเป็นต้องมาจากแนวคิดเชิงระบบ และการมองภาพเชิงองค์รวม เพื่อสร้างองค์กรนวัตกรรม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน

3. ด้านอารมณ์ ด้วยความท้าทายด้านการขยายตัวและเติบโตของธุรกิจอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงรุก ทีมงานจึงต้องมีความเป็นหนึ่งเดียว ความสอดคล้องกันจะเกิดขึ้นได้ บุคลากรต้องเห็นตนเองมีค่าและเห็นคุณค่าในความแตกต่าง ทีมงานจึงจะเข้มแข็ง สามารถระเบิดศักยภาพออกมาเสริมกันได้อย่างมีพลังร่วม เพื่อรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ด้านภาวะผู้นำ เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีก้าวไกลอย่างไม่หยุดนิ่ง การจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนได้นั้น องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงยั่งยืนที่เข้าใจทั้งด้านความสามารถทางเทคนิคและความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ดังนั้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงยั่งยืน จึงต้องให้ความสำคัญในความสมดุลของทั้งด้านการบริหารจัดการ และความเป็นมนุษย์ที่ต้องการคุณค่าและความหมาย เพื่อสร้างทีมงานที่มีส่วนร่วม มีบรรยากาศของความร่วมมือด้วยการยอมรับด้วยใจ 

ด้วยคุณสมบัติของการพัฒนาเชิงองค์รวมดังกล่าวข้างต้น รัฐวิสาหกิจไทยจึงจะสามารถยกระดับการแข่งขันเชิงรุก เพื่อเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการนำส่งรายได้เข้ารัฐเพื่อร่วมสร้างสังคมไทย สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ควบคู่ไปกับการสร้างอนาคตสังคมไทยให้มั่นคงและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง 

ที่สำคัญที่กล่าวมาข้างต้นเป็นจริงสำหรับทุกองค์กรไม่ว่าภาครัฐรัฐวิสาหกิจเอกชนองค์กรอิสระหรือแม้แต่ครอบครัวเพราะต่างก็มีธรรมชาติเดียวกันทั้งสิ้น