posttoday

รวมข้อห้าม-ข้อปฏิบัติ สืบสานประเพณีสงกรานต์ในสถานการณ์โควิด

10 เมษายน 2563

หลายหน่วยงานร่วมให้คำแนะนำในช่วงวันสงกรานต์ เพื่อรักษาประเพณีที่ดีงามท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

รวมข้อห้าม-ข้อปฏิบัติ สืบสานประเพณีสงกรานต์ในสถานการณ์โควิด

เทศกาลสงกรานต์ บรรยากาศการเล่นสาดน้ำในประเพณีวันปีใหม่ไทยในปีนี้คงจะเงียบเหงากว่าทุกครั้ง เพราะสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังคาดเดาทิศทางได้ยาก โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีมติว่าให้เลื่อนเทศกาลสงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เมษายน ออกไปจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะคลี่คลาย ช่วงเวลานี้จึงทำให้คนไทยต้องงดการฉลองสงกรานต์แบบสาดน้ำครื้นเครง มาเป็นการแสดงความรักความห่วงใยต่อญาติผู้ใหญ่และการสืบสานประเพณีไทยในรูปแบบอื่น

รวมข้อห้าม-ข้อปฏิบัติ สืบสานประเพณีสงกรานต์ในสถานการณ์โควิด

กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันผู้สูงอายุในปีนี้ ลูกหลานชาวไทยต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ งดการเล่นสาดน้ำ งดการเดินทางไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และระมัดระวังไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาด โดยมีคำแนะนำดังนี้

  1. คนไกลที่อยู่ห่างบ้านกับผู้สูงอายุ ขอให้อยู่ที่พักของตนเอง ไม่ควรเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนาไปไหว้อวยพรพ่อแม่และผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ แนะนำให้แสดงความกตัญญูทางไกล เช่นโทรศัพท์คุยกัน คุยผ่านไลน์ หรือคุยแบบเห็นหน้าผ่านทางวิดีโอคอล
  2. คนใกล้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุ ไม่แนะนำให้มีการรดน้ำดำหัวในครอบครัวในวันสงกรานต์ ไม่กอดหอมผู้สูงอายุ แต่ให้แสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุโดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรในการทำกิจกรรมในครอบครัว ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตหลังการติดโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุมากจะสูงกว่าในคนที่อายุน้อย เป็นข้อมูลที่เหมือนกันทั้งข้อมูลทั่วโลกและประเทศไทย โดยจากข้อมูลผู้เสียชีวิตในประเทศไทย 20 ราย พบว่าเป็นผู้สูงอายุ 9 ราย เกือบ 50%
  3. คนใกล้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุ หลังทำงานเสร็จพอกลับถึงบ้านล้างมือให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เน้นล้างมือบ่อยๆ
  4. การดูแลผู้สูงอายุช่วงเทศกาลสงกรานต์ งดพาผู้สูงอายุออกนอกบ้าน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และล้างมือหลังใช้ห้องน้ำ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว แยกสำรับอาหารและแยกของใช้จำเป็นของผู้สูงอายุ อย่าให้ปะปนกับของลูกหลาน
  5. ระมัดระวังและเตือนผู้สูงอายุ ให้เว้นระยะห่างจากบุตรหลานและผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร

รวมข้อห้าม-ข้อปฏิบัติ สืบสานประเพณีสงกรานต์ในสถานการณ์โควิด

กระทรวงวัฒนธรรม

กระทรวงวัฒนธรรม มีคำแนะนำและออกประกาศเรื่อง "แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ" (ประกาศฉบับนี้มีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง) เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 โดยมีข้อมูลที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในช่วงวันสำคัญทางประเพณีและทางศาสนาต่างๆ และรวมถึงเทศกาลสงกรานต์ คือ  

แนวทางปฏิบัติวันสำคัญทางศาสนาประเพณีสำคัญและงานบุญ

  • ควรงดการเข้าร่วมกิจกรรมณศาสนสถานโดยให้ใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์แทนเช่นการฟังธรรมะออนไลน์
  • งดการใช้มือหยิบข้าวใส่บาตรพระภิกษุ
  • สำหรับเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ (เช็งเม้ง) ให้งดการเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษ ณ สุสาน (ฮวงซุ้ย) โดยให้จัดพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษ ที่บ้านแทน และงดการรวมญาติ

ส่วนในกรณีเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ให้ปฏิบัติตัวดังนี้

1. งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ

2. งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา

3. งดเว้นการรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี

4. งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

5. เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน

  • เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ด้วยการกราบไหว้ขอพร โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
  • การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ไกลกัน ให้ใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์

รวมข้อห้าม-ข้อปฏิบัติ สืบสานประเพณีสงกรานต์ในสถานการณ์โควิด

กรมควบคุมโรค

กรมควบคุมโรค โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำ 8 ข้อปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากโควิด-19

  1. อธิบายให้เข้าใจถึงความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อ
  2. ให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น
  3. กินร้อน แยกจาน ช้อน ส้อม ส่วนตัว
  4. หมั่นทำความสะอาดบ้านและข้าวของเครื่องใช้
  5. จัดหาหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70%
  6. เมื่อกลับเข้าบ้านให้เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ และสระผม ก่อนพบผู้สูงอายุ
  7. หากมีการสัมผัสบุคคลหรือไปสถานที่เสี่ยงให้เลี่ยงการพบผู้สูงอายุ
  8. หากมีอาการร่วมกับมีประวัติเสี่ยง ให้ใส่หน้ากากอนามัยและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

รวมข้อห้าม-ข้อปฏิบัติ สืบสานประเพณีสงกรานต์ในสถานการณ์โควิด

ข้อเสนอ 7 มาตรการเข้ม

ส่วนทางด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ขอเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพิ่มอีก 7 มาตรการเข้มรับมือการระบาดของโควิด-19 ในช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตราย จากข้อห้ามและข้อแนะนำของกระทรวงวัฒนธรรมตามที่ ครม.เห็นชอบ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดซุปเปอร์สเปรดเดอร์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 10-16 เม.ย. เพราะคนและน้ำคือตัวการใหญ่ในการแพร่กระจายเชื้อ ประกอบด้วย

  1. ห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. ห้ามสาดน้ำฉีดน้ำมีความผิดทางแพ่งและอาญา
  3. ห้ามรวมหมู่สังสรรค์ล้อมวงดื่มสุรามีความผิดแพ่งและอาญา
  4. ห้ามรวมกันเกิน 3 คนในที่สาธารณะ และต้องสวมใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน
  5. ห้ามสัญจรข้ามจังหวัด วางกำลังตั้งด่านสกัดคัดกรองถนนทุกสายหลัก สายรอง เส้นทางเข้าออกจังหวัด 4 มุมแบบเมืองใยแมงมุม
  6. ลดและจำกัดเวลาร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์สโตร์ลงเหลือไม่เกิน 8 ชั่วโมง
  7. เพิ่มเวลาเคอร์ฟิวเฉพาะช่วงสงกรานต์ขึ้นอีก 2 ชั่วโมงคือ 21.00-05.00 น.

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องชนะ เพื่อที่สงกรานต์ปีหน้าคนไทยจะอยู่ทำบุญเล่นน้ำพร้อมหน้ากัน