posttoday

วัย Millennials สุขภาพแย่ 'ป่วยง่าย-ตายเร็ว' โยงไลฟ์สไตล์ 'นอนดึก-ตื่นสาย-ซึมเศร้า'

18 พฤศจิกายน 2562

ขอต้อนรับสู่เช้าวันจันทร์ เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการทำงานที่วนเวียนเป็นวัฏจักรของคนกว่าครึ่งโลก พร้อมปัญหามากมายที่ส่งผลให้คนวัย Millennials มีสุขภาพที่แย่ลง แล้วคุณพร้อมแค่ไหนที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงเสียดฟ้าในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า

ขอต้อนรับสู่เช้าวันจันทร์ เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการทำงานที่วนเวียนเป็นวัฏจักรของคนกว่าครึ่งโลก พร้อมปัญหามากมายที่ส่งผลให้คนวัย Millennials มีสุขภาพที่แย่ลง แล้วคุณพร้อมแค่ไหนที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงเสียดฟ้าในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า

วัย Millennials สุขภาพแย่ 'ป่วยง่าย-ตายเร็ว' โยงไลฟ์สไตล์ 'นอนดึก-ตื่นสาย-ซึมเศร้า'

จากรายงานการดูแลสุขภาพฉบับใหม่ของ Blue Cross Blue Shield ที่ตีพิมพ์รายงานยาวกว่า 32 หน้า ได้ให้รายละเอียดของปัญหามากมายที่คนวัย Millennials จะต้องรับมือ ทั้งการมีสุขภาพที่แย่ลงและต้องใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ในบทนำของรายงานดังกล่าว นักวิเคราะห์จาก Moody Analytics ระบุว่า ในการตรวจสอบรูปแบบสุขภาพของวัย Millennials พบว่า คนวัยนี้มีแนวโน้มที่จะป่วยและอายุสั้นกว่าคน Gen X หรือตีความได้ว่า "พวกเขาจะอายุสั้นกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่"

โดยเรื่องที่จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของวัย Millennials ไม่ใช่สงครามหรือโรคติดต่อร้ายแรง แต่มันคือเรื่องของ "ภาวะซีมเศร้าและสมาธิสั้น" ซึ่งจะนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดต่างๆ ข้อมูลสนับสนุนเรื่องนี้คือ ระหว่างปี 2014-2017 พบว่าอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าและภาวะสมาธิสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในคนวัย Millennials ซึ่งแตกต่างจากคน Gen X ที่มีแนวโน้มจะตายด้วยโรคหัวใจและโรคมะเร็ง

วัย Millennials สุขภาพแย่ 'ป่วยง่าย-ตายเร็ว' โยงไลฟ์สไตล์ 'นอนดึก-ตื่นสาย-ซึมเศร้า'

ดังนั้น ความจริงก็คือ แม้ว่าโภชนาการและเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนวัย Millennials จะส่งผลให้คนรุ่นนี้มีสุขภาพกายที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน แต่สิ่งที่กลับกันก็คือคนรุ่นนี้กลับมีสุขภาพจิตที่แย่กว่า และสิ่งนี้เองที่ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาอย่างรุนแรง เพราะความเครียดยิ่งมากยิ่งทำลายสุขภาพทั้งกายและใจ รู้แบบนี้แล้วคนวัยนี้นอกจากจะต้องขยันสร้างสุขภาพกายที่ดีแล้ว เรื่องของสุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน

ซ้ำร้ายยิ่งกว่า ถ้าเมื่อคืนคุณได้นอนหลับเพียง 5-6 ชั่วโมง บอกเลยว่านั่นเป็นการทำลายสุขภาพโดยที่เราเองไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ปวดหัว สมาธิสั้น เพราะจากผลการศึกษาของ Northwestern Medicine และมหาวิทยาลัย Surrey หนึ่งในสถาบันชั้นนำของสหราชอาณาจักร ได้มีการศึกษาพบว่า คนที่ชอบนอนดึกมักมีปัญหาไม่ยอมลุกจากเตียงในตอนเช้า มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่เข้านอนเร็วและตื่นนอนในตอนเช้า

การศึกษาในครั้งนี้มีผู้ที่เข้าร่วมวิจัยกว่าครึ่งล้านคน โดยใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลนานถึง 6 ปีครึ่ง ซึ่งการวิจัยก่อนหน้านี้จะมุ่งเน้นไปที่อัตราการเผาผลาญของร่างกาย โรคหัวใจและหลอดเลือด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ศึกษาวิจัยถึงความเสี่ยงในการเสียชีวิต

วัย Millennials สุขภาพแย่ 'ป่วยง่าย-ตายเร็ว' โยงไลฟ์สไตล์ 'นอนดึก-ตื่นสาย-ซึมเศร้า'

บทความวิจัยได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Chronobiology International นักวิทยาศาสตร์พบว่าคนที่นอนดึก ตื่นสาย จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นไปได้ว่าคนนอนดึกตื่นสายมักจะนอนช้าทำให้ตื่นยากในช่วงเช้าจะไปตื่นในตอนกลางวันหรือตอนบ่าย จึงทำให้นาฬิกาชีวิตหรือนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ผิดเพี้ยนไป ส่งผลให้ระบบในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเครียดซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งการกินอาหารผิดเวลา การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพอ กลางคืนตาสว่างนอนไม่หลับ และอาจมีการใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งหมดเป็นไลฟ์สไตล์คนวัย Millennials ที่จะย้อนกลับมามีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ดังนั้น หลังจากนี้ลองเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้เป็นคนนอนเร็ว ตื่นเช้า ออกกำลังกายสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 150 นาที นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง มีสมาธิมากขึ้น ทำให้เรียนและทำงานได้อย่างเต็มที่ตลอดวัน

 

 

เรื่อง : วารุณี มณีคำ

อ้างอิง : https://www.vice.com/en_us/article/evj98k/millennials-will-get-sick-and-die-faster-than-the-previous-generation และ : https://www.sciencedaily.com/

ภาพ : Freepik.com