posttoday

How to ใช้ชีวิตให้มีสุขหลังเกษียณ

11 ตุลาคม 2562

ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มต้นก้าวแรกบนถนนแห่งการเกษียณอายุ คนที่เตรียมตัวไว้ดีก็ไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก แต่ก็มีบางท่านที่อาจกลัวขั้นจิตตกว่าจะอยู่อย่างไรกับชีวิตหลังเกษียณ เพียงปรับความคิด "ไม่กลัวการปรับเปลี่ยน" เคล็ดลับคือค่อยๆ ปรับ

ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มต้นก้าวแรกบนถนนแห่งการเกษียณอายุ คนที่เตรียมตัวไว้ดีก็ไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก แต่ก็มีบางท่านที่อาจกลัวขั้นจิตตกว่าจะอยู่อย่างไรกับชีวิตหลังเกษียณ เพียงปรับความคิด "ไม่กลัวการปรับเปลี่ยน" เคล็ดลับคือค่อยๆ ปรับ ทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด อารมณ์ ทัศนคติ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คนที่ประสบความสำเร็จกับการเกษียณอายุ คือคนที่วางแผนก่อนเกษียณ บางคนวางแผนตั้งแต่เมื่อแรกเข้ารับราชการ ดูแลและเข้มงวดกับตัวเองตั้งแต่รายรับรายจ่าย เงินเดือนเดือนแรกยันเดือนสุดท้าย เงินออม การวางแผนเพิ่มพูนเงินออม หารายได้พิเศษ วันหยุดเวลาว่างไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าเลย แต่ขยันทำมาหากินหารายได้เสริม

ไม่เอาแต่เก็บ หากคิดวางแผนจัดการเงินที่มี หลายคนคำนวณรายได้รายรับเป็นระยะ เงินเดือนเงินได้และเงินบำนาญพึงได้ที่จะได้รับเมื่อถึงวันเกษียณ กลุ่มนี้จะตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพิ่มรายรับที่สามารถทำได้ บางช่วงต้องการเงินเพิ่ม ก็ไม่รบกวนเงินออม แต่จะขวนขวายหาทางหางานพิเศษเพิ่ม เพิ่มรายรับในส่วนที่ต้องการแต่ต้องไม่รบกวนงานหลัก ทำเท่าที่สามารถทำได้ มีแผนอาชีพสำรองตามความถนัด ตั้งแต่งานช่าง งานด้านภาษา ดนตรี กีฬา งานกสิกรรมฯลฯ

สร้างเครือข่าย นี่เป็นเรื่องจริงของชาวเกษียณ บางคนมีเครือข่ายหรือก๊วนเพื่อนร่วมรุ่นตั้งแต่สมัยประถม มัธยม วิทยาลัย มหาวิทยาลัย คบกันเหนียวแน่นไม่จืดจาง ช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ดูแลกันไม่เฉพาะเรื่องงานเรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องความสุข สุขภาพ แนวคิด เพื่อนคู่คิดคู่คุย คบหาสมาคม การมีเพื่อนมากและได้เพื่อนดี ย่อมได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลในการสร้างรายได้ งานที่ว่ายากหากมีเพื่อนแล้วไม่ต้องกลัวเลย เราช่วยเขา เขาก็ช่วยเรา

อย่าพะวงกับอายุ อายุ 60 แล้วไง ต้องเปิดหูเปิดตา ท่องเที่ยวพบปะผู้คนใหม่ๆ อย่าให้ตัวเองเรื้อสนาม เรียนรู้ต่อไป มองทุกสิ่งอย่างสร้างสรรค์ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง

อย่าวิตกกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อย่ากลัวไปก่อน อย่าคิดแทนคนอื่น วิตกแทนคนอื่น ผู้สูงวัยบางคนคิดเองเออเอง วิตกเอง เช่น กลัวลูกหลานจะไปไม่รอด กลัวการค้าถดถอย กลัวเสียหน้าเสียวงศ์ตระกูล ฯลฯ ทั้งหมดคิดไปเอง เพราะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงเลยสักอย่างเดียว คิดมากเกินไปก็ไม่ดี

ดูแลสุขภาพ สุขภาพคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนสูงอายุ ถ้าสุขภาพไม่ดีหมายถึงต้นทุนต่ำ ไปต่อได้ยาก ทั้งการคิด การทำ การพูด

รักษามาตรฐานของตัวเอง เรื่องนี้ก็สำคัญ อย่าคิดว่าแก่แล้วแก่เลย ไม่ปรับตัวปรับใจ ชีวิตจะสะดุดเพราะสิ่งแวดล้อมทุกอย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะไม่เปลี่ยนได้ยังไง เรื่องมาตรฐานเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่อย่างน้อยก็ต้องชั่งน้ำหนักทุกวัน ไม่อ้วนเกินไป ไม่ผอมเกินไป แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสะอาด สมาร์ท ปรายตาดูแฟชั่นบ้าง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ห่างไกลสิ่งเสพติด

ชีวิตยังต้องวางแผนต่อ เขียนแผนชีวิตล่วงหน้า หรืออย่างน้อยก็วางแผนไว้คร่าวๆ เช่น ปีนี้จะใช้เงินเท่าไรอย่างไร ทรัพย์สินที่ดินที่ใดจะขายตรงไหน ราคาเท่าไร จะไปเที่ยวต่างประเทศในปีไหนเดือนไหน ไปประเทศใดบ้าง ฯลฯ แค่คิดก็มีความสุขแล้วใช่มั้ย

How to ใช้ชีวิตให้มีสุขหลังเกษียณ

สำหรับสิ่งที่คนเกษียณทั่วโลกผิดพลาดคล้ายกันมีอยู่ 2 กรณี อย่างแรกคือ "สถานการณ์ Honeymoon Retirement" โดยเฉพาะคนเกษียณที่มีเงินก้อนใหญ่ออกมาครั้งเดียวหลังเกษียณ ส่วนใหญ่เงินจะหมดลงภายใน 5-10 ปี เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชดเชยตามกฎหมาย บางรายมีรายได้เดือนสุดท้าย 200,000 บาท และได้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมกับเงินชดเชยตามกฎหมาย 10 ล้านบาท แต่ผังสมองหรือความเข้าใจไม่เคยถูกฝึกให้รู้ว่า 10 ล้านบาท คือเงินเท่าใดของชีวิตที่เหลืออยู่

ส่วนอีกกรณีคือ "เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพที่บางรายอาจเตรียมไว้ไม่พอ" ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือดูแลสุขภาพ กินให้น้อย รับเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ มีสาระกับร่างกาย คืออาหารที่มีสารอาหารหลักครบ 5 หมู่ เคลื่อนไหวให้เยอะ มีความสุขกับชีวิต

How to ใช้ชีวิตให้มีสุขหลังเกษียณ

6 สิ่งที่ต้องคำนึงในการวางแผนการเงินเมื่อเกษียณอายุ

1.สำรวจเงินได้หลังเกษียณพร้อมคำนวณการใช้ เมื่อเกษียณเราจะได้รับเงินตามกฎหมาย เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชดเชยตามกฎหมาย บำนาญ เงินจากกองทุนชราภาพประกันสังคม หรือ RMF และอื่นๆ และเมื่อนำมารวมกันแล้วให้คำนวณว่าจะสามารถใช้ได้อีกกี่ปี ตามข้อถัดไป

2. ประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยประมาณจากอายุขัยเฉลี่ยของบรรพบุรุษ และบวกเพิ่มอีก 10 ปี เช่น อายุขัยบรรพบุรุษเฉลี่ย 75 ปี อายุขัยคือประมาณ 85 ปี หากเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี จึงจะต้องการใช้เงินไปอีก 25 ปี ซึ่งจะนำไปคำนวณ โดยนำ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 เดือน x จำนวนปีหลังเกษียณ = เงินที่จะต้องมีหลังเกษียณ ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกับค่าเงินเฟ้อ และเมื่อนำตัวเลขที่คำนวณได้ เทียบกับแหล่งเงินที่มีหลังเกษียณเพียงพอหรือไม่

3. บันทึกรายจ่าย เนื่องจากการใช้ชีวิตหลังเกษียณมักจะมีความเปลี่ยนแปลง ค่าใช้จ่ายบางรายการลดลง บางรายการเพิ่มขึ้น การบันทึกรายจ่ายจะทำให้รู้ค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ควรบันทึกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้เห็นค่าใช้จ่ายทุกรายการ

4. ทำงบประมาณรายจ่าย ใช้ข้อมูลจากการบันทึกรายจ่าย ทำงบประมาณรายจ่าย แยกแต่ละประเภทรายจ่าย บันทึกรายจ่ายตามงบประมาณ เพื่อให้รู้ตัวว่ามีค่าใช้จ่ายรายการใดใช้เกิน ก่อนเงินหมดแบบควบคุมไม่ได้

5. เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน สำรองไว้กรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกินจากงบประมาณที่คาดการณ์ไว้

6. หาอาชีพเสริมสุข สร้างรายได้ หลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายประมาณการแล้ว ถ้าเราเห็นว่าแหล่งเงินหลังเกษียณไม่พ่อ สิ่งที่เราต้องเตรียมคือ หาอาชีพ โดยอาชีพที่ค้นหาง่ายที่สุดคือ อาชีพเดิมที่เคยทำก่อนเกษียณ เพราะมีความชำนาญอยู่แล้ว อาจจะเป็นที่ปรึกษา รับเป็นจ๊อบ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ค้นหาอาชีพจากพรสวรรค์หรือความถนัดความชอบพื้นฐาน งานอดิเรก และแรงบันดาลใจ มาพัฒนาเป็นอาชีพ สำคัญที่สุดคือ อาชีพหลังเกษียณหากจำเป็นต้องลงทุน ให้ทดลองทำเล็กๆ ก่อน ได้ผลจึงจะขยายผลจากส่วนกำไร และมีความสุขกับการทำงานนั้น

 

ภาพ Freepik