posttoday

วัดกษัตราธิราช วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

16 กันยายน 2561

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อาจเป็นอีกวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จัก

โดย สืบสิน ภาพ : กรกิจ ดิษฐาน

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อาจเป็นอีกวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่ก็มองข้ามกันไป แต่สำหรับคนอยุธยาแล้วนั้น วัดนี้มีความผูกพันกันมาอย่างช้านาน

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวังหลัง หรือวังสวนหลวง เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม”

วัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง ไม่ปราฏหลักฐานแน่ชัด ขณะที่ชื่อของวัดชวนให้ท่านผู้รู้ส่วนมากสันนิษฐานว่า คงจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น ดังนั้นวัดนี้จึงมีชื่อว่าวัดกระษัตรา หรือวัดกระษัตราราม ซึ่งหมายความว่าเป็นวัดของพระมหากษัตริย์ หรือวัดของพระเจ้าแผ่นดิน

ส่วนตำบลที่ตั้งวัดมีชื่อว่า “บ้านป้อม” นั้นก็เป็นชื่อที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดให้สร้างป้อมไว้ที่นอกพระนครด้านตะวันตก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มีชื่อว่า “ป้อมจำปาพล” บริเวณที่ตั้งป้อมอยู่เหนือวัดท่าการ้องขึ้นไป ตรงข้ามปากคลองวัดภูเขาทอง ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังมีซากป้อมปรากฏอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย และวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณป้อมนั้นก็ยังเรียกชื่อว่า “วัดป้อม” อยู่ถึง 2 วัดด้วยกัน คือ วัดป้อมใหญ่ และวัดป้อมน้อย (วัดป้อมเหนือ วัดป้อมใต้ ก็เรียก) ปัจจุบันเป็นวัดป้อมใหญ่

วัดกษัตราธิราช วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

บริเวณด้านหลังวัดกษัตราธิราชมีทุ่งกว้างอยู่แห่งหนึ่ง เรียกกันมาแต่โบราณว่า “ทุ่งประเชต” มีวัดวรเชษฐตั้งอยู่ที่ชายทุ่งนี้ ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า เมื่อมังมหานรธายกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา มาตั้งค่ายล้อมกรุงที่ตำบลต่างๆ 8 แห่งทางทิศตะวันตกที่ตั้งวัดนี้ นอกจากนั้นเคยปรากฏว่าพม่าได้ยึดเอาที่นี่เป็นที่มั่นตั้งกองทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในพระราชพงศาวดาร

เมื่อครั้งในอดีต วัดกษัตราธิราชถูกข้าศึกทำลายอย่างยับเยินเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2310 หรือก่อนหน้านั้น เนื่องจากที่ตั้งวัดอยู่ไม่ไกลกับวัดท่าการ้อง วัดลอดช่อง และวัดวรเชษฐ ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งค่ายของพม่ามากนัก ผู้คนจึงพากันอพยพหลบหนีภัยสงคราม แม้พระสงฆ์ก็คงจะอยู่ไม่ได้ วัดจึงต้องร้างไปในที่สุด และคงจะตกเป็นวัดร้างมาเป็นเวลาหลายปี

เมื่อครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) กรมพระราชบวรสถานภิมุข (กรมพระราชวังหลัง) ได้บูรณะวัดกษัตรา และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดกษัตราธิราช”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ต้นราชสกุลอิศรางกูร ได้ปฏิสังขรณ์พระอารามในปี 2349 ให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นพระอารามหลวงลำดับที่ 9 จ.พระนครศรีอยุธยา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดกษัตราธิราชเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2520

วัดกษัตราธิราช วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

สถานที่สำคัญภายในวัดนี้ คือ พระประธานในพระอุโบสถที่มีแท่นฐานผ้าทิพย์ปูนปั้น ฝีมือประณีตงดงาม ใบเสมาของพระอุโบสถเป็นใบเสมาคู่แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง

นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธกษัตราธิราช มีขนาดองค์พระสูง 2.99 เมตร ฐานกว้าง 2.09 เมตร ตั้งอยู่บนฐานชุกชี ในลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ใบหน้าลักษณะรูปสี่เหลี่ยม เม็ดพระศกมีขนาดเล็ก เหนือจากพระอุษณีษะ คือ เกตุมาลาทำเป็นรัศมีเปลว องค์พระครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวจรดพระนาภีปลายแยกออกเป็นเขี้ยวตะขาบ

ต่อมามีการลงรักปิดทองประดับอย่างงดงาม ส่วนกลางฐานชุกชี ทำเป็นผ้าทิพย์ปั้นเป็นลายประเภทราชวัติ ประดับประจำยาม ปั้นเป็นลายก้านขดมีการออกลายเป็นสัตว์หิมพานต์ ด้านล่างปั้นเป็นลายกรวยเชิง ลักษณะคล้ายกับผ้าทิพย์

สำหรับพระอุโบสถมีขนาด 9 ห้อง กว้าง 22 เมตร ยาว 46 เมตร ผนังก่ออิฐเจาะช่องแสงแบบเสาลูกมะหวด ด้านหน้าพระอุโบสถมีบันไดขึ้น 2 ทาง ช่องกลางก่อเป็นซุ้มบัญชร ช่องหน้าต่าง ด้านหลังมีมุขเด็จ ทำเป็นบันไดขึ้น 3 ทาง ที่ประตูกลางของมุขเด็จ ด้านหลังก่อเป็นซุ้มกั้นห้องประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ปางปาลิไลยก์

วัดกษัตราธิราช วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

ส่วนหลังคาพระอุโบสถช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ประกอบด้วยเครื่องไม้หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบู หรือกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา หน้าบันทั้ง 2 ด้าน จำหลักลายดอกพุดตาน มีสาหร่ายรวงผึ้งคั่นสลับระหว่างเสา ลงรักปิดทองประดับกระจก มีคันทวยรองรับระหว่างชายคา ที่แกะสลักอย่างงดงาม สืบทอดรูปแบบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา

ภายในพระอุโบสถยังเป็นเสากลมมีบัวที่หัวเสาเป็นแบบดอกบัวตูมจำนวน 6 คู่ รองรับเครื่องบน เพดานเขียนลายทองเป็นลายราชวัติ ดอกกลมและพุ่มข้าวบิณฑ์ สลับกันเป็นระยะบนพื้นสีแดง เพดานสลับไม้ลงรักปิดทอง พื้นภายในพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลีที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานแด่พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธัมมสิริโชติ) อดีตเจ้าอาวาส เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากการก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร