posttoday

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

03 เมษายน 2559

เมื่อเทคโนโลยีจู่โจมชีวิตของคนเราถึงขีดสุด ทุกอย่างรอบตัวดูวุ่นวายและรวดเร็วจนน่าใจหาย

โดย...สมแขก ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล

เมื่อเทคโนโลยีจู่โจมชีวิตของคนเราถึงขีดสุด ทุกอย่างรอบตัวดูวุ่นวายและรวดเร็วจนน่าใจหาย หลายคนจึงรู้สึกโหยหาเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา และอาจมองหาสถานที่ซึ่งจะทำให้ระลึกถึงความหลัง อาจจะย้อนไปยังครั้งวัยเยาว์หรือนานกว่านั้น ถ้าหากยังนึกไม่ออกว่าจะไปไหน ลองเตร็ดเตร่ไปแถวถนนพุทธมณฑลสาย 2 ระหว่างซอย 19 และ 21 มีพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ชื่อ “พิพิธภัณฑ์สุขสะสม” จะพาเราย้อนและหยุดเวลาของเราไว้จนลืมความเป็นไปภายนอกเลย

พิพิธภัณฑ์สุขสะสม เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่เปิดในปี 2558 ก่อตั้งโดย ชัยโรจน์ เจริญทวีสิทธิ์ (เฮียเม้ง) และธีรวัฒน์ เจริญทวีสิทธิ์ บุตรชาย ข้าวของที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นของสะสมส่วนตัวที่สะสมนานกว่า 30 ปี ของผู้เป็นพ่อ ซึ่งทั้งสองมีความตั้งใจจะสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและผู้สนใจประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดดิสเพลย์ไว้ได้น่าสนใจ ตั้งแต่ทางเข้าที่จำลองบรรยากาศภายในไว้อย่างน่ารัก มีทั้งของเล่น ของสะสม และของตกแต่งบ้าน ตลอดจนจำลองวิถีชีวิตของชาวไทยในสมัยโบราณในสภาพสมบูรณ์เกือบ 100% รวมแล้วกว่า 250 ประเภท เช่น ของเล่นสังกะสี เครื่องเสียงโบราณ โทรศัพท์โบราณ เงินพดด้วง แบบเรียน ชุดเครื่องเขียน เป็นต้น

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

ทันทีที่ได้รับบัตรผ่านและเดินตามลูกศรที่มีทั้งสีส้มและสีน้ำเงิน ก็เริ่มหยุดเวลาได้เท่าที่เราต้องการ ใช้เวลาซึมซับความรู้และความเพลิดเพลินในอดีตได้ภายในอาคาร 2 ชั้นแห่งนี้ สุขสะสมแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 5 โซน ที่จัดแสดงไว้อย่างเป็นหมวดหมู่เรียบร้อยดีทีเดียว

โซนแรก คือ วิวัฒนาการของเล่น จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของของเล่นโบราณ วิวัฒนาการของของเล่นทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ได้เห็นหน้าตาของเล่นที่ทำจากเซลลูลอยด์จนกระทั่งเป็นพลาสติก โดยมีของเล่นรูปร่างและหน้าตาแปลกๆ จัดแสดงอยู่มากกว่า 3,000 ชิ้น พร้อมวิดีโอที่บอกเล่าเรื่องราวของเล่นตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ยังคงอยู่ที่ชั้น 1 แต่เดินเรื่อยมาโซนที่ 2 ซึ่งจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีต จัดแสดงของใช้ใกล้ตัวที่หายากมากกว่า 50 ประเภท ทั้งกระปุกออมสินสำหรับหยอดพดด้วง ตัวอย่างเงินพดด้วงที่ใช้ค้าขายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกของไทย เตารีดโบราณสมัยรัชกาลที่ 2 โทรศัพท์แมกนีโตในสมัยรัชกาลที่ 5 และเครื่องเล่นกระบอกเสียงก่อนจะมาเป็นแผ่นเสียง

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

ขึ้นบันไดตามลูกศรมายังชั้นลอยจะพบโซนที่ 3 ซึ่งหนอนหนังสือจะต้องตื่นตากับบรรดาสิ่งพิมพ์โบราณที่จัดแสดงไว้อย่างดี แค่โซนนี้โซนเดียวก็ทำเอาเราเพลินจนลืมหิว สื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้เห็นสะท้อนค่านิยม วัฒนธรรม และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยผ่านภาพและตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียนสมัยต่างๆ ใบขออนุญาตมีภรรยา การออกลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท (ลอตเตอรี่ใบแรกของสยาม) ใบปิดโฆษณา หนังสือพิมพ์ และจดหมายราชการที่สะท้อนการใช้ภาษาไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเรื่องราวการผลิตกล่องไม้ขีดไฟ

เมื่ออิ่มเอมกับอักขระอักษรในโซนที่ 3 แล้ว ก็ขึ้นบันไดต่ออีกเล็กน้อยไปที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนที่จัดแสดงโซนที่ 4 ก็จะตระการตากับเหล่าของจิ๋วที่จำลองข้าวของเครื่องใช้ เป็นวิวัฒนาการของตลาดในเมืองไทยจากหาบเร่แผงลอย พัฒนาไปเป็นร้านรวงแบบต่างๆ รวมทั้งจำลองอาชีพโบราณที่บางส่วนไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน เช่น หาบเร่ขายกระเพาะปลา การเขียนอักษรจีน รวมถึงการจำลองรถรางที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นยานพาหนะหลักในพระนคร ขณะเดียวกันก็แทรกความรู้การสร้างรถรางสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้ด้วย แม้ว่าเรากำลังดูของจิ๋วอยู่ แต่ก็ให้บรรยากาศประหนึ่งว่าอยู่ในตลาดที่รุ่งเรืองในอดีต เพียงแต่ย่อส่วนเอาไว้เท่านั้น

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

ส่วนสุดท้ายคือโซนที่ 5 เป็นบรรยากาศตลาดเก่าย้อนยุคเมื่อราว 50-70 ปีที่แล้ว มีทั้งร้านทองเก่าแก่ในเยาวราช ร้านจำหน่ายแผ่นเสียง จำลองห้องเรียน ร้านเครื่องเขียน และโรงภาพยนตร์ในอดีต ฯลฯ โซนนี้เหมาะกับคนที่ชอบถ่ายรูป เพราะคุณสามารถแต่งตัววินเทจมาถ่ายรูปกับบรรยากาศนี้ได้เลย นอกจากจะอิ่มเอมใจแล้วก็ได้ภาพสวยๆ กลับบ้านไปด้วย

พิพิธภัณฑ์สุขสะสมตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 2 ระหว่างซอย 19 และ 21 เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ปิดวันพุธ) เวลา 10.30-18.00 น. ซื้อบัตรเข้าชมสำหรับคนไทย 100 บาท เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี 50 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท ด้านหน้ามีร้านอาหารและเครื่องดื่มไว้สำหรับคนที่ละเลียดอดีตจนท้องหิว หรือเด็กๆ ที่อยากรู้จักของเล่นโบราณก็สามารถซื้อหาได้ สอบถามเส้นทาง โทร. 08-6899 -9208 เฟซบุ๊ก : Facebook.com/พิพิธภัณฑ์สุขสะสม Suksasom museum

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม

 

เมื่อเวลาหยุดเดินที่ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม