posttoday

นก‘หลายผัว หลายเมีย’

02 กุมภาพันธ์ 2556

มีโอกาสไปนั่งเรือถ่ายภาพสารพัดนกและดอกบัวสวยๆ ที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ นับครั้งไม่ถ้วน

มีโอกาสไปนั่งเรือถ่ายภาพสารพัดนกและดอกบัวสวยๆ ที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ นับครั้งไม่ถ้วน

โดย...จำลอง บุญสอง

มีโอกาสไปนั่งเรือถ่ายภาพสารพัดนกและดอกบัวสวยๆ ที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ นับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยเบื่อเลยสักครั้ง ล่าสุดร่วมขบวนไปกับเด็กและอาจารย์สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์สุพรรณบุรีและนครสวรรค์ รวม 100 คน ในโครงการ“สะพายกล้อง ส่องนก บึงบอระเพ็ด”ซึ่งSponsorโดย“คุณสุรชัย ศรีพลอย”ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุทัยธานี

งานนี้จบลงอย่างประทับใจแถมมีเสียงเรียกร้องให้จัดอีก เพราะนักศึกษาได้รู้ได้เห็นทั้งนิเวศของทั้งสัตว์และพืชค่อนข้างจะสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็เพลิดเพลินไปกับ“ห้องเรียนธรรมชาติ”ที่น่าตื่นตา

ยิ่งได้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกอย่าง“คุณวิชา นรังศรี”ผู้จัดการ ฝ่ายอนุรักษ์ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย“คุณมังกร จินดาหอม”หัวหน้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด และได้ฟังเทคนิคการถ่ายภาพจากช่างภาพหลายๆ คน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่านักศึกษาบางคนแม้ไม่เคยถ่ายรูปมาก่อน (บางคนใช้โทรศัพท์ถ่าย) แต่ก็สามารถคว้ารางวัลไปครองได้

บึงบอระเพ็ดที่คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นบึงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งๆ ที่บึงนี้เป็นบึงที่กั้นขึ้นมาจากการไหลหลากของน้ำเหนือโดยคำแนะนำของ ดร.ฮิวจ์ เอ็ม สมิท ชาวอเมริกัน ซึ่งไปสำรวจเมื่อปี 2471 ให้กระทรวงเกษตราธิการหรือกระทรวงเกษตรในสมัยนั้น กระทรวงเกษตราธิการจึงขอพระบรมราชานุญาตสงวนพื้นที่เอาไว้เก็บน้ำ ทำเสร็จสมบูรณ์ในปี 2471 แต่ปัจจุบันเหลือพื้นที่ในกระดาษเพียง 132,737 ไร่ (เพราะประชาชนรุกมาทำกินมาก) ครอบคลุม อ.เมือง อ.ท่าตะโก และ อ.ชุมแสง โดยมีการแบ่งเขตรักษาพืชพันธุ์ออกเป็น 2 เขต คือ เขตที่ 1 เป็นเขตหวงห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงโดยเด็ดขาด มีเนื้อที่ 38,850 ไร่ เขตที่ 2 เป็นเขตหวงห้ามที่อนุญาตให้ราษฎรทำการประมง โดยใช้เครื่องมือบางชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้ มีเนื้อที่ 93,887 ไร่

หลายคนอยากรู้ว่าจระเข้น้ำจืดสมัยที่คนยุคโน้นนั่งรถไฟผ่านแล้วเห็นยังเหลืออยู่หรือไม่ คุณมังกรConfirmว่า ตอนนี้ไม่มีเหลือสักตัวเช่นเดียวกับ“ปลาเสือตอ”ที่สูญพันธุ์ไปจากบึงนี้นานแล้ว

ขณะสำหรับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่หายากนั้น หลายฝ่ายก็วิเคราะห์ตรงกันว่าน่าจะสูญพันธุ์ เพราะหลังจากพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2524 แล้วก็ไม่มีใครพบเจออีกเลย

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกโบราณ ซึ่งอาจจะไม่มีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย

หลายคนตั้งคำถามว่า การดูนกทำไมจึงต้องไปดูทั้งช่วงเช้าและเย็น คำตอบก็คือ 2 ช่วงเวลาดังกล่าวจะได้ภาพความงามของแสงและการใกล้ชิดกับนกกันไปคนละแบบ

ดูตอนเช้ามืดก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น เราจะได้เห็นแสงแรกของวัน แสงแรกมาพร้อมกับนกจำนวนนับพันนับหมื่นที่โผบินไปบนฟ้าก่อนทิ้งตัวลงหากิน ส่วนตอนเย็นก็ไปดูแสงสุดท้ายก่อนพระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้าไปพร้อมๆ กับนกกำลังบินกลับรัง อธิบายไม่ถูกว่าช่วงแสง ช่วงนกบินแบบไหนจะสวยกว่ากัน

แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว ตอนเช้านอกจากนกจะทะยานขึ้นไปบนฟ้าสวยแล้ว เราก็ยังได้เห็น“ดอกบัวบาน”อวดสีสันล่อตานักท่องเที่ยวอีกด้วย (บัวสายจะบานตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึง 11 โมงเช้า แต่ถ้าแดดแรงมันก็จะหุบตั้งแต่ 10 โมง

และด้วยเหตุที่บัวแดงบานตั้งแต่ 4 ทุ่ม นั่นเองที่“วังบัวแดง”หนองคายจึงมีการจัดทริปให้คนไปดูบัวแดงกันตอนกลางคืน) ทว่าแดดเย็นก็จะได้ภาพย้อนแสงที่สวยกว่าตอนเช้า

ได้เห็นชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ในบึงบอระเพ็ด ทั้งเก็บสายบัว จับปลาด้วยตาข่ายและลอบยืนกันเป็นจุดๆ

นกติดตาข่ายผมไม่เคยเห็น แต่นกที่ติดลอบยืนผมเห็นมากับตา หวังว่าคนจับปลาคงจะปล่อยนกไปนะครับ

การถ่ายนกให้สวยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เพียงแต่จะต้องอาศัยจังหวะที่ดี สายตาที่ดีเท่านั้น อุปกรณ์และเลนส์ความยาวโฟกัสสูงๆ ก็จำเป็นด้วย เพราะนก“มีระยะปลอดภัย”ที่ไม่ให้คนเข้าใกล้มันมากนัก อย่างนกเป็ดผี ถ้าเห็นมันว่ายน้ำอยู่ตรงหน้าสัก 50 เมตร อึดใจเดียว มันดำน้ำไปตรงไหนแล้วก็ไม่รู้ ขณะที่ฝูงเป็ดแดงที่มีเป็นหมื่นๆ อยู่ตามริมบึง พอได้ยินเสียงเรือหางยาวก็จะพร้อมใจกันบินขึ้นบนท้องฟ้าทันที ถ้าไม่มีเลนส์ยาวๆ ก็ไม่มีทางถ่ายรูปมันได้ หรือถ่ายได้แต่เล็กเท่าหัวไม้ขีด

ลุงพนม คราวจันทร์ทึก คนเก่าคนแก่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด (เกษียณมา 3 ปีแล้ว) เป็นคนขับเรือหางยาวและนักเล่าเรื่องราวของนกชนิดต่างๆ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของบึง นักถ่ายภาพนกอาชีพแทบจะทุกคนในประเทศไทยล้วนอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของลุง มาแปรเป็นภาพถ่ายสวยๆ กันนักต่อนักแล้ว

ลุงพนมเล่าว่าช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค. จะมีนกเป็ดน้ำอพยพมาที่บึงแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ที่มากันเยอะๆ ก็คือ ทั้งเป็ดแดง เป็ดลาย และเป็ดหางแหลม รองลงมาเป็นเป็ดดำหัวสีน้ำตาล เป็ดปากพลวก เป็ดปากสั้น ถ้าเป็นพวกหายากก็คือเป็ดผีใหญ่ เป็ดผีคอดำ เป็ดพม่า เป็ดหงส์ ซึ่งในหนึ่งฤดูบางครั้งก็มา บางครั้งก็ไม่มา

สำหรับนกเจ้าชู้ หรือ“นกหลายผัว”มีชื่อว่า“อีแจว”นกนี้ใช่จะมีแต่เฉพาะที่บึงบอระเพ็ดเท่านั้น ถ้าใครไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ก็อาจจะได้เจอเจ้านกชนิดนี้ด้วยเช่นกัน

ลุงพนมเล่าว่า“อีแจว”เป็นนกประจำถิ่นมีเยอะ มักจะเดินไต่ดอกบัวจิกแมลงกิน นกอีแจวตัวเมียในหนึ่งฤดูจะใช้ตัวผู้ถึง 4-5 ตัว ไข่เสร็จก็จะให้“ตัวผู้”ฟัก แล้วมันก็จะเดินไปหาคู่ใหม่

นกเจ้าชู้ตัวนี้ช่วงฤดูผสมพันธุ์สร้อยของมันจะเป็นสีทอง เนื่องจากมีหางที่ยาวมาก เราจึงเรียกมันว่า

“ราชินีบึงบอระเพ็ด”

ตัวผู้กกไข่จนออกเป็นตัว ออกแล้วก็ยังจะเลี้ยงลูกไปจนกระทั่งลูกโต โดยใช้เวลาตั้งแต่ 1 เดือนถึงกว่า 2 เดือน ระหว่างนั้นตัวผู้ตัวนั้นจะ“ไม่มีคู่ใหม่”วนเวียนอยู่กับลูกตลอดเวลา พอถึงฤดูใหม่จึง“มีเมียตัวใหม่”ลุงเองก็ไม่แน่ใจว่า“เมียใหม่”ของมันจะเป็น“เมียตัวเดิม”หรือไม่

นกอีแจวผิดกับนกกระจาบ นกกระจาบตัวผู้จะทำรังโชว์ก่อน ถ้าตัวเมียตัวไหนชอบก็ให้สานต่อ ตัวมันจะไปก่อรังใหม่ ถ้าตัวเมียตัวไหนชอบก็ทำรังต่อไปเรื่อยๆ นกกระจาบต่างกับนกอีแจวตรงที่ใช้เมียเปลือง เพราะมันใช้ตัวเมีย 4-5 ตัวในหนึ่งฤดู

นกกระจาบนั้นมีอยู่ 3 ชนิด คือ กระจาบทอง กระจาบลาย และกระจาบธรรมดา นกกระจาบหล่อตัวผู้เป็นสีทองทั้งตัว โดดเด่นมาก ส่วนตัวเมียจะมอซอดูไม่ดีเท่า

เรื่องนกอีแจวชาวบ้านดูแล้วก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะรู้ว่าตัวเมียเป็นนกเจ้าชู้ตัวจริงเสียงจริง แต่เขาจะพูดเล่นสำหรับหญิงที่มีแฟนหลายคนว่า“เจ้าชู้เหมือนอีแจว”

เอ...ทำไมคนถึงไม่เปรียบเทียบว่า“เจ้าชู้เหมือนนกกระจาบ (ตัวผู้) บ้างก็ไม่รู้”

อ่านเรื่องนี้แล้วเงียบเอาไว้นะครับ อย่าไปบอกพวกนักสิทธิสตรีล่ะ

ลุงบอกว่า ที่ผ่านมามีฝรั่งและคนไทยมาศึกษาวิจัยเรื่องอีแจวกันหลายคน ทั้งระดับปริญญาเอกและปริญญาโท นั่นแสดงว่ามันเป็นนกที่น่าสนใจจริงๆ

นกพริกนั้นเป็นนกตระกูลเดียวกับนกอีแจว แต่จะเลี้ยงลูกเป็นครอบครัว เป็นนกที่สวยเพราะมีสร้อยเหมือนกัน แต่นกพริกจะไม่ผลัดเปลี่ยนขนต่างกับนกอีแจวที่จะเปลี่ยนขนเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์

ในฐานะที่อยู่บึงบอระเพ็ดมานานกว่า 30 ปี ลุงพนมพูดถึงข่าวดีว่า ยิ่งนานวันประชากรนกก็ยิ่งมากขึ้นๆ สมัยที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ มีแค่ 80 กว่าชนิด ตอนนี้มีถึง 248 ชนิด ลุงเล่าว่าสมัยก่อนมีพวกตำรวจ ทหาร ที่มีปืนชอบมายิงนก แต่ตอนนี้หายไป เพราะมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกมากขึ้นนั่นเอง

เอ้อ...เพิ่งรู้ว่าการท่องเที่ยว (ผิดๆ) ไม่เพียงแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งยังรักษาสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกันนะ