posttoday

คนละไม้คนละมือ ร่วมสร้าง‘เมืองน่าอยู่’

13 มีนาคม 2562

ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนทุกคนบนโลก

เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา, ชุติมา สุวรรณเพิ่ม

ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนทุกคนบนโลก เป็นปัญหาสำคัญที่คนในทุกสาขาอาชีพต้องให้ความสำคัญร่วมหาทางออกอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพสถาปนิก ที่การทำงานส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมืองและชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ และวิธีการก่อสร้าง ฯลฯ

ก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน

ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์ ประธานสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรรมการสถาบันอาคารเขียวไทย และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองอย่างน่าสนใจต่อแนวทางการสร้างสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืนว่า ทุกสาขาวิชาชีพล้วนมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสังคม สำหรับประเทศไทยเอง นอกจากจะต้องมีการกำกับกฎหมายผังเมืองให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทันกับการเติบโตของเมือง ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตลอดจนคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอ

“จริงๆ ตอนนี้กฎหมายผังเมืองก็มีการอัพเดทอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ควรลงลึกไปกว่านั้น คือ การสื่อสารกับประชาชนให้ทราบถึงความเชื่อมโยงของตัวบ่งชี้ความสำเร็จของเป้าหมายของเมืองกับกฎหมายผังเมืองที่มีว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไรให้ชัดเจน ขณะที่ผู้ดูแลกฎหมายควรดูแลและก่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง

ที่ขาดไม่ได้คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต เช่น ความต่อเนื่องของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารรถสาธารณะ รถไฟฟ้า เรือ จักรยาน หรือการเดินเท้า เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะถ้าการเดินทางเชื่อมโยงได้อย่างสะดวกสบายและมีทางเลือก ย่อมส่งผลให้คนเมืองมีแนวโน้มลดการใช้รถใช้ถนน ช่วยลดฝุ่น ลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดสภาวะน่าอยู่ตามไปด้วย”

สำหรับแนวทางจากต่างประเทศที่ ดร.อัจฉราวรรณมองว่า น่าจะนำมาปรับใช้ในบ้านเรา คือ สิงคโปร์ เพราะแม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่มีพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรสูงกว่ากรุงเทพฯ มาก ที่สำคัญมีกฎระเบียบในการกำกับดูแลที่ดี

“เราอาจไม่จำเป็นต้องทำตามสิงคโปร์หมดทุกอย่าง แต่เลือกนำมาปรับใช้บางอย่าง เช่น การพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่าย มีจัดการโซนนิ่งพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะให้มาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ ที่สำคัญปลูกต้นไม้ให้เยอะ จะเห็นว่าถึงสิงคโปร์จะมีสภาพอากาศคล้ายบ้านเรา แต่เขาไม่ร้อนเท่าเพราะมีต้นไม้ให้ร่มเงา คอยบังรังสีอาทิตย์ ช่วยจับฝุ่น มีการออกแบบอาคารให้รับลมธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สำหรับประเทศไทยเอง นอกจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ อาทิ นักออกแบบ ตลอดจนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องไม่คำนึงถึงแต่ผลตอบแทนและความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องมองถึงการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.อัจฉราวรรณ ยกตัวอย่างแนวทางที่พอให้เห็นภาพว่า เริ่มตั้งแต่การเลือกทำเลให้ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ ออกแบบอาคารที่ลดการใช้น้ำและพลังงาน จัดให้มีพื้นที่สีเขียวร่มไม้ร่มเงาสำหรับบังแดด บังฝน คำนึงถึงระบบนิเวศ เลือกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล หรือดูดกลืนความร้อนไม่มากสำหรับทำพื้นแทนคอนกรีต มีระบบเก็บกักน้ำฝนเพื่อนำน้ำกลับไปใช้ใหม่ได้ ลดปริมาณขยะในโครงการ

คนละไม้คนละมือ ร่วมสร้าง‘เมืองน่าอยู่’

ตลอดจนออกแบบโดยใช้ศักยภาพของสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนำแสงธรรมชาติเข้าในอาคารไม่นำความร้อนเข้ามาเป็นภาระเครื่องปรับอากาศ หรือการนำ Building Information Modeling (BIM) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้าง ลดการสิ้นเปลือง จากการประเมินจำนวนวัสดุที่ขาดเกิน หรือการผลิตชิ้นงานในการก่อสร้างอาคารจากซอฟต์แวร์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดทั้งรูปแบบและคุณภาพ

“ขณะที่ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารควรระมัดระวังในเรื่องเสียง ฝุ่น กลิ่น น้ำเสียในระหว่างก่อสร้างไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนของเพื่อนบ้าน เช่น การทุบรื้ออาคาร การขนย้ายวัสดุหิน ดิน ปูนทราย จากแหล่งผลิตเข้าหรือออกจากไซต์งาน ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่นละออง“

ดร.อัจฉราวรรณ ทิ้งท้ายว่า ความฝันที่จะสร้างสถาปัตยกรรมไทยอย่างยั่งยืนนั้นยังมีอยู่ ขอเพียงทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสื่อต้องมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ ปลุกจิตสำนึกให้กับคนในสังคมอย่างถูกต้อง ช่วยยกระดับสังคมไทยไปด้วยกัน”

ระดมสมอง “ลด-ต้าน”

มลพิษทางอากาศ

เสวนาสาธารณะ โต้โผจัดโดย สถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร หรือ Thailand Global Warming Academy หรือ TGWA ครั้งที่ 11 เรื่อง “ข้อมูลใหม่-มลพิษอากาศ PM2.5 ประเทศไทย เดือน ม.ค. 2562” จัดไปในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ช่วงฝุ่นกำลังฟุ้งกระจายทั่วเมืองหลวง

โดยร่วมกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เชื้อเชิญ 6 วิทยากรคร่ำหวอดในวงการสิ่งเเวดล้อม ได้แก่ ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งเเวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม สิงห์ อินทรชูโต ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุศราศิริ ธนะ ผู้เชี่ยวชาญอุตุนิยมวิทยา TGWA อัมรินทร์ ดรัณภพ ที่ปรึกษาล็อกซเล่ย์ ระดมสมองถกปัญหาระดับชาติที่เกิดช่วงฤดูหนาวในต้นปี

ธนวัฒน์ได้ให้ข้อมูลของลักษณะการตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศและ PM2.5 ที่ใช้ในประเทศไทย เช่น การใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Lidar หรือ Light Detection and Ranging หรือ Laser Radar และมีการให้ข้อมูลของปรากฏการณ์ Temperature Inversion โดยแบ่งประเภทออกเป็น 4 ประเภท

ประเภทแรก Nighttime or radiation Inversion ประเภทที่ 2 Frontal Inversion ประเภทที่ 3 Marine Inversion ประเภทที่ 4 Subsidence Inversion

ธนวัฒน์แสดงสถิติการวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 โดยอ้างอิงข้อมูลจากสถานีตรวจคุณภาพอากาศและกรมควบคุมมลพิษ ในช่วงวันที่ 4 ม.ค.-4 ก.พ.ที่ผ่านมา ช่วงเวลา 19.00-06.00 น. มีปริมาณฝุ่นละอองมากที่สุด โดยในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พบการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เพิ่มขึ้นกว่าปริมาณฝุ่นในช่วงวันธรรมดา

อาจารย์จากหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า ปริมาณฝุ่นดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของคนในแต่ละพื้นที่ ถ้าเป็นในเมืองที่มีการจราจรแออัดแล้วโดยนิสัยคนไทยนิยมใช้เครื่องคันใหญ่ เครื่องดีเซลขับแรงๆ เร็วๆ ขณะที่เมืองใหญ่ในยุโรปจะใช้รถคันเล็กเพื่อลดมลภาวะ

พฤติกรรมเคยชินเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเกิด PM2.5 อีกทั้งได้มีการชี้แจงว่าปริมาณฝุ่นละอองในอากาศจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อวัดระดับความสูงของพื้นที่

“ยิ่งมีความสูงจากพื้นมาก ยิ่งมีปริมาณฝุ่นละอองลอยตัวในอากาศมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้กลุ่มคนมีความเสี่ยงในการรับฝุ่นละออง PM2.5 เข้าสู่ร่างกายคือกลุ่มผู้อาศัยบนคอนโดมิเนียม หรืออาคารสูงระดับ High Rise ที่ไม่มีเครื่องฟอกอากาศภายในอาคาร”

ธนวัฒน์จากหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เสนอมาตรการในการรับมือกับฝุ่นละอองภายในอากาศ ชี้แจงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น

ข้อแรก รัฐบาลควรบรรจุโครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั้งระบบของประเทศ เข้าสู่โครงการเร่งด่วนในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติทันที

ข้อ 2 จัดให้มีแผนแม่บทในระยะยาว โดยเฉพาะมาตรการป้องกันและลดมลพิษฝุ่น PM2.5 ของประเทศตั้งแต่แหล่งกำเนิดในทุกภาคส่วน เช่น ภาคการขนส่งและคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคครัวเรือน และการแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน อีกทั้งแก้ปัญหาเมือง

ข้อ 3 เร่งการศึกษาวิจัย ค้นหากลไก ตรวจติดตามเฝ้าระวังปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบ รวมถึงการวางระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสังคมล่วงหน้าในการรับมือปรับตัวต่อพิษจากมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ข้อ 4 รัฐบาลต้องรีบเร่งประกาศให้เครื่องฟอกอากาศเป็นสินค้าควบคุมที่จำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน โดยปรับภาษีสินค้าให้เป็นศูนย์ เพื่อให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงและซื้อได้ในราคาถูก

ข้อ 5 ภาครัฐต้องมีกลไกปฏิบัติงานตอบสนองค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานขึ้นมาทันทีสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือกรณีเร่งด่วน (Emergency Response) อย่างเป็นระบบ

สุรัตน์นำเสนอวิธีการวัดคุณภาพอากาศ โดยการนำเครื่องมือวัดใส่ Robot ให้ปีนขึ้นตึกสูงไปวัดคุณภาพอากาศตามระดับความสูงต่างๆ โดยข้อมูลที่วัดได้เป็นข้อมูลแบบ Real-time โดยวิธีการวัดคุณภาพอากาศดังกล่าวนี้เรียกว่า Vertical Variation of PM2.5 concentration

ในวันที่ 30-31 ม.ค.ที่ผ่านมา สุรัตน์ อธิบายผลจากการวัดคุณภาพว่า มีการพบ Inversion ในอากาศสูงถึง 4 กิโลเมตร โดยวิธีการวัดฝุ่นละอองดังกล่าวเป็นการศึกษากลไกธรรมชาติของฝุ่นละออง ที่ไม่ได้เกิดจากแหล่งกำเนิดฝุ่นซึ่งมาจากพฤติกรรม http://dcx.bangkokpost.co.th/device_bkp_prev3/2019/02-28/a5/cd/file749ymszceuuixcmr1a3z.jpg ของมนุษย์ รวมทั้งการศึกษาทิศทางของลม และแหล่งฝุ่นที่ลอยอยู่ภายในชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ สุรัตน์ กล่าวถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง PM2.5 ที่ต้องแก้ไข 4 แหล่ง ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) ไฮโดรคาร์บอนที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ที่มาจากยานพาหนะ และความร้อนจากการจราจรคับคั่งบนถนน

คณบดีคณะสิ่งเเวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการสร้างแนวต้นไม้โดยปลูกลึก 10 เมตรในตัวตึก โดยต้องพิจารณาตำแหน่งการปลูก เพราะหากมีแนวต้นไม้เพียงแนวเดียว จะไม่สามารถกันเสียงและฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การสร้างแนวปลูกต้นไม้ยังช่วยลดพื้นที่ซึ่งมีความร้อน เพื่อสร้างความแตกต่างของอุณหภูมิเพื่อทำให้เกิดลมในการทำให้ฝุ่นละอองลงสู่พื้น

ฐานะคนทำงานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม พิสุทธิ์ เสนอโครงการด้านวิศวกรรมในการวัดคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองภายในอากาศ โดยมีการนำงานวิจัยที่สำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับ Inversion, Climate Change และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ไปจนถึงโครงการการออกแบบผังเมืองที่สร้างการระบายอากาศที่ดี รวมถึงการสร้างอุปกรณ์ระบบ Sensor วัดคุณภาพอากาศ เพื่อกระจายการตรวจวัดภายในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้นเหล่านี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นจิ๋วในปีหน้าที่จะมาในช่วงฤดูหนาว และจะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว และจะต้องเตรียมมาสก์ปิดจมูกเผชิญหน้ากับมันอีกครั้งแน่นอน