posttoday

ฝ่าวิกฤต ค่าครองชีพในเมืองกรุง

20 กุมภาพันธ์ 2562

อกแทบแตกเมื่อทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถึงสิ้นเดือนมีเงินเหลือไม่กี่ร้อยบาท บางคนติดลบ ชักหน้าไม่ถึงหลัง

เรื่อง มัลลิกา นามสง่า

อกแทบแตกเมื่อทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถึงสิ้นเดือนมีเงินเหลือไม่กี่ร้อยบาท บางคนติดลบ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ดึงเงินตรงนั้นมาโปะตรงนี้ สุดท้ายไม่พ้นการเป็นหนี้ ที่นับวันยิ่งก่อดอกเบี้ยเพิ่ม

ใช้เงินเดือนชนเดือน ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดที่ชินปากเท่านั้น แต่มันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นชัดเจนในวงกว้าง เมื่อค่าแรงเงินเดือนไม่ขยับ แต่ค่าครองชีพสวนทางพุ่งสูง

เสียงสะท้อนค่าครองชีพสูงยังดังต่อเนื่อง ใครที่ยังไม่สะดุ้งสะเทือนเมื่อปีที่แล้ว มาปีนี้ก็เริ่มออกอาการร้อนๆ หนาวๆ สังเกตได้จากอำนาจการจับจ่ายที่ลดลง ประหยัดใช้สอยมากขึ้น แม้ว่าจะมีการกระตุ้นการตลาดด้วยการลดราคาสินค้าก็ตาม

กรุงเทพฯ ค่าครองชีพสูงอันดับ 2 อาเซียน

นัมเบโอ เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยดัชนีค่าครองชีพทั่วโลก ปี 2562 โดยคำนวณจากค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าอาหารในร้านอาหาร ค่าเช่าที่พักอาศัย และกำลังซื้อของประชากรในเมือง พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าบ้านอยู่ที่ราว 2.1 หมื่นบาท/เดือน ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 7.58 หมื่นบาท/เดือน

รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดของคนกรุงเทพฯ คือ ค่าอาหารในร้านอาหาร คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 80 บาท/มื้อ และค่าเช่าที่พักอาศัย โดยอพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน ใจกลางเมือง มีค่าเช่าเฉลี่ยที่ 2.14 หมื่นบาท/เดือน ขณะที่ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเล็กน้อย

ในขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ไทยมีค่าแรงสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และแย้มข่าวดีให้กับแรงงานไทย ในเร็วๆ นี้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ที่ผ่านมาอัตราค่าแรงขั้นต่ำพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ 325 บาท

“ตอนนี้เรื่องอยู่ที่คณะอนุกรรมการแล้ว พอผ่านบอร์ดก็เข้า ครม.ประมาณเดือนหน้า (มี.ค.) จะมีประกาศขึ้นค่าแรงในรัฐบาลนี้

วันนี้ได้ข้อสรุป บางจังหวัดที่ไม่ขอขึ้นมี 46 จังหวัด ตามมติอนุมัติกรรมการมีขอปรับขึ้น 24 จังหวัด และยังไม่ยุติอีก 7 จังหวัด แต่ยังไม่เคาะตัวเลข ปีนี้ต่ำสุดอยู่ที่ 2 บาท สูงสุดอยู่ที่ 17 บาท ในส่วนของกรุงเทพฯ ขึ้นประมาณ 5%

ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเราพิจารณารอบคอบทุกมิติแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ส่วนค่าครองชีพสูงขึ้นทางกระทรวงพาณิชย์ต้องช่วยดูแล

ตอนนี้ถ้าเทียบในอาเซียนไทยเรามีค่าแรงสูงเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และบรูไน เรามีสวัสดิการ การประกันสังคม เรามีระบบที่ดูแลกันดี และไทยมีอัตราการว่างงานเพียง 1% น้อยเป็นอันดับ 4 ของโลก”

ตะกร้าชีวิต ซื้อของที่จำเป็น

ดร.วิลาสินี ตู้จินดา คณบดี คณะศรษฐศาสตร์และการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า เงินเดือนขั้นต่ำของวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท เป็นตัวเลขที่ไม่ขยับมานานแล้ว ในขณะที่ค่าครองชีพขยับสูงขึ้นทุกปีๆ

“ตอนนี้เราโฟกัสไปที่ค่าครองชีพ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การที่เขาวัดค่าครองชีพมาจากที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) เรามีตะกร้าหนึ่งใบ ให้ผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ โดยทั่วๆ ไปในเดือนหนึ่งเขาควรบริโภคอะไร เท่าไรบ้าง เขาจะตีราคาของสินค้าของแต่ละปีออกมาเป็นค่าใช้จ่าย เป็นค่าครองชีพ

ในตะกร้าเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค ส่วนประกอบที่ใหญ่ มี อาหาร การเดินทาง ที่อยู่อาศัย เพราะเขายึดเอาแต่ของจำเป็นออกมาเป็นตัวเลข เป็นตัววัดค่าเงินเฟ้อด้วย ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราใช้ตัวเงินเฟ้อมาเป็นตัวดูว่า เราต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะรักษามาตรฐานการครองชีพของเรา

ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยที่ผ่านมาประมาณ 1% แต่ค่าครองชีพ ค่าแรงก็ควรเพิ่มขึ้น 1% แต่มันแทบไม่ขยับ อีกประเด็นหนึ่งคือ เงินเฟ้อไม่เยอะ ทำไมราคาของมันเพิ่มขึ้นไวกว่านั้น

แสดงว่าตะกร้านี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงได้ทั้งหมด เพราะเราบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย พฤติกรรมการซื้อของคนไทยเปลี่ยนไปเยอะ ซื้อของออนไลน์เยอะขึ้น ยอดสูงขึ้น สินค้าพวกนั้นไม่ได้อยู่ในตะกร้าวัดเงินเฟ้อ แล้วราคาสินค้าที่อยู่ในตะกร้าก็กำหนดราคาไว้ต่ำ อัตราเงินเฟ้อมันเลยต่ำกว่าค่าครองชีพที่เราเห็นจริงๆ เลยทำให้มีระยะห่างค่าแรงกับค่าครองชีพ

อีกอันเป็นเหมือนวงจรซึ่งกันและกัน ค่าแรงขั้นต่ำไม่สัมพันธ์กับราคาของแพง เพราะเวลาจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราคาสินค้าขยับขึ้นรอแล้ว เป็นอีกสาเหตุทำให้ลดช่องว่างไม่ได้ ต้องมีคนที่ยิ่งใหญ่กว่าเราควบคุม ค่าแรงขึ้นไม่ควรมีเอฟเฟกต์ให้ราคาต่างๆ เพิ่มขึ้น”

แล้วจะอยู่อย่างไรให้รอด มีเงินใช้ตลอดเดือนไม่ขัดสน นอกจากการฉลาดเลือกซื้อแล้ว ต้องฉลาดหา “ถ้าปัญหาในตอนนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ 1.5 หมื่นบาท ตามไม่ทันราคาสินค้า วิธีที่เราจะรอดได้ ต้องทำให้ตัวเองไม่อยู่ในค่าแรงขั้นต่ำ”

การทำงานนอกจากให้ได้ผลงานอย่างเดิมๆ หรือแค่เพียงเพิ่มปริมาณต้องรู้จักนำนวัตกรรมมาใช้ มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างสตอรี่ให้ผลผลิต จะเป็นการเพิ่มมูลค่า หรือพนักงานบริษัทควรมีการเตรียมตัวตั้งแต่ยังเรียนให้มีประสบการณ์ เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ประสบการณ์ที่มีอยู่ก็จะทำให้ไม่ต้องอยู่ในประชากรค่าแรงขั้นต่ำ ต้องเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง เพิ่มคุณสมบัติของตัวเองให้เป็นที่ต้องการ

“รายได้ที่เราได้มา ถ้ามีการบริหารเงินและการลงทุนที่ดีพอรายได้เราจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น การบริหารเงินจริงๆ ทำได้หลายอย่าง

การจะมีเงินออมได้ไม่ต้องรอเหลือจากค่าใช้จ่าย เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วางแผนตั้งแต่ต้นว่าเราใช้จ่ายแค่ไหนถึงจะมีเงินออม แล้วเอาเงินออมไปลงทุน ลงทุนในประกันชีวิต ซื้อกองทุนอาร์เอ็มเอฟ สามารถลดหย่อนภาษีได้ มีผลตอบแทนในอนาคตด้วย

แต่ถ้าคนที่ไม่ได้สนใจการเงินการลงทุนก็วนกลับมาที่เดิม ใช้เงินอย่างเดือนชนเดือน เด็กจบใหม่ยังไม่มีความรู้ตรงนี้ ทำงานได้เงินมาก็ใช้จนหมด ถ้าเรามีการวางแผนการเงินที่ดีเราจะไม่ได้อยู่ในส่วนของประชากรรายได้ขั้นต่ำ”

อยู่ให้(รอด)ถึงสิ้นเดือนนะจ๊ะเงินจ๋า

ณัฐนิช ทองดี วัย 24 ปี ทำงานมา 2 ปี เป็นพนักงานส่งเสริมการขาย ตอนนี้เงินเดือนขยับจากพื้นฐานมาไม่กี่พันบาท แต่เธอสามารถจัดสรรการเงินได้อย่างลงตัว เพราะมีประสบการณ์มาจากช่วงฝึกงาน สิ่งที่ทำให้เงินออกจากกระเป๋ามากที่สุดในแต่ละวันคือ ค่ารถและ
ค่าอาหาร เมื่อลงสู่สนามทำงานจริง การจำกัดสองค่าใช้จ่ายใหญ่นี้ได้ช่วยทำให้เงินเดือนเหลือใช้

“ที่ทำงานไม่ไกลจากบ้าน เดินไปทำงานได้ เป็นส่วนที่ทำให้ตัดสินใจเลือกทำงานที่นี่ เพราะเคยฝึกงานแถวเซ็นทรัลเวิลด์ กว่าจะเดินทางถึงต้องหลายต่อ เดินทางแบบประหยัดที่สุด รถตู้ ต่อรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์บ้าง ไป-กลับประมาณ 150 บาท

ค่าอาหารก็แพงเมื่อเทียบกับที่นี่ 40-50 บาท บางวันก็ห่อข้าวจากบ้านไปเอง แล้วโชคดีที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าทำให้รายจ่ายน้อย จะหนักสินค้าฟุ่มเฟือย เสื้อผ้า เครื่องสำอาง แต่หนูมีการวางแผนการเงินตั้งแต่ยังเรียนประถม เงินเหลือจากที่โรงเรียนก็ฝากธนาคารตลอด ทำให้เวลาต้องการอะไรก็สามารถนำเงินมาซื้อได้ไม่ลำบาก

ทำงานก็แบ่งเงินออมแล้วแต่เดือน 1,000-2,000 บาท ไว้ใช้จ่ายค่าเรียนปริญญาโทเอง ก็มีเพื่อนในรุ่นเดียวกันบ่นเรื่องเงินไม่พอใช้ ทั้งๆ ที่เงินเดือนเท่ากัน แต่เขามีค่าใช้จ่ายหลักๆ มากกว่า และเขาไม่เคยบริหารการใช้เงินเลย เงินเดือนออกก็หลงระเริงใช้เงินจนหมดไม่เหลือเก็บ พอมีฉุกเฉินอะไรก็ขอพ่อแม่”

ทุกอาชีพต้องเจอกับดักค่าใช้จ่าย

วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ นักคิด นักเขียน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีพี สตูดิโอ พูดถึงเรื่องความสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายของคนเมือง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางยุคนี้ แบ่งกลุ่มของคนทำงาน ออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น เจ้าของกิจการระดับ SME มนุษย์เงินเดือนหรือแรงงานในระบบ และมนุษย์ฟรีแลนซ์หรือแรงงานนอกระบบ แล้วโฟกัสที่ความเป็นจริงของคนทำงานแต่ละประเภท

“ในฐานะที่ดิฉันมีประสบการณ์ตรงในการเป็นคนทำงานมาแล้วทั้ง 3 รูปแบบ ทำให้เข้าใจทั้ง 3 สภาวะ ในฐานะเจ้าของกิจการระดับ SME ซึ่งดูเผินๆ คล้ายจะมีรายรับมากกว่าและมั่นคงกว่าใครในทั้ง 3 กลุ่ม แต่สิ่งที่ต้องแลกก็คือ ภาระทั้งค่าใช้จ่าย การลงทุน และการแบกรับความเสี่ยงของธุรกิจทั้งหมด

สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังอย่างมากสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่แผนการเงินไม่รัดกุมก็คือ มักลืมบวกค่าแรงหรือเงินเดือนของตัวเองลงไปในส่วนของค่าใช้จ่ายพนักงานประจำด้วย

คิดว่ากำไรของธุรกิจ คือส่วนที่จะเป็นเงินเดือนหรือรายรับเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไปไม่รอด และส่งผลให้เกิดความขัดสนชักหน้าไม่ถึงหลังทั้งในฐานะคนทำงาน และในฐานะองค์กรธุรกิจที่ไม่มีสภาพคล่อง

ในฐานะพนักงานหรือมนุษย์เงินเดือน การมีรายได้ประจำรออยู่ทุกสิ้นเดือนถ้าบริหารจัดการดีๆ ก็จะควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่าย

ท่ามกลางข้อดีนี้ก็ยังกลายเป็นกับดักทางการเงินของมนุษย์เงินเดือน เพราะความเชื่อว่า ในอนาคตจะมีเงินเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อถึงวันเงินเดือนออกก็จะเกิดการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่ดี คือการเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อนเสมอ

นิสัยการใช้เงินในอนาคต ทำให้เกิดภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง บางคนอย่างเก่งก็มีเงินใช้แค่เดือนชนเดือน ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงเงินเก็บ สิ่งที่คนมีเงินเดือนประจำไม่ค่อยได้วางแผนรับมือล่วงหน้าคือความจำเป็นฉุกเฉิน และสิ่งที่จะเกิดเมื่อต้องตกงาน บางคนไม่รู้จักการลงทุน รู้จักแค่การใช้จ่าย และการออมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ในระยะยาวจึงขาดหลักประกันของชีวิตเมื่อถึงเวลาที่ไม่มีรายได้จริงๆ

ในฐานะแรงงานนอกระบบหรือฟรีแลนซ์ ความเสี่ยงคือ ความไม่แน่นอนของรายได้ ไม่มีสวัสดิการต่างๆ รองรับ หากไม่รู้จักวางแผนการเงินที่ดีก็เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินขาดมือ

นอกจากนี้ คนเป็นฟรีแลนซ์หลายคนยังขาดความเข้าใจในการมองว่า ตัวเองเป็นต้นทุนบวกแรงงานธุรกิจอีกทั้งยังเป็นแบรนด์ การที่ไม่เห็นว่าตัวเองเป็นหน่วยธุรกิจ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นเหมือนบริษัทหรือแบรนด์ ก็จะขาดการคิดบริหารจัดการตัวเองในฐานะองค์กรหรือบริษัทที่ดี ยกตัวอย่างเช่น การโหมทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำไม่ได้นอน จนเสียสุขภาพ หรือไม่วางแผนการตลาด การประชาสัมพันธ์ การพัฒนา การเติบโตอย่างยั่งยืน การวางแผนการเงิน การป้องกันความเสี่ยงต่างๆ”

สุดท้ายไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร ประกอบอาชีพอะไร การจัดการบริหารเงินการใช้จ่ายเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ในชีวิตเมืองที่ต้องพึ่งพาตัวเอง

“ต้องเริ่มจากการวางแผนการเงินก่อนหรือควบคู่ไปกับการทำงานหาเงิน เพราะการก้มหน้าก้มตาหาเงิน แล้วใช้เงินไปแบบงงๆ โดยปราศจากแผนนั้น แม้จะเป็นการใช้จ่ายที่คิดว่าประหยัดอดออมสุดๆ แล้ว

บ้างก็คิดว่า ตัวเองมีรายได้มากเป็นที่พอใจน่าจะอยู่ได้สบายแล้ว เอาเข้าจริงๆ อาจเป็นแค่การหาเช้ากินค่ำไม่ต่างอะไรกับชนชั้นแรงงานที่มีชีวิตวันต่อวันด้วยรายได้ขั้นต่ำที่ไม่เคยพอใช้ และหนี้สินที่โตไวราวกับปาฏิหาริย์

การหาเงินให้ได้มากเป็นสิ่งดี แต่การควบคุมรายจ่ายก็ต้องทำคู่กันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรายจ่ายที่ควบคุมได้ง่ายก็เช่น ค่ากิน ค่าแต่งตัว ส่วนรายจ่ายที่ควบคุมยาก เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย ก็ต้องใช้การวางแผนที่รอบคอบในการเลือกทำเลที่พัก และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย ก็จะลดค่าใช้จ่ายได้

สิ่งสำคัญที่คนทำงานทุกประเภทไม่ควรมองข้าม คือการลงทุนด้านสุขภาพอย่างจริงจัง โดยสร้างวินัยในการรักษาสุขภาพอย่างถูกวิธี และสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้ตัวเองทั้งในกรณีฉุกเฉินและในระยะยาว

ทั้งหมดนี้อาจบอกเป็นตัวเลขไม่ได้ ว่าใครต้องหาต้องใช้เท่าไร แต่หากลองเก็บไปคิดตามความเหมาะสมของตัวเองก็จะได้คำตอบที่ทำให้เราอยู่ได้สบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

ฝ่าวิกฤต ค่าครองชีพในเมืองกรุง