posttoday

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

05 มกราคม 2562

เรื่อง : อนัญญา มูลเพ็ญ

เรื่อง : อนัญญา มูลเพ็ญ


ข่าวคราวการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดคราวละหลายล้านเม็ด ที่ปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่อต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน สะท้อนความรุนแรงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่หลวง เปรียบเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินทรัพยากรสำคัญที่สุดของชาติ คือ “คน” อยู่ไม่หยุดหย่อน

สถิติยาเสพติดรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง

ความน่ากังวลของปัญหายาเสพติดที่ยิ่งปราบก็เหมือนยิ่งมากนี้ สะท้อนให้เห็นเป็นข้อมูลทางสถิติชัดเจน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เสนอรายงานภาวะสังคมประจำไตรมาส 3 ปี 2561 ระบุว่าในคดีอาญาทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาในนี้มีเพียงคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้น 19.5%

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

ส่วนที่เหลือคือคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลง 11.7% และ 9.8% โดยการเพิ่มขึ้นล่าสุดนี้ก็เป็นความต่อเนื่องจากไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปีนี้ที่เพิ่มขึ้น 23.9% และ 34.9% ขณะที่ปี 2560 ที่มีคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นเฉียด 20% โดยเกินกว่าครึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีเสพและส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของเยาวชนและวัยเริ่มทำงาน

คดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนี้ ได้ส่งผลถึงจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่เกินกว่าศักยภาพที่เรือนจำทั่วประเทศจะรองรับได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ผู้ต้องขังล้นคุก” อยู่หลายเท่า ซึ่งข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ณ กลางปี 2561 ระบุว่าจากผู้ต้องขังทั้งหมด 335,543 คนนั้น เป็นผู้ต้องขังจากคดียาเสพติดอยู่ถึง 221,437 คน หรือประมาณ 63% ของผู้ต้องขังทั้งหมด

ตามข้อมูลนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่ยังมีทั้งผู้เสพผู้ค้าอีกจำนวนมาก ที่เมื่อนำทั้งหมดมารวมกันแล้วประเมินค่าความสูญเสียทรัพยากรบุคคล รายได้ และงบประมาณของประเทศไม่ได้เลย

ต้องมองยาเสพติดเป็นปัญหาใกล้ตัว

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ซึ่งคลุกคลีทำงานกับการต่อสู้กับยาเสพติดมาหลายสิบปี เตือนว่าปัญหายาเสพติดขณะนี้รุนแรงมาก ประเทศไทยจะอยู่ในฐานะล่มสลายได้ ถ้าคนไทยทุกคนยังไม่มองว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะการแพร่ระบาดกว่า 70% เกิดกับเยาวชน และแรงงานซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ และที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ ยาเสพติดกำลังพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ไม่ใช่เฉพาะเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้าอีกต่อไป

ข้อมูลจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด ภายใต้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ประเมินว่าในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าการผลิตยาเสพติดอยู่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.28 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ 26% หรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ผ่านเข้ามายังประเทศไทย และ 86% ของยาเสพติดที่ผ่านเข้ามายังประเทศไทยก็ผ่านมาตามแนวตะเข็บชายแดน จ.เชียงราย นั่นคือมูลค่าเม็ดเงินที่ล่อตาล่อใจให้มีผู้คนจำนวนมากยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปร่วมขบวนการค้า

การพัฒนาทางเลือกคือทางออก

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

ปัจจุบัน ม.ร.ว.ดิศนัดดา ไม่ได้นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เช่นในอดีต เพราะได้ส่งไม้ต่อภารกิจให้ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล บุตรชายไปแล้ว แต่ยังทำงานที่นำ “ศาสตร์พระราชา” และ “ตำราแม่ฟ้าหลวง” ไปพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้คนมีทางเลือกป้องกันการหันไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า

คุณชายดิศ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันปัญหายาเสพติดจะเปลี่ยนรูปแบบไปไม่ใช่การปลูกพืชเสพติดอย่างฝิ่นเหมือนสมัยก่อน แต่เป็นยาเสพติดจากสารเคมี แต่ก็ยังเชื่อว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และต้องทำควบคู่กันคือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ใช้กิจกรรมการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development : AD)

การแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการพัฒนาทางเลือกนี้ ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ ในด้านการเป็นต้นแบบในการจัดการปัญหายาเสพติดในชุมชนด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินงานสานต่อแนวพระราชดำริเป็นเวลากว่า 30 ปี และขณะนี้กำลังขยายไปยังพื้นที่อื่นในประเทศที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรงรวมถึงในประเทศเพื่อนบ้าน

การขาดโอกาสคือรากเหง้าของปัญหา

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

ด้าน ม.ล.ดิศปนัดดา เห็นสอดคล้องกันว่า รากเหง้าของปัญหายาเสพติดมาจากการขาดโอกาสและความยากจน และไม่ได้มีเฉพาะแต่ในชนบท แต่ยังอยู่ในบริบทของชุมชนเมืองด้วย ดังนั้นการมีกิจกรรมการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงไม่ใช่ทำแค่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในชนบทเท่า แต่ต้องทำอย่างมีกระบวนการในทุกมิติของสังคม

การดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมพัฒนาทางเลือก โดยโครงการสำคัญที่เริ่มไปในปี 2561 คือ โครงการร้อยใจรักษ์ ที่บ้านห้วยส้าน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีปัญหาอิทธิพลยาเสพติดรุนแรง

ร้อยใจรักษ์เป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการทำระบบน้ำ สุขภาพ การศึกษา ปศุสัตว์ เกษตร การทำธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม หัตถกรรมและการท่องเที่ยว ทั้งหมดเพื่อเป็นทางเลือกให้คนทุกระดับรายได้ เป็นภูมิคุ้มกันต่อปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย

โครงการร้อยใจรักษ์เกิดขึ้นจากแนวพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่มีพระประสงค์ให้ไม่เพียงเอากฎหมายเข้าไปแก้ไขปัญหา แต่ต้องนำการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ด้วย ซึ่งปีนี้พระองค์ภาเสด็จไปบ้านห้วยส้านด้วยพระองค์เอง 5 ครั้งแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าพระองค์นำโอกาสมาให้และแนวทางที่พระองค์ดำเนินไม่ต่างจากที่ดอยตุง เพียงแต่ปัญหาที่ดอยตุงคือเคยมีการปลูกฝิ่น แต่ที่บ้านห้วยส้านเป็นปัญหายาบ้า

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

นอกจากในประเทศ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมีการขยายงานนำแนวทางที่ทำในประเทศไทยออกไปดำเนินการในประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ใน 2 พื้นที่ของเมียนมา โดยการประสานความร่วมมือกับทางการของเมียนมาคือใน อำเภอพินเลา จังหวัดตองยี รัฐฉานใต้ ตอนกลางของเมียนมา ครอบคลุมพื้นที่ 101 หมู่บ้าน ประชากร 18,917 คน ซึ่งในพื้นที่นี้ดำเนินการในลักษณะให้คำปรึกษาและสนับสนุนองค์ความรู้

ส่วนอีกพื้นที่ในตอนเหนือของ อำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก ใกล้กับชายแดนไทย ครอบคลุม 25 หมู่บ้าน ประชากร 5,376 คน ส่วนในนี้ดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกอย่างเต็มรูปแบบ

จัดเก็บเพื่อส่งต่อองค์ความรู้

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวว่า งานภายใต้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ทั้งโครงการปลูกป่าใน จ.น่าน ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 แสนไร่ ใน 3 อำเภอ คือ ท่าวังผา สองแคว และเฉลิมพระเกียรติ การปลูกป่าเพิ่มเสร็จสิ้นในปี 2561

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

แล้วหลังจากนี้จะเป็นการขยายผลสร้างงาน อาชีพให้คนในพื้นที่ และได้นำพื้นที่ป่าไปจดทะเบียนเพื่อขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยคาดว่าอีกประมาณ 2 ปีจะเริ่มขายได้ เมื่อมีรายได้เข้ามาก็จะเก็บเป็นกองทุนให้กับชุมชนเพื่อให้มีกำลังใจในการช่วยกันดูแลรักษาป่า ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการจดทะเบียนพื้นที่โครงการดอยตุงฯ เพื่อให้ขายคาร์บอนเครดิตไปประมาณ 9 หมื่นไร่ ซึ่งแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2020 จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ หรือ Neutral Carbon Organization

อย่างไรก็ตาม งานที่มูลนิธิกำลังให้ความสำคัญอย่างมากคือ การบริหารจัดการองค์ความรู้ เพราะในการทำงานในหลายสิบปีที่ผ่านได้เกิดองค์ความรู้ขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากโครงการดอยตุงฯ แต่ยังไม่ได้มีการจัดฐานความรู้ให้เป็นระบบ จะมีการทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ของมูลนิธิเพื่อให้มีการต่อยอดนวัตกรรม เช่น การเก็บสูตรทอผ้า วิธีการทอ การออกแบบ ที่จะส่งผลให้แบรนด์สินค้าดอยตุงสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน

เริ่มสร้างมาตรฐานและขยายผลตามตำราแม่ฟ้าหลวงเพื่อวัดทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเพื่อวัดความอยู่รอด ความพอเพียง แต่ความยั่งยืน ของแต่ละพื้นที่ได้ รวมถึงจัดทำคลังข้อมูลเพื่อเป็นแหล่งสืบค้นและอ้างอิงเกี่ยวกับสมเด็จย่า การจัดเก็บข้อมูลศิลปวัตถุล้านนา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนล้านนา

ทำธุรกิจเพื่อสังคมให้ยั่งยืน

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

ม.ร.ว.ดิศปนัดดา กล่าวว่า หัวใจสำคัญอีกประการของกิจกรรมพัฒนาที่ยั่งยืน คือการทำให้โครงการอยู่รอดได้ด้วยตนเอง ซึ่งโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่สร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวเขาบนดอยตุง ก็มีการทำธุรกิจที่ต้องพัฒนาทั้งคุณภาพและผลิตภัณฑ์ของโครงการ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคง

ปัจจุบันส่วนงานธุรกิจเพื่อสังคมของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ประกอบไปด้วย 6 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ หน่วยหัตถกรรม คาเฟ่ อาหาร ท่องเที่ยว เกษตร และของขวัญปีใหม่ ซึ่งในปี 2561 มีรายได้ 550.9 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้า 3% ส่วนปี 2562 ที่จะมาถึงนี้เป็นปีที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะจะเป็นปีแรกที่พันธมิตรธุรกิจคือบริษัท อิเกีย จะลดปริมาณการซื้อเซรามิกจากโครงการลง 45 ล้านบาท เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

ทางโครงการต้องใช้เวลาปรับตัว อาจจะทำให้ยอดขายส่วนนี้หายไปทั้งปี ซึ่งก็ต้องยอมและเป็นบทเรียนของการไม่กระจายความเสี่ยง แต่ก็ต้องไปเพิ่มรายได้จากหน่วยธุรกิจที่เหลือ เพราะปีหน้าเองตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้เพิ่มเป็น 582.8 ล้านบาท

ตัวอย่างของการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ก็เช่นการจับมือกับนักออกแบบชื่อดังเพื่อออกแบบงานหัตถกรรมโดยเฉพาะเสื้อผ้า กระเป๋า เปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ๆ

ส่วนในกลุ่มคาเฟ่และอาหารจะขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นที่ให้การตอบรับกาแฟดอยตุงค่อนข้างดี ล่าสุดสายการบิน Japan Airlines มีบริการเสิร์ฟกาแฟดอยตุง ในเส้นทางไทย-ญี่ปุ่นทุกที่นั่ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างแบรนด์ดอยตุงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และจะมีการเพิ่มช่องทางการขายผ่านอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐและญี่ปุ่นก่อน

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

ส่วนกลุ่มงานท่องเที่ยว เน้นกิจกรรมในงานสีสันแห่งดอยตุง ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 5 มีกิจกรรมการดึงดูดให้คนขึ้นมาเที่ยวดอยตุง โดยเฉพาะการได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ บนดอยตุง การให้ชนเผ่าต่างๆ มาออกร้านขายของดีมีคุณภาพและต้องอยู่ในกฎกติกาว่าทั้งสินค้าและบรรจุภัณฑ์ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ให้ร้านค้างดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม 100% โดยประชาชนสามารถท่องเที่ยวดอยตุงได้ทุกวันแต่กิจกรรมพิเศษของสีสันแห่งดอยตุงจะมีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561-27 ม.ค. 2562

แม้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้เปลี่ยนพื้นที่ปลูกฝิ่น เส้นทางการลำเลียงยาเสพติดใหญ่ที่สุดในโลกบนพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำให้ต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ชาวเขาเผ่าต่างๆ บนดอยตุงมีทางเลือกของการทำมาหากินที่ยั่งยืนตามแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่าพระราชทานไว้ คือการต่อสู้กับกับยาเสพติดด้วยสันติวิธี ให้โอกาสให้ทางเลือกคนด้วยเชื่อว่าหากคนมีทางเลือกจะไม่ทำผิด

ภารกิจนี้ก็กำลังได้รับการสานต่อโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน แต่ขบวนการค้ายาเสพติดก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไป มีเม็ดเงินมหาศาลที่ล่อใจให้คนจำนวนไม่น้อยกล้าเสี่ยงเอาชีวิตเข้าแลก ปัญหาจึงยังทวีความรุนแรง

พัฒนาให้ทางเลือก แนวรบยาเสพติดสันติและยั่งยืน

สงครามยาเสพติดที่กำลังเกิดในประเทศไทยเวลานี้ กำลังกัดเซาะชีวิตผู้คนในเกือบทุกครอบครัว การรบกับสงครามนี้จึงไม่ใช่ภารกิจของเฉพาะแม่ฟ้าหลวง ป.ป.ส. ตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นสงครามที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันรบ

ดูแลสอดส่องไม่ให้มีการทำผิด ให้โอกาสคนทำผิดที่คิดกลับตัวกลับใจคืนสู่สังคม หากไม่ร่วมมือกันสู้แต่ตอนนี้ สถิติต่างๆ ที่กล่าวไปตอนต้นก็พอจะบอกได้แล้วว่า อนาคตประเทศไทยจะเผชิญกับอะไร ประเทศที่แทบล่มสลายเพราะยาเสพติด ไม่ใช่ไม่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างในประวัติศาสตร์โลก และเราทุกคนก็คงไม่ต้องการเห็นประเทศไทยของเราเป็นเช่นนั้น