posttoday

อายุยืน 100 ปี ของขวัญหรือคำสาป

18 ธันวาคม 2561

จากงานวิจัยของหลายสถาบันชี้ชัดว่า 10 ปีจากนี้ไป มนุษยชาติจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

เรื่อง  อณุสรา ทองอุไร ภาพ  pixabay

จากงานวิจัยของหลายสถาบันชี้ชัดว่า 10 ปีจากนี้ไป มนุษยชาติจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น อายุเฉลี่ยของคนตอนนั้นจะอยู่ที่ 100 ปี ได้อย่างสบายๆ เนื่องจากการแพทย์ที่ทันสมัย อาหารการกิน การใส่ใจกับการออกกำลังกาย เทรนด์สุขภาพที่ช่วยชะลอวัย ทำให้คนเราสุขภาพดีขึ้น อายุ 50 ก็สามารถดูดีเหมือนคนวัย 30 ขณะนี้มีการเลื่อนอายุของคนชราจากวัย 60-70 ไปเป็น 70-80 ปี ดังนั้นคนอายุ 50 ยังถือเป็นวัยทำงาน

จากงานเสวนา “ชีวิตศตวรรษ” จัดโดยไทยพับลิก้า บอกว่า ในอนาคตอันใกล้เราจะเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์รุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 100 ปี ถ้าเรามีทรัพย์สินเท่าเดิม ใช้ชีวิตแบบเดิม การเงินจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะยากที่เราจะหารายได้มาใช้จ่ายอย่างเพียงพอหลังจากเกษียณตอน 60 อีก 40 ปีที่เหลือจะกลายเป็นฝันร้าย โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ที่มีข้อเรียกร้องจากชีวิตมากมายไม่มีวันจบสิ้น ทำงานเท่าใดจึงจะหมด มั่งคั่งเท่าใดจึงจะพอ จึงต้องมีข้อบัญญัติเพื่อเตือนใจให้ใช้ชีวิตโดยสอดคล้องกับเวลาที่มีเพิ่ม เป็นไปได้สูงที่ต่อจากนี้ไปต้องทำงานจนถึงอายุ 70-75 ปี เพื่อให้เพียงพอค่าใช้จ่ายจนถึงอายุ 100 ปี แล้วตอนนั้นเราจะทำงานอะไร ความรู้ที่มีอยู่ยังใช้ได้หรือไม่

อายุยืน 100 ปี ของขวัญหรือคำสาป

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน กล่าวว่า นอกจากการวางแผนรับมือเรื่องงานและชีวิต 100 ปีแล้ว มิใช่แค่เรื่องการเงิน การงาน การศึกษา ความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว เท่านั้น หากแต่การจัดการกับความสัมพันธ์กับตนเองให้สอดคล้องกับช่วงเวลาและอายุขัยจะเป็นโจทย์ใหม่ที่เราต้องครุ่นคิด เพื่อรับมือกับช่วงชีวิต 100 ปี

“พวกเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่มีน้อยคนที่เตรียมพร้อมก้าวผ่านช่วงเวลาสำคัญนี้ ถ้าใครผ่านไปได้อย่างสวยงามก็ถือว่าได้พรอันประเสริฐเหมือนเป็นของขวัญ หากละเลยไม่เตรียมพร้อม เวลาที่ได้เพิ่มอีก 30 ปี จะเหมือนคำสาปจากฝันร้าย โลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีเคยเป็นบ่อเกิดแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตและการทำงานของมนุษย์มาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน เร็วๆ นี้ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นจะเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร เพื่อให้ชีวิตที่ยาวขึ้นอย่างมีความสุข ไม่ใช่ทนทุกข์ทรมาน”

อายุยืน 100 ปี ของขวัญหรือคำสาป

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เราอายุยืนกว่าพ่อแม่และปู่ย่าตายายของเรา และรุ่นลูกเราก็จะอายุยืนกว่าเราไปอีก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เด็กที่เกิดในโลกตะวันตกมีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะอยู่ถึง 105 ปี ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ปี ในทุกๆ 10 ปี เมื่อ 200 ปีก่อนคนอายุเฉลี่ยที่ 50 ปีเท่านั้น

ดังนั้น ต้องแก่อย่างมีคุณภาพ คือแก่แล้วแต่ร่างกายไม่เสื่อมโทรมมาก สุขภาพโดยรวมยังดี ปกติแล้วพออายุ 50 ปี ร่างกายเริ่มเสื่อม จะทำอย่างไรให้ความเสื่อมเกิดช้าที่สุด “ผมจบเศรษฐศาสตร์มารู้แต่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่เคยเรียนรู้เรื่องสุขภาพของตัวเองเลย เป็นอะไรก็พึ่งหมอ ก่อนอายุ 60 ผมเริ่มเรียนรู้เรื่องสุขภาพอย่างจริงจัง”

เขาพบว่าการจะมีสุขภาพที่ดีด้วยกฎ 5 ข้อ จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด คือ กินอาหารให้ดีกับสุขภาพ, ออกกำลังกายวันละ 30 นาที, คุมน้ำหนักให้คงที่ ดัชนีมวลกายต้องไม่เกิน 24.9 ต้องคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก มิใช่ออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก, ดื่มไวน์ไม่เกินวันละ 1 แก้ว, นอนให้เพียงพอ หลับให้สนิท 5-6 ชั่วโมง/คืน การนอนน้อยจะทำให้อ้วน เสี่ยงเบาหวาน หัวใจ ความจำเสื่อม

“การอดอาหารนิดๆ หน่อยๆ ทำให้ร่างกายหิวบ้าง จะช่วยให้อายุยืนขึ้น เพราะเซลล์จะดูแลตัวเอง ดึงพลังงานจากไขมันมาใช้ให้ร่างกายเผาผลาญ สุขภาพเป็นเรื่องต้องทำเอง ซื้อหาหรือให้ใครทำแทนไม่ได้”

การทำงานในยุคถัดไปจะปรับตัวอย่างไร ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ถ้าเราดูแลตัวเองได้ดีจะได้ไม่รบกวน
ลูกหลาน จะทำงานให้มีคุณค่าจนต้องจ้างเราไปตลอดและเลี้ยงตัวได้ยาวนาน ก็คือการเรียนรู้เพิ่มเติมในสายงานและนอกสายงาน วิ่งหาโอกาสในความรู้ใหม่ๆ ทั้งเรื่องคนและเทคโนโลยี ลดอัตตาตัวตนว่าเคยเป็นใคร ใหญ่แค่ไหน คุยกับคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ฟังและเรียนรู้จากเด็กรุ่นหลังๆ บ้าง เพราะเด็กรุ่นหลังเขาเรียนรู้โลกได้เร็วขึ้น เขาท้าทายโลกมากกว่ายุคเรา เด็กรุ่นใหม่ไม่เชื่อความรู้ในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

“เด็กรุ่นหลังเขาคิดว่าทำน้อยต้องได้มาก เขาต่อยอดธุรกิจได้ดี มีความเป็นเถ้าแก่ ใช้เทคโนโลยีได้คุ้มค่า เขากล้าล้มแล้วลุก ยอมเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำงานเร็ว ใจถึง ไม่จำเป็นต้องอยู่องค์กรใหญ่ๆ มีวิธีหาความรู้ด้วยตนเอง เราจึงต้องปรับตัว เปิดใจ กับเด็กรุ่นหลังๆ ให้มาก ผมคิดว่าเทคโนโลยีไม่ได้ทำลายงาน แต่สร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมา ส่วนงานที่จะอยู่รอดในยุคต่อไปคืองานที่เกี่ยวข้องกับการบริการ เพราะหุ่นยนต์ก็ทดแทนได้ไม่ดีเท่า ถ้าเราเปลี่ยนกระแสลมไม่ได้ เราก็ปรับใบเรือให้เรือแล่นต่อได้ นั่นคือการปรับตัว ถอดหัวโขน เรียนรู้ใหม่ๆ”

อายุยืน 100 ปี ของขวัญหรือคำสาป

ตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่าง ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด บอกถึงการเตรียมตัวอย่างไรที่ต้องมีอายุ 100 ปี ว่า วางแผนชีวิตทั้งเรื่องสุขภาพ การเงิน และความสัมพันธ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะกับคนรอบตัว ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ปรับตัวให้เข้ากับคนให้มากที่สุด หาประสบการณ์ใหม่ๆ “ผมเป็นมุสลิมที่เติบโตในสังคมชาวพุทธ เรียนโรงเรียนคริสต์ บ้านอยู่ใต้ ชอบไปทำไร่กาแฟที่ภาคเหนือ อยู่คอนโดที่กรุงเทพฯ กลับไปใต้ยังนอนมุ้ง ผมปรับตัวในชีวิตตลอดเวลา ไม่แปลกแยกกับสิ่งรอบตัว ฟังให้มาก เรียนรู้หลายๆ มิติ สุภาพกับคนอื่นให้มากๆ แต่มีจุดยืนในตัวเองที่ชัดเจน”

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการเตรียมชีวิต 100 ปีของเขา ว่า ต้องปรับตัวให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนไป เรียนรู้ให้มากขึ้น คนแก่ต้องมีความหนุ่มในตัว ส่วนคนหนุ่มก็ต้องมีมุมแก่ในตัวบ้าง เพื่อคิดอะไรให้รอบคอบ “ผมไปเรียนที่จีนหลายปี ที่จีนก็มีผู้สูงอายุเยอะมาก แต่สังคมที่นั่นก็ปรับตัวได้ ก็คืออย่าปิดกั้นความรู้และสังคมใหม่ๆ เปิดใจรับโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป คิดอะไรยาวๆ ที่สำคัญวางแผนเรื่องสุขภาพให้ดี”

อายุยืน 100 ปี ของขวัญหรือคำสาป

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Siametrics Consulting กล่าวว่า ตัวเขาเองจะเตรียมพร้อมเรื่องการเงินการลงทุนเป็นลำดับแรก เพราะคิดว่าสังคมไทยไม่สอนเรื่องการออมการลงทุนกับวัยรุ่น วัยเริ่มทำงาน เท่าที่ควร ทำให้ขาดความรู้ ความเข้าใจ ออมน้อยและออมกันช้ามาก ครอบครัว โรงเรียน ต้องสอนเรื่องการออมและการลงทุนมากกว่านี้ ทักษะทางการเงินสำคัญมาก ถ้าเกษียณ 65 เหลือเวลาอีก 35 ปี จะทำอะไร เอาเงินที่ไหนใช้ ต่อไปคือวางแผนสุขภาพ หาความรู้เพิ่มเพื่อไม่ให้ตกยุค โดยเฉพาะเข้าถึงเทคโนโลยีให้มากที่สุดจะได้เปรียบ ต้องแก่อย่างมีคุณภาพ เลือกทำและจำแต่สิ่งที่ดีๆ จะได้ไม่อยู่อย่างทรมาน

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร ธุรกิจที่สร้างความหมายให้ชีวิตระยะสุดท้าย แนะนำถึงวิธีการทำชีวิตให้ยืนยาวเป็นของขวัญว่า เราต้องทำหน้าที่ ความรับผิดชอบให้ดี การงาน สังคม ร่างกาย ความสัมพันธ์ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้กับสังคมที่เปลี่ยนไป ถ้ายอมรับตัวเองได้ก็จะยอมรับคนอื่นได้ง่ายขึ้น ไม่ยึดติดกับตัวกูของกู จิตใจต้องมั่นคง ไม่ขัดแย้งกับอะไรง่ายๆ ที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพ “ถ้าเลือกได้ไม่อยากอยู่ถึง 100 ปี เพลงที่ยาวเกินไปก็ฟังไม่เพราะ หนังที่ยาวเกินไปก็น่าเบื่อ ชีวิตก็เช่นกัน เพราะมันเหนื่อย แต่ถ้าต้องอยู่ก็พยายามปรับตัวเตรียมใจให้ทุกข์ให้น้อย สุขให้มาก”

คนหลายล้านจะมีชีวิตที่ยืนยาว จนทำให้เกิดความวิตกว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร มองไปในอนาคตจะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น จนกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมจำเป็นต้องตระหนักรู้ ประเด็นนี้ไม่ได้กระทบแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ส่งผลต่อมนุษย์ทุกคน เป็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น สุขภาพที่ร่วงโรย ค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งสูงขึ้นกับวิกฤตที่คืบคลานเข้ามา

หลายคนไม่คาดคิดว่าจะมีอายุ 100 ปี แต่สุดท้ายก็ต้องเผชิญ การมองการณ์ไกลและการวางแผนล่วงหน้าจะทำให้ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นเป็นพรแทนที่จะเป็นคำสาป เราจะเลือกใช้เวลาที่ได้เพิ่มมาอย่างไร คือหัวใจสำคัญของการรับมือชีวิตที่ยืนยาว