posttoday

‘ความงามและความน่าเกลียด’ สุนทรียศิลป์แห่ง ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

09 ธันวาคม 2561

ความงามทางศิลปะมีหลายรูปแบบและหลายหลากสกุลศิลป์

โดย พริบพันดาว 

ความงามทางศิลปะมีหลายรูปแบบและหลายหลากสกุลศิลป์ สุนทรียรสการได้เสพงานศิลป์ที่แปลกตาและมีสไตล์เฉพาะตัวจึงเป็นความรื่นรมย์อย่างน่าชื่นใจ

ได้มีโอกาสไปละเลียดงานศิลป์ในนิทรรศการศิลปะ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี” (Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi) ของ ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร จิตรกรหญิงชาวไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ

สุนทรียศาสตร์จากผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์อันทรงคุณค่ากว่า 40 ชิ้น รวมถึงของใช้ส่วนพระองค์ กว่า 100 ชิ้นที่สร้างแรงบันดาลใจในงานศิลปะ ผู้สร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางของศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์-แฟนตาสติก (Surrealism - Fantastic Art)

หากมาดูตามความหมายของศิลปะแนวแฟนตาสติก หรืออัศจรรย์ หรืออัศจรรย์ศิลป์ (Fantastic Art) ขอบข่ายของศิลปะนี้ได้มีขบวนการศิลปินไซ-ไฟ/แฟนตาซีที่ครอบคลุมงานประเภทศิลปินภาพประกอบศิลปะและหนังสือคอมมิค (Comic)

‘ความงามและความน่าเกลียด’ สุนทรียศิลป์แห่ง ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

ศิลปะอัศจรรย์เดิมจำกัดอยู่เฉพาะแต่งานจิตรกรรมและภาพประกอบ แต่ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ก็ขยายไปรวมภาพถ่าย ศิลปะอัศจรรย์มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับแฟนตาซี แฟนตาซีเชิงวิทยาศาสตร์ จินตนาการ และภาวะกึ่งฝัน มโนทัศน์อันเหนือจริง รวมทั้งศิลปะเชิงกอธิก

การที่ศิลปะอัศจรรย์มีที่มาจากประเภทของงานศิลปะแบบสัญลักษณ์นิยมของสมัยวิกตอเรียทำให้ครอบคลุมหัวข้อที่คล้ายคลึงกันที่รวมทั้งเทพวิทยา รหัสญาณ (Occultism) และรหัสยลัทธิ (Mysticism) หรือตำนานและตำนานพื้นบ้าน และจะแสวงหาคุณค่าของคุณสมบัติภายในธรรมชาติของวิญญาณและจิตวิญญาณ

ในฝรั่งเศสเรียกศิลปะในกลุ่มนี้ว่า “ศิลปะแฟนตาสติค” (Fantastique) ในภาษาอังกฤษบางครั้งก็จะเรียกว่า “ศิลปะมโนทัศน์” (Visionary Art) หรือ “ศิลปะวิลักษณ์” (Grotesque Art) หรือ “ศิลปะแมนเนอริสม์” ศิลปะอัศจรรย์มีความสัมพันธ์อย่างเกี่ยวดองกับวรรณกรรมแฟนตาซี นี่คือรากฐานที่มีของศิลปะแนวแฟนตาสติก

ส่วนศิลปะแนวเซอร์เรียลิสม์ หรือแนวเหนือจริง (Surrealism) ซึ่งมีมาตั้งแต่ในปี 1917 มีความมุ่งหมายเพื่อให้สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีพื้นฐานจากลัทธิ ดาดา (DaDaism)

‘ความงามและความน่าเกลียด’ สุนทรียศิลป์แห่ง ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

ศิลปะเหนือจริง มีจุดหมายอยู่ที่การคลี่คลายสภาพอันขัดแย้งระหว่างระยะห่างของความฝันและความเป็นจริง โดยถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะด้วยวิธีต่างๆ กัน เช่น สร้างภาพซึ่งดูเหนือจริงหรือถึงขั้นหลอน หรือพัฒนาเทคนิคด้านภาพที่จะช่วยถ่ายทอดความฝันหรือจิตใต้สำนึกออกมา

งานของกลุ่มนี้จึงมักเกี่ยวข้องกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันต์ ฟรอยด์ ที่ว่ามนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึก ซึ่งฝังความอยากอันมิได้ขัดเกลาเอาไว้ จนทำให้รู้สึกว่าความป่าเถื่อนยังมิได้หายไปจากมนุษย์ หากแต่หลบอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ มีการพัฒนาทั้งในด้านเทคนิคและกรรมวิธีต่างๆ ที่สามารถแสดงสิ่งที่สะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกที่ถูกเก็บกดไว้ ต้องการแสวงหรือบรรลุถึงความจริงสูงสุดอันเกิดจากการผสานรวมของความฝันกับความจริงแห่งโลกภายนอก

กล่าวคือ ต้องการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดภายในออกมาอย่างเสรีในทุกรูปแบบ โดยปราศจากการควบคุมใดๆ ทั้งสิ้น

‘ความงามและความน่าเกลียด’ สุนทรียศิลป์แห่ง ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

การสร้างงานจึงเป็นเหมือนการสำรวจสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวมนุษย์ เช่น การละเมอขณะหลับ การสร้างวิมานในอากาศขณะที่ไม่ได้หลับ การเพ้อ การสะสมภาพต่างๆ ไว้ในส่วนลึกของจิตใจกลายเป็นความทรงจำและความคิด เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นภาพไร้สำนึกเบื้องลึกให้ไหลตรงเข้าไปสู่ความสำนึก แล้วเปลี่ยนความฝันเหล่านั้นให้มีเหตุและผลของความจริง ภาพที่เกิดขึ้นในจิตใต้สำนึกจะเต็มไปด้วยสิ่งพิศดาร มหัศจรรย์ ลึกลับ ปราศจากเหตุและผล รวมถึงการใช้วิจารณญาณด้านศีลธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าในการแสดงออกของงานจิตรกรรม

ชิ้นงานทั้งหมดของการผสมผสานศิลปะทั้งสองแขนงคือ แฟนตาสติก กับเซอร์เรียลิสม์ ของ ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ถูกภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง คัดสรรผลงานจิตรกรรมกว่า 40 ชิ้น ตลอดจนภาพลายเส้น วัตถุสิ่งของ หนังสือ รวมถึงอุปกรณ์ศิลปะ และภาพยนตร์สารคดีส่วนพระองค์ ฯลฯ

‘ความงามและความน่าเกลียด’ สุนทรียศิลป์แห่ง ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

การทำงานของ ผศ.ดร.ศุภชัย เริ่มต้นจากการศึกษาผลงานจิตรกรรมของท่านหญิงมารศีฯ ตั้งแต่ชิ้นแรกจนชิ้นสุดท้ายตามลำดับเวลา เพื่อให้ผลงานบอกเล่าถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการถ่ายทอด จากนั้นจึงตีความเพื่อให้ได้คำจัดกัดความ 4 คำ ได้แก่ ความงาม (Beauty) ความน่าเกลียด (Ugliness) เส้นทางการทำงานศิลปะของ ม.จ.มารศีฯ (Chronology of Marsi and Art History และสัจจะ (Truth) ภายใต้คำว่า สุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นโจทย์หลักก่อนจะต่อยอดไปสู่ขั้นตอนและวิธีการจัดแสดง

นิทรรศการชุดนี้ จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ 5-8 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ถึงวันที่ 23 ธ.ค. 2561 เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-18.30 น. (ยกเว้นวันจันทร์-วันอังคาร) นิทรรศการเปิดให้เข้าชมฟรี (มีค่าบำรุงพิพิธภัณฑ์ 30 บาท) สอบถามโทร.02-281-2224