posttoday

ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่คือสุนทรียะฉะสังคม ใน เบียนนาเล่เมืองไทย

11 ตุลาคม 2561

จากคำว่า เบียนนาเล่ (Biennale) ในภาษาอิตาเลียน แปลว่า ทุกสองปี วันนี้ได้กลายเป็น แบรนด์ ของเทศกาลศิลปะ

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่

จากคำว่า เบียนนาเล่ (Biennale) ในภาษาอิตาเลียน แปลว่า ทุกสองปี วันนี้ได้กลายเป็น แบรนด์ ของเทศกาลศิลปะ โดยมีต้นกำเนิดจากงาน เวนิส เบียนนาเล่ซึ่งถือเป็นมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก

เวนิสคือต้นแบบ และคำว่า เบียนนาเล่ ก็ถูกนำไปต่อท้ายชื่อเมืองหรือชื่อประเทศ อย่างในเอเชียมีที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลี ปักกิ่ง มะนิลา และล่าสุดปีนี้ เป็นฤกษ์งามยามดีทำให้ประเทศไทยมีเบียนนาเล่ 2 งานพร้อมกัน คือ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
ชื่อย่อว่า BAB (Bangkok Art Biennale) จัดขึ้นในกรุงเทพฯ วันที่ 19 ต.ค.นี้-3 ก.พ.ปีหน้า และ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่กระบี่ มีชื่อเล่นว่า TBK (Thailand Biennale, Krabi) จัดขึ้นใน จ.กระบี่ วันที่ 2 พ.ย.นี้ -28 ก.พ. 2562

ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่คือสุนทรียะฉะสังคม ใน เบียนนาเล่เมืองไทย

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ 2561 กล่าวถึงงานดังกล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่น่าจะมีเทศกาลศิลปะร่วมสมัย จึงมีการจัดตั้งมูลนิธิบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานและเพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นวางแผนจะจัดต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ครั้งคือ ปี 2561 2563 และ 2565

สำหรับปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดสุขสะพรั่ง พลังอาร์ต หรือ Beyond Bliss โดยมีแก่นเรื่องคือ การค้นหาความหมายของความสุขที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของศิลปินแต่ละคน รวมทั้งการแสดงความคิดเห็น สะท้อนสังคม การเมือง และปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านชิ้นงาน

ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่คือสุนทรียะฉะสังคม ใน เบียนนาเล่เมืองไทย

“เราอยากวางธีมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาวะไม่ว่าจะในเมืองไทย ในภูมิภาค หรือในระดับนานาชาติ นั่นคือ เรื่องของความสุข ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่เรียบง่ายแต่ก็ยากมาก เพราะในสภาวะปัจจุบันความสุขกับความทุกข์มันปนกันไปหมด

ดังนั้น เราได้ให้ศิลปินนำโจทย์นี้เป็นตัวตั้ง คัดเลือกศิลปินจากไทยและต่างประเทศจำนวน 75 คน มาศึกษาบริบทของกรุงเทพฯ ว่าจะมีการวางงานอย่างไร ซึ่งในกรณีนี้เองที่ทำให้เราได้เลือกจุดที่จะจัดแสดงงานทั้งหมด 20 จุด โดยที่เราให้ความสนใจในเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรมอย่างวัด อาคารเก่า และแหล่งเรียนรู้ เป็นงานดูงานศิลป์นอกแกลเลอรี่ ซึ่งทำให้คนดูได้มีโอกาสเห็นส่วนอื่นๆ ของชีวิตในกรุงเทพฯ”

เอกลักษณ์ของเทศกาลคือ การนำเสนองานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายแขนง บนพื้นที่สำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น วัดอรุณราชวราราม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารอาคารอีสต์เอเชียติก และพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โครงการวันแบงค็อก ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน เป็นต้น

“เทศกาลศิลปะจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความสงบในบ้านเมือง แต่ในเวลาเดียวกันเมื่อมาดูศิลปะจะได้ตระหนักคิดด้วยว่า สภาวะแวดล้อมของสังคมเป็นอย่างไร ซึ่งศิลปินบางคนได้พูดถึงเรื่องมลภาวะ เรื่องของคนไร้สัญชาติ เรื่องของเพศสภาพ อย่างน้อยจะตระหนักได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเราและในชีวิตปัจจุบัน เป็นเหมือนกระจกสะท้อนจากศิลปิน”

เนื่องจากมีเทศกาลเบียนนาเล่ 2 งานจัดซ้อนกันใน 2 จังหวัด ศ.ดร.อภินันท์ มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะทุกอย่างไม่ควรกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และแม้ว่า 2 งานนี้จะต่างคนต่างจัด แต่ก็เอื้อซึ่งกันและกัน ทั้งยังส่งผลดีต่อมิติการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามา

“บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะของศิลปินระดับโลกอย่าง ยาโยอิ คุซามะ มารีนา อับราโมวิช และศิลปินของไทยที่มีเกือบครึ่งหนึ่ง และยังมีความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะ เช่น การสัมมนาเชิงวิชาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนไทยรู้สึกว่า ศิลปะไม่ได้ยากที่จะดู ศิลปะอยู่ใกล้ตัวเรา และศิลปะควรเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตในการสร้างความอ่อนโยน การพัฒนา ประเทืองปัญญา และรสนิยม” ประธานอำนวยการ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ทีมภัณฑารักษ์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และอดีตผู้อำนวยการ หอศิลป์กรุงเทพฯ กล่าวถึงพื้นที่หอศิลป์ที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะของ 25 ศิลปินว่า จะมีให้ชมตั้งแต่ลานด้านหน้า ชั้น 7 และชั้น 8 โดยชั้น 8 เป็นพื้นที่ของสถาบันมารีนา อับราโมวิช (MAI-Marina Abramovic Institute) แบ่งเป็นโซนกิจกรรมตามวิธีการแบบอับราโมวิช (The Abramovic Method) ที่จะมอบประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมอยู่กับตัวเองและเชื่อมต่อกับคนอื่น และโซนการแสดงแบบระยะยาว 8-12 ชั่วโมงจากศิลปิน 12 คน ที่สถาบันคัดเลือกมาซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนไทยโดยจะเปิดให้เข้าร่วมและเข้าชมช่วง 3 สัปดาห์แรก จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดแสดงงานของสถาปนิกสยาม

สำหรับชั้น 7 มีประเด็นที่เข้มข้นทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนกรณีโรฮีนจา ประเด็นคนไร้สัญชาติ ผู้หญิงบริการ บทบาทของผู้หญิงในสังคมมุสลิมและใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปะจากสิ่งดาษดื่นของ ชเว จอง ฮวา ที่นำตะกร้าหลากสีมาทำเป็นโคมไฟสูง 5 ชั้น และเรื่องราวชีวิตคนชายขอบในกรุงเทพฯ ของ ศรชัย พงษ์ษา ที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งไว้กลางลานหน้าหอศิลป์

“ผลงานศิลปะในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ มีทั้งผลงานเก่าที่ถูกปรับให้เหมาะกับสถานที่ และผลงานใหม่ โดยมีผลงานใหม่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละชิ้นที่สร้างสรรค์ใหม่ได้มีการพูดคุยกันเยอะและลึกซึ้ง โดยบางผลงาน บางเรื่อง ศิลปินไม่ได้เรียกร้องความสุขในเชิงวัตถุ แต่เป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ เช่น ความสุขที่ได้อยู่ในที่ทำกินของตัวเอง การได้อยู่ในอากาศที่สะอาด การมีสิทธิในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อความสุขของมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ลักขณา กล่าว

ในส่วนของ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Edge of the Wonderland หรือ สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์ นำเสนอกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงผู้คน ชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยผลงานศิลปะเฉพาะพื้นที่ (Site-Specific) จากศิลปินกว่า 70 ชีวิต และเป็นโครงการที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ จ.กระบี่ จัดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าจากทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมของ จ.กระบี่

ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2557 และหนึ่งในศิลปิน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ กล่าวว่า งานนี้มีความพิเศษเฉพาะและแตกต่างจากงานเบียนนาเล่โดยทั่วไป เนื่องจากศิลปินต้องลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษา และคิดสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะของตัวเองเพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่นั้นๆ

ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่คือสุนทรียะฉะสังคม ใน เบียนนาเล่เมืองไทย

“ศิลปินต้องใช้เวลาเข้าไปศึกษาพื้นที่ จากนั้นกลับไปคิดและทำงานของตัวเอง ก่อนจะกลับมาติดตั้งงานในพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งมีศิลปินบางท่านได้ลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน นอกจากนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบี่ เพื่อให้ศิลปินมีความรู้และความเข้าใจว่ากระบี่มีอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากภาพลักษณ์ที่เราเห็นอยู่คือ ธรรมชาติที่สวยงามและเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ยังมีอดีตยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนที่ยังรักษาวิถีชีวิตเดิมไว้ท่ามกลางความทันสมัยของสังคมปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งตำนานต่างๆ ที่เล่าขานต่อกันมา”

พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานแบ่งเป็น 5 พื้นที่หลัก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ท่าปอมคลองสองน้ำ เขาขนาบน้ำ และพื้นที่สาธารณะรอบตัวเมืองกระบี่ รวมถึงพื้นที่ในร่มอย่าง พิพิธภัณฑ์หอศิลป์อันดามัน ซึ่งปัญญาได้รับหน้าที่คัดสรรผลงานของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร และศิลปินอาเซียนจำนวนกว่า 150 ชิ้น โดยส่วนใหญ่เป็นงานจิตรกรรมเพื่อสร้างความหลากหลายให้มหกรรมศิลปะครั้งนี้

“ตัวผมเองหยิบยกประเด็นที่ว่า นอกจากเราจะพยายามอนุรักษ์และป้องกันธรรมชาติ เรายังต้องแสวงหาสิ่งที่ยังไม่ปรากฏพบอยู่ในธรรมชาติ เช่น การค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากค้นพบที่ไหนก็หมายความว่าที่นั่นยังมีความอุดมสมบูรณ์ และจะจุดประกายให้คนอยากอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงก็มีผลกระทบต่อสัตว์หลายสายพันธุ์ซึ่งบางชนิดอาจกำลังสูญหายไป ดังนั้นสัตว์ที่อยู่รอดจะต้องมีวิวัฒนาการให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ เป็นการสะท้อนว่า ตอนนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชีวิต”

ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่คือสุนทรียะฉะสังคม ใน เบียนนาเล่เมืองไทย

ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้สร้างสรรค์สัตว์สายพันธุ์ใหม่ โดยใช้ส่วนประกอบจากรถยนต์ เช่น กันชน ฝากระโปรงรถ เพื่อนำเสนอเนื้อหาระหว่างวัตถุที่เป็นโลหะกับธรรมชาติซึ่งมีทั้งความกลมกลืนและความรู้สึกขัดแย้ง

“ผมสนใจเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในกระบี่ ซึ่งปัจจุบันมีความเจริญในเรื่องการท่องเที่ยวและความเป็นสังคมเมืองเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในตัวเมืองกระบี่อย่างเดียวแต่ยังเกิดขึ้นในสังคมโลก เพราะตราบใดที่ความเจริญของวัตถุมากขึ้นเท่าไร สิ่งแวดล้อมธรรมชาติก็ต้องถูกเบียดเบียนให้เหลือน้อยลงไปเท่านั้น”

ปัญญากล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศไทยไม่มีเพียงศิลปะแบบประเพณี แต่ยังมีศิลปะร่วมสมัยซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดให้เห็นว่า การขับเคลื่อนสังคมให้ทันสมัยในบริบทสังคมโลกไม่ได้วัดที่ความเจริญของวัตถุ แต่วัดกันที่ศิลปวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้ทัดเทียมอารยประเทศ

“ศิลปะร่วมสมัยจะเป็นศิลปะที่ทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดการพัฒนา และมองสังคมในประเด็นต่างๆ ผ่านศิลปะที่กำลังสะท้อนปัญหาในสังคม”

ดังนั้น ความดีงามของงานศิลปะในปัจจุบันไม่ใช่เพียงการชื่นชมความงดงามและสุนทรียภาพ แต่ยังจุดประกายประเด็นต่างๆ ให้ตระหนักและเกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสังคมหรือแม้กระทั่งคุณภาพชีวิตของตัวเอง