posttoday

ลดเครียด ด้วยนวัตกรรมวิถีพุทธ

10 ตุลาคม 2561

มี “งานวิจัยชิ้นล่าสุด” ที่อาจทำให้ความครียดความทุกข์ลดลงได้

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ โครงการวิจัยสุขชีวีวิถีพุทธ คลังภาพโพสต์ทูเดย์ 

นับเป็นโอกาสอันดีที่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสคุยกับ ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นั่นเพราะดร.กมลาศ เพิ่งทำวิจัยเรื่อง “การพัฒนากิจกรรมเพื่อสร้างชีวสุขตามแนวทางการพัฒนาจิตและปัญญาแบบองค์รวม” เสร็จสิ้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเครียดร้อยแปดงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นข่าวที่ดีจริงๆ

ใช่! ความเครียดอยู่รอบตัวเรา หากท่ามกลางความเครียดและความทุกข์ของโลกสมัยใหม่ อย่างน้อยเราก็ยังมี “งานวิจัยชิ้นล่าสุด” ที่อาจทำให้ความครียดความทุกข์ลดลงได้

ดร.กมลาศ เล่าว่า การใช้ชีวิตที่ติดอยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลาของคนยุคปัจจุบัน นำไปสู่ความเครียดแบบไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วพลิกผัน ยังนำมาซึ่งความทุกข์กังวล และการถูกคุกคามด้วยโรคภัยต่างๆ ทำอย่างไรจึงจะมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เพื่อนำไปสู่ความสุขของมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังพุทธพจน์ที่กล่าวว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ลดเครียด ด้วยนวัตกรรมวิถีพุทธ

พระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 (MCU Nan Congress ll)ที่วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน จ.น่าน ว่า ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) หากในมิติของพุทธศาสนา ควรได้ผลักดันการวิปัสสนากรรมฐานในฐานะที่เป็นพุทธนวัตกรรม ที่จะใช้พัฒนาจิตใจคนในสังคม ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ

“ทางโลกใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ส่วนฝ่าย มจร จะใช้ปัญญาควบคู่กับวิทยาศาสตร์”

มจร โดยสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ สถาบันวิปัสสนาธุระ ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งคณะทำงานวิจัยร่วม มีพระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ, รศ.ดร. รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสังคมศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการแผนวิจัย “การพัฒนาจิตและปัญญาแบบองค์รวมด้วยกระบวนการไบโอฟีดแบ็ก (Bio-Feedback)”

ลดเครียด ด้วยนวัตกรรมวิถีพุทธ

สำหรับแผนวิจัย “การพัฒนาจิตและปัญญาแบบองค์รวมด้วยกระบวนการ Bio-Feedback” มีโครงการย่อยที่ 2 ชื่อ “การพัฒนากิจกรรมเพื่อสร้างชีวสุขตามแนวทางการพัฒนาจิตและปัญญาแบบองค์รวม ด้วยกระบวนการ Bio Feedback” ซึ่งมุ่งศึกษาแนวคิดกระบวนการพัฒนาจิตและปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนา กิจกรรมสร้างชีวสุขตามแนวทางการพัฒนาจิตและปัญญาแบบองค์รวม และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของการเข้าร่วมกิจกรรมชีวสุขตามแนวทางพัฒนาจิตและปัญญาแบบองค์รวมด้วยกระบวนการไบโอฟีดแบ็ก

ดร.กมลาศ เล่าว่า ไบโอฟีดแบ็ก คือ กระบวนการหรือเทคนิควิธีที่บุคคลเรียนรู้ที่จะควบคุมการทำงานของร่างกาย ซึ่งปกติไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ เช่น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ อุณหภูมิของผิวหนัง ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ โดยอาศัยเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ บันทึกการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะภายในที่ต้องการควบคุม

ข้อมูลจากเครื่องไบโอฟีดแบ็กจะปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ ผ่านสัญญาณเสียง แสง หรือภาพ รับรู้แบบเรียลไทม์ จุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนแอ็กทิวิตี้ของสมองและกระบวนการต่างๆ ในร่างกายของผู้ถูกทดสอบให้มีสมาธิและผ่อนคลาย เรียกว่ากระบวนการป้อนกลับของข้อมูลทางชีววิทยา หรือไบโอฟีดแบ็กนั่นเอง

ลดเครียด ด้วยนวัตกรรมวิถีพุทธ

งานวิจัยใช้การวิจัยกึ่งทดลองเปรียบเทียบก่อน-หลังของกลุ่มพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 17 รูป จำนวน 9 วัน เพื่อทำ 8 กิจกรรมดังนี้ 1.วัดสัญญาณสมองที่เชื่อมต่อสัญญาณคอมพิวเตอร์ 2.ประเมินสถานะสุขภาพทางกายและสารชีวโมเลกุลภายในร่างกาย 3.ประเมินความเครียดด้วยตนเอง (แบบประเมินความเครียด-กรมสุขภาพจิต)

4.ประเมินภาวะพุทธทางปัญญา (MOCA Test) 5.ประเมินความมีสมาธิในการคำนวณ (Math Test) 6.ประเมินจากการสอบอารมณ์ระหว่างการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของกลุ่มทดลองโดยพระวิปัสสนาจารย์ 7.ประเมินจากแบบสะท้อนความคิดและการรู้สึกตัว 8.ประเมินแบบวัดความสุขเชิงพุทธ

ดร.กมลาศ เล่าว่า การปฏิบัติธรรมของพระนิสิต เป็นกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อดูการตอบสนองของร่างกาย โดยใช้เครื่องวัดค่าคลื่นสมองไฟฟ้า EEG (Electroencephalography) เพื่อแปลผลตอบสนองทางชีวภาพในสภาวะนั้นๆ และใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนยืนยันผลการฝึกวิปัสสนากรรมฐานผ่านเครื่องมือวัดผล เช่นการเจาะเลือดเพื่อดูผลทางชีวภาพโมเลกุล เป็นต้น

“คงเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า สมาธิมีผลต่อคลื่นสมอง แต่เสน่ห์ของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการตรวจสอบด้วยผลเลือดอีกชั้นหนึ่ง”

สำหรับผลประเมินในรายละเอียดพบว่าการประเมินความเครียดด้วยตัวเองในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง การประเมินภาวะการรับรู้ในด้านต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการทดสอบความมีสมาธิในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ พบว่ามีการใช้เวลาที่ลดลงและมีการคำนวณที่ถูกต้องมากขึ้น

ด้านการประเมินทางพุทธิปัญญา ก่อนและหลังฝึกปฏิบัติเพื่อการพัฒนากิจกรรมเพื่อสร้างชีวสุขตามแนวทางการพัฒนาจิตและปัญญาแบบองค์รวมของพระนิสิตพบว่า คะแนนความสุขเชิงพุทธหลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลอง และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคลื่นสมองกับจำนวนครั้งในการวัดและความสุขโดยภาพรวม

จากงานวิจัยพบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมชีวสุขตามหลักพระพุทธศาสนา สามารถสร้างความสงบและความผ่อนคลายทางด้านจิตใจ การเปลี่ยนแปลงสัญญาณไฟฟ้าคลื่นสมองและผลการตรวจเลือดที่ปรากฏชัดเจนในกลุ่มทดลอง ชี้ให้เห็นว่า บุคคลรักษาสภาวะจิตให้มีความสงบชั่วขณะใดขณะหนึ่งได้ บุคคลนั้นมีสภาวะความสุขได้

รศ.ดร.กุหลาบ รัตนสัจธรรม นักวิจัยระบุว่า ไบโอฟีดแบ็กเป็นกระบวนการสะท้อนกลับการทำงานทางสรีรวิทยา ซึ่งอยู่ภายในร่างกายมนุษย์ ให้ออกมาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ หากนำเทคนิคของไบโอฟีดแบ็กมานำเสนอ จะทำให้คนเข้าใจและเห็นความสำคัญของสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่

“มีการกล่าวว่าปฏิบัติสมาธิแล้วดี คนไม่เคยปฏิบัติก็ไม่เข้าใจว่าดีอย่างไร แต่ถ้าเราดึงข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในร่างกายสะท้อนออกมาให้เห็น ก็จะเป็นการเร้าให้คนทั่วไปหันมาฝึกฝนสิ่งดีๆ ในทางหนึ่ง”

ลดเครียด ด้วยนวัตกรรมวิถีพุทธ

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า นับจากนี้การมีสติตั้งอยู่พัฒนาการของจิตและระดับสมาธิ จะเป็นเรื่องที่ปัจเจกชนจับต้องได้ ผ่านการตรวจวิเคราะห์คลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมองและกระบวนการไบโอฟีดแบ็ก งานวิจัยครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จยิ่ง เพราะสามารถใช้วิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์ตามหลักพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน

ดร.ธารารัตน์ ขาวเขียว นักวิจัย เล่าว่าการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิในระดับต่างๆ พิสูจน์ได้แล้วด้วยไบโอฟีดแบ็กที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเจริญสติและสมาธิช่วยปรับสมดุลสารเคมีและฮอร์โมนต่างๆ ทำให้ระบบอวัยวะภายในทำงานดีขึ้น

ผศ.ดร.วิลาสินี สุวรรณจ่าง นักวิจัย เล่าว่า คลื่นไฟฟ้าสมองชนิดอัลฟ่า พบได้ในภาวะที่ผ่อนคลาย มีความตระหนักรู้ ขณะที่คลื่นสมองชนิดเบต้า พบได้ในภาวะที่มีความตั้งใจจดจ่อ การฝึกปฏิบัติด้วยวิธียุบพอง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มระดับคลื่นอัลฟ่า เข้าสู่ความผ่อนคลายจากการฝึกยุบพองเพียง 9 วัน

พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ,รศ.ดร. เล่าว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะได้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างศูนย์สุขชีวีวิถีพุทธภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาวะองค์รวม เป็นแหล่งฝึกอบรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ที่มุ่งเน้นการป้องกัน (Preventive Healing) มากกว่าการรักษา (Curative Healing)

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้จะได้เผยแผ่ต่อไป เพื่อขยายผลในการลดความเครียดของคนในสังคมทุกวันนี้”

ปิดท้ายด้วย ดร.กมลาศ ระบุว่า ผลวิจัยฯยังมีประเด็นน่าสนใจที่จะได้ศึกษาต่อไป เช่น ผู้ฝึกสมาธิที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมจะมีคลื่นสมองต่ำอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า ผู้ฝึกสมาธิอยู่เสมอจะมีคลื่นอัลฟ่าเกิดขึ้นที่สมองตลอดเวลา

“แม้ชีวิตเราทุกวันนี้จะถูกบีดอัดด้วยความเครียด แต่ถ้าทำจิตใจให้คุ้นเคยกับความสงบ มีสภาพจิตที่ตื่นตัวตระหนักรู้ เราก็อยู่รอดได้ มีสมาธิ มีสติ มีปัญญา คอยกำกับนำทาง รู้เท่าทันโลกและตัวเอง”

จากผลวิจัยได้สร้างนวัตกรรมชุดความรู้ “สุขชีวีวิถีพุทธ : การเข้าถึงความสุขตามแนวพระพุทธศาสนา” จุดประกายให้ผู้คนได้หันกลับมาพิจารณาการแสวงหาความสุขของตัวเอง โดยเริ่มต้นที่ชีวสุขแห่งตัวเอง ตามหลักพระพุทธศาสนา งานวิจัยฯ อยู่ระหว่างตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ