posttoday

หยุดคุกคามทางเพศ ด้วยพลังสังคม

09 กรกฎาคม 2561

สาเหตุที่ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศมาอย่างยาวนานนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะบางสังคมมองว่า

เรื่อง ภาดนุ ภาพ เอพี

สาเหตุที่ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศมาอย่างยาวนานนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะบางสังคมมองว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยอมรับกันได้ เนื่องจากบางสังคมยอมรับความต้องการของเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้น เมื่อผู้หญิงหลายคนถูกล่วงละเมิด บางสังคมยังกลับซ้ำเติมพวกเธอเข้าไปอีก เพราะไปยึดติดกับมายาคติที่ว่า เป็นเพราะพวกเธอแต่งตัวโป๊หรือล่อแหลมเกินไป ก็เลยทำให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

โอ้ว! ถ้ายังมีคนคิดแบบนี้อยู่ละก็ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันใช้พลังสังคม เพื่อหยุดการล่วงละเมิดทางเพศเสียที?

ซินดี้-สิรินยา บิชอพ นางแบบและนักแสดงสาวชื่อดัง ผู้ริเริ่มแคมเปญ #DontTellMeHowToDress ซึ่งเป็นกระแสการเคลื่อนไหวในประเทศไทย ที่สอดคล้องกับกระแส #MeToo ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก โดยกลุ่มคนผู้มีชื่อเสียง และนักเคลื่อนไหว ที่พากันออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติทางสังคมที่มีต่อความรุนแรงทางเพศ เล่าถึงที่มาของแคมเปญนี้

“แคมเปญนี้เกิดจากการที่ซินดี้พูดความในใจผ่านโซเชียลมีเดีย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการพูดถึงการแต่งกายของผู้หญิงไทย ว่าอาจเป็นสาเหตุของการถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่กลับไม่มีใครพูดถึงการกระทำของผู้ชาย หรือมีมาตรการที่จะจัดการกับคนพวกนี้อย่างจริงจังสักที ซินดี้ก็เลยแชร์ความคิดเห็นลงบนโซเชียลมีเดีย แล้วปรากฏว่ามีผู้หญิงเข้ามาแชร์ประสบการณ์ที่พวกเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศกันมากมาย

หยุดคุกคามทางเพศ ด้วยพลังสังคม ซินดี้-สิรินยา บิชอพ

นี่จึงเป็นที่มาของ #DontTellMeHowToDress ซึ่งเราอยากจะสานต่อ ซินดี้ก็เลยโทรไปหา คุณณัฐ ประกอบสันติสุข (ช่างภาพชื่อดัง) ว่าอยากจะจัดนิทรรศการ ‘พลังสังคม หยุดคุกคามทางเพศ’ ขึ้นมา จากนั้นก็ติดต่อไปยัง ‘มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล’ ด้วย เมื่อเริ่มมีพันธมิตรมากขึ้น เราก็อยากจะเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงไทยในเรื่องนี้ จึงได้ติดต่อไปยังองค์การสหประชาชาติ (UN Women) ซึ่งทางยูเอ็นก็ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมทั้งพันธมิตรอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ทำให้เรามีพลังในการสานต่อแคมเปญ และได้จัดนิทรรศการขึ้นในช่วงวันที่ 4-15 ก.ค.นี้ ที่ชั้น 4 หอศิลป วัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งในนิทรรศการจะมีการจัดแสดงภาพถ่าย 16 ภาพ 16 ข้อความจากเหล่าเซเลบบริตี้ชื่อดังของไทย อาทิ อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ดาวิกา โฮร์เน่ ราณี แคมเปน เมทินี กิ่งโพยม ฯลฯ รวมทั้งภาพเสื้อผ้าของเหยื่อจากมูลนิธิฯ ซึ่งตัดทอนภาพที่โหดร้ายออกไปแล้ว โดยมีข้อความหรือเนื้อหาข้างๆ ที่สามารถจะส่งต่อหรือสื่อสารออกไปยังสังคมในวงกว้างได้ ว่าทุกคนมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง”

ซินดี้บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ทุกเสียงของทุกคนที่มาร่วมมือกันนั้น มีพลังในการเรียกความสนใจจากผู้คนให้มาร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมากก็ตาม

“นอกจากเราควรจะมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว ซินดี้ว่าทุกคนต้องถามตัวเองด้วยว่า เราคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร ที่สำคัญเราต้องย้อนไปดูมายาคติที่มีอยู่ในตัวเราซะก่อน ก่อนที่จะสื่อสารเรื่องนี้ไปให้ผู้อื่นได้รับรู้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราจัดนิทรรศการฯ นี้ขึ้นมา เพราะอยากให้คนทั่วไปเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ซินดี้เชื่อว่าทุกเสียงมีพลังจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือทำอาชีพอะไร ก็สามารถช่วยกันเป็นพลังสังคมในเรื่องนี้ได้

หยุดคุกคามทางเพศ ด้วยพลังสังคม

ในฐานะที่ตัวเองเป็นแม่ของทั้งลูกสาวและลูกชาย จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ซินดี้อยากจะสื่อถึงพ่อแม่ท่านอื่นๆ ให้ตระหนักในเรื่องนี้ เพราะยุคนี้เด็กๆ ทั้งเพศหญิงและเพศชายก็มีสิทธิถูกล่วงละเมิดทางเพศได้เท่าๆ กัน ดังนั้น ในฐานะแม่คนหนึ่งและประชาชนของประเทศไทย ถ้าสามารถช่วยกระตุ้นเตือนในเรื่องนี้ได้ ซินดี้ก็ยินดีช่วยเต็มที่เลยค่ะ”

ด้าน แอนนา คาริน แจทฟอร์ส ตัวแทนจากยูเอ็น วีแมน เผยว่า จากกระแส #MeToo และ #DontTellMeHowToDress ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นทั้งแรงกระตุ้น แรงขับดัน และแรงบันดาลใจให้เกิดการรณรงค์ในเรื่องนี้ขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย จึงเป็นสิ่งที่น่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง

“การที่เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและลุกขึ้นมาสร้างสังคมที่ช่วยปกป้องสิทธิของผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศซึ่งมีอยู่มากมายทั่วโลกนับเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะแทนที่จะกล่าวโทษฝ่ายหญิงซึ่งเป็นผู้ถูกล่วงละเมิดว่าเป็นเพราะพวกเธอแต่งตัวโป๊เกินไป ทำไมเราไม่ย้อนกลับไปถามผู้ชายบ้างว่า คุณกล้าทำเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร จากนั้นก็ควรมีมาตรการที่จะจัดการกับคนพวกนี้ให้เด็ดขาดซะที

จากกรณีศึกษาเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเวียดนาม ที่มีเด็กหญิงอายุ 12 ปีถูกข่มขืนเนื่องจากการแต่งตัวไม่มิดชิด คนในสังคมที่นั่นก็กล่าวโทษว่าเป็นเพราะการแต่งตัวของเธอนั่นแหละที่ทำให้เกิดเรื่อง ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะปัจจุบันนี้การที่เด็กถูกข่มขืนนั้นไม่ได้เกิดจากคนแปลกหน้าเสมอไป ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากคนใกล้ชิดหรือญาติในครอบครัว ซึ่งเมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดี แต่ด้วยความอายหรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม ท้ายที่สุดคดีก็ไม่คืบหน้า หรือมีการถอนแจ้งความไปเสียก่อน ปัญหาเหล่านี้จึงยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไปเสียที จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์และขอความร่วมมือจากทางภาครัฐและผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อที่ปัญหาสังคมเรื่องนี้จะได้ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงจนหมดไปในที่สุด”

หยุดคุกคามทางเพศ ด้วยพลังสังคม แอนนา คาริน แจทฟอร์ส

รศ.อภิญญา เวชยชัย ประธานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า ปัจจุบันตัวเลขของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดหรือถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ตามสถิติที่มูลนิธิฯ ได้เก็บรวบรวมไว้ ยังคงมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น

“ขอยกตัวอย่างตัวเลขปี 2558 ในประเทศไทยที่มูลนิธิฯ ได้เก็บรวบรวมไว้จากข่าว พบว่า มีจำนวนผู้ถูกล่วงละเมิด 300 กว่าคน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะบางรายอาจอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถออกมาเปิดเผยได้ ส่วนใหญ่จะถูกล่วงละเมิดจากคนในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน และในสถานที่ทางศาสนา เพียงแต่อาจจะไม่ได้เป็นข่าว ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวก็คือ เราพบว่าเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศนั้น มีแนวโน้มว่ามักจะอายุน้อยลงตามที่เป็นข่าว แม้แต่เด็กอายุ 1 ขวบ 8 เดือน ก็เคยถูกกระทำมาแล้ว ทั้งที่เขาไม่ได้มีสภาพที่จะไปยั่วยวนให้เกิดอารมณ์ได้เลย

อีกสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงก็คือ มูลนิธิฯ พบว่า ปัจจุบันมีหญิงสูงวัยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากญาติในบ้านของตัวเอง เช่น ข่าวคุณยายวัย 86 ปีถูกหลานชายข่มขืน สิ่งเหล่านี้บอกให้รู้ว่า เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเป็นสถานการณ์ภายในที่ถูกซุกเอาไว้ใต้พรม ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความน่ากลัวว่า สถานที่ที่เกิดเรื่องนั้น ไม่ใช่สถานที่ประเภทผับหรือบาร์เท่านั้น แต่เป็นในบ้านที่เราอยู่อาศัย จึงสอดคล้องกับการจัดนิทรรศการครั้งนี้ที่แสดงให้เห็นว่า หลายชุดที่ผู้หญิงหรือเด็กสวมใส่ เป็นเสื้อผ้าธรรมดาที่เรียบง่ายซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการล่วงละเมิดโดยตรง”

รศ.อภิญญาเสริมว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้ สิ่งแรกคือต้องโฟกัสไปที่ผู้ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายก่อนเลย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาทั้งในด้านสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องคดีความต่อไป

หยุดคุกคามทางเพศ ด้วยพลังสังคม

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันไม่ใช่แค่รายบุคคลเท่านั้น แต่มีทั้งผู้หญิง เด็ก และผู้สูงวัยที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ตรงนี้ ที่สำคัญก็คือ ผู้ถูกกระทำมักรู้สึกกลัวที่ตัวเองจะตกเป็นข่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่ผู้ถูกกระทำต้องเป็นฝ่ายแบกรับเรื่องนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว ฉะนั้นถ้ามีผู้เสียหายสักคนลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับเรื่องที่เกิดขึ้น จะถือว่าเป็นเรื่องที่กล้าหาญมาก

ดังนั้น พวกเราต้องช่วยกันรณรงค์ให้เหยื่อตระหนักว่า พวกเขาไม่ใช่คนผิด ผู้ที่มากระทำต่างหากที่เป็นผู้ผิด แล้วเราต้องร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงและแก้ไขมายาคติที่กล่าวโทษผู้หญิงในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเพศให้หมดไป จึงต้องอาศัยความร่วมมือ ให้การศึกษากันใหม่ รวมทั้งให้ข้อมูลใหม่ๆ กับผู้ชายทุกคน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายต้องมองผู้หญิงว่ามีความเป็นมนุษย์และมีศักดิ์ศรีเหมือนกับพวกเขาด้วยเช่นกัน

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็คือ ขั้นแรกต้องไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจก่อน จากนั้นก็ไปให้แพทย์ตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลว่าถูกทำร้ายมา หากมีบาดแผลแพทย์จะได้รีบรักษา สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเก็บหลักฐานเบื้องต้นเอาไว้เพื่อดำเนินการต่อผู้กระทำผิดต่อไป”

สำหรับ ธารารัตน์ ปัญญา นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า เธอถูกรุ่นพี่ในกลุ่มเพื่อนสนิท คุกคามทางเพศในช่วงที่เรียนอยู่ปี 3 เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เธอได้คิดทบทวนและตัดสินใจอยู่นานว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี

“ตอนนั้นสิ่งแรกที่ดิฉันคิดก็คือ อยากจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ว่าคุณไม่มีสิทธิมาคุกคามทางเพศกับเราหรือใครๆ ก็ตาม ดิฉันจึงยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะนิติศาสตร์ที่ตัวเองเรียนอยู่ จากนั้นก็สอบถามไปว่าจะวิธีการลงโทษทางวินัยหรือจัดการอย่างไรได้บ้าง ต่อมาเมื่อมีการสอบสวนเกิดขึ้น ผู้ที่กระทำผิดก็ถูกลงโทษด้วยการให้พ้นจากการเรียนไป ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เราลุกขึ้นต่อสู้ในครั้งนั้น

แรกๆ ดิฉันก็กลัว ไม่กล้าเล่าให้ครอบครัวฟัง แต่เมื่อเพื่อนๆ และคนรอบข้างเข้าใจ รวมทั้งสนับสนุนให้ดำเนิน การ แถมไม่มีใครมาตั้งคำถามว่า เราแต่งตัวโป๊มั้ย หรือดื่มแอลกอฮอล์หรือเปล่า ซึ่งที่จริงเราก็ไม่ได้แต่งตัวโป๊หรือดื่มแอลกอฮอล์เลยนะตอนนั้น ดิฉันว่าถ้าคนในสังคมพร้อมยอมรับและเข้าใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และละทิ้งมายาคติที่มักจะกล่าวโทษผู้หญิงทิ้งไป ก็จะช่วยให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดหรือถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทุกคนสามารถผ่านเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นไปได้”