posttoday

รู้จักโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

19 มิถุนายน 2561

หากวันหนึ่งตื่นขึ้นมา แล้วรู้สึกว่าตามองไม่เห็น เดินไม่ได้ พูดไม่ชัด หรือปัสสาวะราด

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ ชมรมเอ็มเอสไทย

หากวันหนึ่งตื่นขึ้นมา แล้วรู้สึกว่าตามองไม่เห็น เดินไม่ได้ พูดไม่ชัด หรือปัสสาวะราด เรื่องแบบนี้ไม่เข้าใครออกใคร อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง นี่อาจเป็นอาการของโรคมัลติเพิล สเคลอโรซิส หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เรียกกันทั่วไปว่า โรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis-MS)

นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบยาก เกิดได้กับทุกแห่งของระบบประสาท ทั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบรับรู้ประสาทสัมผัส การควบคุมอุจจาระ ปัสสาวะ และความจำ บางครั้งเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักโรคนี้ สังคมรอบข้างขาดความเข้าใจ นึกว่าเสแสร้งแกล้งป่วย แกล้งลา (งาน) อ้าว!

ทุกวันที่ 30 พ.ค.ของทุกปี ตรงกับวันเอ็มเอสโลก (World MS Day) จึงถือโอกาสนี้ในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้สังคมรอบข้างทำความเข้าใจกับอาการของโรค และเข้าใจผู้ป่วยเอ็มเอส

ผศ.นพ.สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ อายุรแพทย์ประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคเอ็มเอส เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และไปทำลายปลอกหุ้มประสาทอักเสบในระบบประสาทส่วนกลางของตัวเอง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา

ผู้ป่วย 37% จะมีอาการชาตามร่างกายแบบครึ่งตัว 36% ตามองไม่เห็น 35% อ่อนแรงหรือเกร็ง 15% มองเห็นภาพซ้อน และ 4% ปัสสาวะลำบากหรือกลั้นปัสสาวะยาก โรคนี้มักเกิดขึ้นในวัยทำงาน อายุ 20-40 ปี มากที่สุดถึง 70%

ผศ.นพ.สุพจน์ เล่าว่า โรคนี้จะมีการกำเนิดโรคหลายแบบ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น การเสียสมดุลในการทรงตัว จึงพบปัญหาในการเดิน มีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เหนื่อย หมดแรง การควบคุมกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังพบอาการกล้ามเนื้อเกร็ง ผู้ป่วยมีอาการสั่น มีความผิดปกติในการพูด การกลืน มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร (เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง) และในระบบสืบพันธุ์ (เช่น มีบุตรยาก ความรู้สึกทางเพศลดลง)

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานชมรม (ผู้ป่วย) เอ็มเอสไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเอ็มเอสโลก ได้จัดประชุม “MS & NMO 4.0” ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เกิดความรู้ความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรค

“เราอยากให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นชุมชน มีการรวมตัวของกลุ่มสมาชิกในชมรมเพิ่มมากขึ้น เกิดเป็นเครือข่ายที่ช่วยเหลือและให้กำลังใจกัน ให้ข้อมูลหรือสนับสนุนความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ใดใด”

รศ.พญ.นาราพร ประยูรวิวัฒน์ ประธานชมรมแพทย์เอ็มเอสไทย ภาควิชาอายุรศาสตร์ ระบบโรคประสาท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล่าถึงสถานการณ์โรคว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเอ็มเอส 2.5 ล้านคนทั่วโลก ประเทศไทยมีผู้ป่วยราว 1,500 คน แต่พบในเวชระเบียนโรงพยาบาลเพียง 500 คน

“โรคเอ็มเอสเป็นโรคที่วินิจฉัยยาก ต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านประสาทวิทยา หรือจักษุแพทย์ รวมถึงการตรวจ MRI สมองและไขสันหลังร่วมด้วย อาการของโรคก็แตกต่างกันมาก ขึ้นกับระบบประสาทที่ผิดปกติว่า เป็นส่วนใดและระบบประสาทส่วนนั้นเกี่ยวข้องกับอวัยวะใด”

รศ.พญ.นาราพร เล่าว่า ระบบประสาทเปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการใหญ่ ที่สั่งการให้ร่างกายทำงานประสานกัน ตั้งแต่ระบบกล้ามเนื้อ ระบบความรู้สึกต่างๆ เช่น การเจ็บปวด ร้อนหนาว ความคิด ความจำ การมองเห็น การได้ยิน นั่นหมายถึงความผิดปกติเกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกาย

สำหรับ 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.พันธุกรรม 2.สิ่งแวดล้อม โดยสาเหตุด้านพันธุกรรม พบในเครือญาติ 1-3% แต่อัตราจะสูงมากถ้าเป็นญาติสายตรงคือ 20% ฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน หากพบในคนใดคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งมีโอกาสเป็น 30% ส่วนสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้ป่วยชุกในประเทศที่ห่างไกลเส้นศูนย์สูตรหรือมีแสงแดดน้อย

“ปัจจุบันโรคเอ็มเอสยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่รักษาอาการได้ด้วยยาฉีดและยากิน โดยแพทย์จะให้ยาปรับภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการ ลดการเป็นซ้ำ ช่วยลดความพิการในระยะยาว”

นอกจากนี้ ยังรักษาตามอาการ ชะลออาการ ทำกายภาพบำบัด ปรับโภชนาการ จิตบำบัด คนที่ไม่มีอาการแล้ว อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ จึงควรมาพบแพทย์ตามนัด รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และสัมผัสแดดอ่อนๆ บ้าง

ศึกษาเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ : MSthai2016 หรือ โทร.02-201-2799