posttoday

ศักดิ์ชัย+ชลดา เวยื่อ คู่ขวัญสร้างบ้านดิน

21 เมษายน 2561

การมีคู่ชีวิตที่มีมุมมอง ไลฟ์สไตล์และความชอบคล้ายๆ กัน บางอย่างตรงกัน

โดย วรธาร ทัดแก้ว

การมีคู่ชีวิตที่มีมุมมอง ไลฟ์สไตล์และความชอบคล้ายๆ กัน บางอย่างตรงกัน ย่อมส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน ทั้งก่อให้เกิดพลังสองเท่าในการดำเนินชีวิตสู่ความสำเร็จ ไม่ต้องปรับจูนอะไรมาก

เหมือนคุณครูคู่ภรรยาสามีคู่นี้ “โชะ” ศักดิ์ชัยเวยื่อ ครูโรงเรียนเทศบาล 1 เทศบาลเมืองพะเยา และ “จุ้ย” ชลดา เวยื่อ ครูโรงเรียนเทศบาล 2 (แม่ต๋ำดรุณเวทย์) เทศบาลเมืองพะเยา เจ้าของบ้านดินคำปู้จู้ ที่ใครก็รู้จักและเป็นบ้านต้นแบบแห่งการพึ่งตนเอง

ทั้งคู่มีความเหมือนกันหลายอย่าง เช่น ชื่นชอบธรรมชาติ รักความสงบ ชอบความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายในวิถีของการพึ่งพาตนเอง เป็นคนมีน้ำใจ มีนิสัยชอบแบ่งปัน โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น ซึ่งไม่นับการทำหน้าที่ครูอันเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วด้วยความทุ่มเท

บ้านดินคำปู้จู้ สร้างด้วยใจรัก

ศักดิ์ชัย+ชลดา เวยื่อ คู่ขวัญสร้างบ้านดิน

ทั้งสองถูกเรียกด้วยคำนำหน้าว่าครูเสมอจนคุ้นปาก ครูโชะชอบดนตรีและเป็นครูดนตรีของโรงเรียน ขณะที่ครูจุ้ยชอบศิลปะ แต่แม้จะชอบคนละอย่างก็สามารถหลอมรวมอย่างลงตัว นั่นเพราะดนตรีกับศิลปะต่างก็ให้ความสุขและความสุนทรีย์

ในช่วง 3-4 ปีมานี้ ชื่อครูโชะและครูจุ้ยเป็นที่รู้จักในแวดวงคนที่อยากมีบ้านดิน และต้องการใช้ชีวิตเน้นการพึ่งพาตนเองซึ่งมีจำนวนมากเดินทางมาทำเวิร์กช็อปบ้านดิน ที่บ้านดินคำปู้จู้ ในบ้านเจดีย์งามหมู่ 1 ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา

“พูดถึงบ้านของเรา ตอนแรกเลยอยากได้บ้านปูนเปลือย ดูเรียบๆ ดี แต่พอสืบราคา โอ้!สูงมาก ประกอบกับช่วงนั้นหาช่างยากทำให้กลับมาฉุกคิดว่า การทำอะไรเกินตัวแล้วตัวเองเดือดร้อนไม่ใช่วิถีของการพึ่งตนเอง เลยมองหาบ้านแบบอื่น ก็ไปเจอบ้านดิน รู้สึกเลยว่าเป็น
บ้านในวิถีของการพึ่งตนเอง ได้อยู่กับธรรมชาติในแบบที่เราชอบใช้งบสร้างไม่สูง สร้างเองได้ช่วยกันทำ ไม่ต้องจ้างช่าง เราจึงเห็นตรงกันบ้านดินนี่แหละคือคำตอบ” ครูจุ้ย กล่าว

ทว่าความที่ช่วงนั้นข้อมูลบ้านดินยังไม่แพร่หลาย ทั้งคู่จึงตระเวนไปหลายที่ที่มีการทำบ้านดิน เช่น พันพรรณ ของ โจน จันใด ซื้อซีดีทำบ้านดิน (ตอนนั้นมีซีดียังไม่มีหนังสือ) และซื้อคู่มือทำบ้านดินของอาศรมวงศ์สนิท ที่ จ.นครนายก มาศึกษา

ศักดิ์ชัย+ชลดา เวยื่อ คู่ขวัญสร้างบ้านดิน

เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2553 ครูจุ้ยมีโอกาสได้ทำวิจัยการก่อสร้างเรือนดินดิบแบบยกพื้นสูง ร่วมกับอาจารย์คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งเป็นผู้วิจัยหลัก ยิ่งทำให้รู้ลึกซึ้งและมั่นใจว่าบ้านดินสร้างความมั่นคงให้ชีวิตมีความสุขและเป็นสื่อทำให้คนอื่นๆ เข้าถึงวิถีของการพึ่งตนเองได้

“ปี 2555 ผมกับครูจุ้ยจึงลงมือสร้างบ้านดินของตัวเอง เป็นบ้านดินประยุกต์ บนเนื้อที่ 2 ไร่ รูปทรงบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง จำนวน 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 1 ห้องโถงใหญ่ พื้นที่รวม 150 ตารางเมตร เราออกแบบร่วมกัน ครูจุ้ยแม้ไม่เคยเรียนศิลปะแต่ก็มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวสูง ไอเดียแต่ละอย่างที่คิดจึงค่อนข้างแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร การตกแต่งบ้านแม้เราจะคุยกันแต่ส่วนใหญ่มาจากไอเดียครูจุ้ยครับ” ครูโชะเล่าถึงการสร้างบ้านและพูดถึงครูจุ้ย

ด้านครูจุ้ย เสริมขึ้นว่า ทุกส่วนทุกมุมที่เกี่ยวกับดินในบ้านหลังนี้ทำเองกับครูโชะ เช่น การทำอิฐดินเตรียมไว้ก่อบ้าน (บางวันมีจิตอาสานักเรียนมาช่วยทำ) การก่ออิฐผนังกำแพงบ้าน ฉาบผนัง ทาสี เป็นต้น ทำทุกวันหลังเลิกเรียนและในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในส่วนของการจ้างช่างทำคือการขึ้นโครงหลังคา เนื่องจากตอนนั้นทั้งสองยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้

“ในส่วนที่เกี่ยวกับการคำนวณ ครูโชะในฐานะเด็กสายวิทย์คณิตมาก่อนและเก่งคำนวณอยู่แล้ว เป็นคนคำนวณออกมาค่ะ เช่น อิฐดินที่ใช้จำนวนกี่ก้อน อย่างบ้านเราใช้4,000 ก้อน ใช้งบสร้าง 1.2 ล้านบาท รวมตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และค่าช่างบางส่วน นี่คือราคาบ้านดินที่เราทำในช่วงปี 2555-2557 (ถ้าบ้านทั่วไปราคาจะอยู่ที่ 3 ล้านกว่าบาท) แต่ปัจจุบันด้วยองค์ความรู้เทคนิค และประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาสามารถเซฟต้นทุนได้เยอะ จากราคา 1.2 ล้านสามารถเซฟเงินได้ถึง 8 แสนบาท และเป็นบ้านดินอย่างดีด้วย” ครูจุ้ย กล่าว

เผยแพร่ความรู้การทำบ้านดิน

ศักดิ์ชัย+ชลดา เวยื่อ คู่ขวัญสร้างบ้านดิน

หลังจากสร้างบ้านดินของตัวเองแล้วเสร็จในปี 2557 ครูโชะและครูจุ้ยได้พยายามถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างบ้านดิน ด้วยการจัดเวิร์กช็อปให้กับคนที่สนใจเรื่อยมาถึงปัจจุบัน มีทั้งจัดฟรีและเก็บค่าใช้จ่าย มีคนไปอบรมมาแล้วหลายรุ่น ล่าสุดได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา สมาคมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา จัดอบรมการทำบ้านดินให้คนที่สนใจเพื่อโปรโมท จ.พะเยา ให้เป็นที่รู้จัก

“ได้จัดอบรมไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็จะร่วมกันจัดอีกในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับ จ.พะเยา ของเราโดยใช้บ้านดินเป็นสัญลักษณ์ ต่อไปถ้าพูดถึงบ้านดิน คนก็ต้องนึกถึงพะเยาเป็นจังหวัดแรก ตอนนี้บ้านดินในพะเยาเริ่มผุดให้เห็นแล้วจากการที่เราได้ออกไปติดตามผลเป็นระยะ ปีที่แล้วอบรมไป 32 คน และเริ่มทำบ้านดินไปแล้วเกือบครึ่ง”

ครูจุ้ยเล่าว่า ทุกวันนี้กระแสของคนที่ต้องการกลับบ้านมีมากขึ้น เพื่อไปดูแลครอบครัวและใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการในพื้นที่ดินบ้านของตัวเอง ซึ่งก็จะพบว่ามีคนรุ่นใหม่ๆ ที่คิดอยากกลับบ้าน อยากมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและพึ่งพาตนเองมากขึ้น ขณะที่ครูโชะได้ฝากถึงใครที่อยากมีบ้านของตัวเองว่า

“คู่รักทุกคู่ไม่ได้เหมือนกันเป๊ะทุกอย่างหรือในทุกประเด็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากแนะนำคือ ถ้าอยากมีบ้านดินหรือบ้านอะไรก็แล้วแต่พยายามคุยกันให้ลงตัว เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองให้เห็นเนื้อในความต้องการของกันและกัน ไม่ใช่ความต้องการแค่วันนี้พรุ่งนี้ แต่มันคือความต้องการในอนาคตที่ทั้งสองต้องอยู่ด้วยกัน

ศักดิ์ชัย+ชลดา เวยื่อ คู่ขวัญสร้างบ้านดิน

การสร้างบ้านต้องตอบโจทย์คนที่เป็นเจ้าของและในความรู้สึกของเราสองคน ตัวบ้านควรจะต้องมีคุณค่ามากกว่ามูลค่าถึงจะลงตัวที่สุดสำหรับคนที่จะสร้างบ้านด้วยกัน”

สำหรับใครที่อยากรู้จักครูโชะและครูจุ้ยมากขึ้น สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด มุมมองต่างๆ หรือเรื่องบ้านดินได้ที่เพจบ้านดินคำปู้จุ้ย และเพจบ้านดินคำปู้จู้ live & learn mud house หรือจะไปเยี่ยมเยียนที่บ้านก็ได้ บ้านดินของครูมีร้านกาแฟน่ารักๆ และมีสตูดิโอแสดงงานศิลปะเก๋ๆ ของลูกสาวให้ชมด้วย