posttoday

‘ฉันคือเธอ’ วสันต์ สิทธิเขตต์

08 เมษายน 2561

ก่อนที่จะไปชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “ฉันคือเธอ : วสันต์ สิทธิเขตต์”

โดย พริบพันดาว

ก่อนที่จะไปชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “ฉันคือเธอ : วสันต์ สิทธิเขตต์”ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลปกรุงเทพฯ) ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8          

ได้หยิบบทความที่เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2554 เรื่อง “วสันต์ สิทธิเขตต์ : ศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง” ของลลินธร เพ็ญเจริญ มาอ่าน

ผลการวิจัยงานศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลารวมทั้งสิ้น 49 เหตุการณ์ พบว่า 1.พัฒนาการช่วงแรกเป็นช่วงเวลาแห่งการสั่งสมประสบการณ์การสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวสันต์ สิทธิเขตต์ อย่างจริงจัง จนกระทั่งในพัฒนาการช่วงที่สองของการสร้างสรรค์จึงปรากฏอัตลักษณ์เด่นชัด และมีบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์สําคัญระดับสูง

‘ฉันคือเธอ’ วสันต์ สิทธิเขตต์

 

2.การนําเสนอแนวความคิดและรูปแบบศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวสันต์ ประกอบด้วยปัจจัยภายนอกด้านสภาพการณ์ทางสังคมและเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนเป็นปัจจัยสําคัญ ได้แก่ แนวความคิดด้านการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตย และนําเสนอรูปแบบจิตรกรรมเป็นหลัก

3.ความสําคัญของเหตุการณ์เคลื่อนไหวและกรณีปัญหามีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงและปานกลาง โดยมีกรณีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน การเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นอันดับสําคัญสูงสุด เหตุการณ์เคลื่อนไหวที่มีความสําคัญสูงจะสัมพันธ์กับการนําเสนอด้วยรูปแบบจิตรกรรม

ในวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ยังสรุปว่า วสันต์สิทธิเขตต์ เป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง(Activist Art) หลากหลายประเภท ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากศิลปะประเภทบทกวีและดนตรี

‘ฉันคือเธอ’ วสันต์ สิทธิเขตต์

 

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับภาคประชาชนอย่างจริงจังส่งผลให้วสันต์เป็นศิลปินเข้มแข็งในด้านการเคลื่อนไหวทางความคิด เป็นนักรณรงค์คนสําคัญ (Protagonist) ในการปกป้องผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมและคนชายขอบในสังคมไทย จนเป็นภาพลักษณ์และเป็นที่รู้จักต่อคนทั่วไป

ดังคํานิยมจากคณะกรรมการมอบรางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” กล่าวว่า วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างเอาจริงเอาจังโดยใช้งานศิลปะเป็นตัวชี้นํา จนกล่าวได้ว่า ที่ไหนมีการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ที่นั่นจะต้องมีภาพเขียน บทกวี และตัวของวสันต์ สิทธิเขตต์ ร่วมอยู่ด้วย

ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2530-2550 วสันต์ได้สร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองประเภททัศนศิลป์ที่มีแนวความคิดและรูปแบบหลากหลาย สอดคล้องกับแนวทางทั้งศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) และหลังสมัยใหม่ (Postmodern Art) โดยมักจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเมืองไทยในแต่ละสมัย

เมื่อมาชมงานในชุด “ฉันคือเธอ : วสันต์ สิทธิเขตต์” ก็เต็มอิ่มและมิผิดหวัง ต้องบอกว่าฝีมือคัดสรรงานกว่า 100 ผลงาน ของภัณฑารักษ์รับเชิญ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ กับภัณฑารักษ์ร่วม อดุลญา ฮุนตระกูล สามารถบอกถึงตัวตนของวสันต์ได้อย่างลึกซึ้งและเข้าถึง ซึ่งการต่อยอดแนวความคิดจากชุดผลงานเมื่อปี 2536 ในครั้งนั้น I Am You ที่นำเสนอความเวียนว่ายของวัฏจักรชีวิตและความทุกข์

‘ฉันคือเธอ’ วสันต์ สิทธิเขตต์

 

แต่สำหรับในปี 2561 นี้ แนวคิด I Am You หรือ ฉันคือเธอ ถูกนำมาตีความอีกครั้งและกระจายออกเป็น 5 หัวข้อ นำเสนอผลงานตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากการมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของศิลปินเพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นของความคิดและผลงานใน “อุดมคติ & อุดมการณ์” (Ideals and Ideology)

ต่อด้วยการตั้งคำถามถึงวิธีการสร้างสรรค์ผลงานและการแสดงออกของศิลปินผ่าน “อำนาจ กับ ไร้อำนาจ” (Powerful vsPowerless) “ความดิบเถื่อนคืออาวุธ” (Raw Aesthetic as a Weapon) และ “ใบหน้า เรือนร่างและเสรีภาพ” (Face, Figure and Liberty) แล้วมองความเป็นปัจจุบันสมัยจากกิจกรรมทางสังคมที่ศิลปินมีส่วนร่วมใน “โลกสวยด้วยประท้วง” (Protest And Making The World A Better Place)

ผลงานของวสันต์ล้วนมีความโดดเด่น ดึงดูด และท้าทาย สร้างภาษาศิลปะส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ และเคลื่อนตัวในหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองปัญหาสังคมร่วมสมัยอย่างฉับพลัน

วสันต์แสดงออกผ่านการเสียดสี ล้อเลียน และการเปรียบเปรยอย่างเป็นนัย ด้วยความสามารถรอบด้านทางศิลปะที่ได้เสาะหาวิธีการแสดงออกอันหลากหลาย รวมไปถึงการริเริ่มทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มศิลปิน นักเคลื่อนไหวทั้งภาคองค์กรและภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อตอบสนองต่อปัญหาทั้งทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน

‘ฉันคือเธอ’ วสันต์ สิทธิเขตต์

 

นอกจากนี้ ยังได้เป็นตัวแทนศิลปินจากประเทศไทยเข้าร่วมแสดงงานในเวทีระดับโลกหลายแห่ง ทั้งที่ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

ถ้าอยากชม “ศิลปะประท้วง” (Protest Art) ซึ่งหมายถึงศิลปะในลักษณะที่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง (Sociopolitical Movements) และการบอกเล่าแนวคิดของผลงานและชีวิตความเป็นศิลปินนักกิจกรรมของวสันต์ สิทธิเขตต์ แล้ว นิทรรศการชุดนี้รวบรวมมาไว้อย่างครบถ้วน

“ฉันคือเธอ : วสันต์ สิทธิเขตต์” จัดแสดงถึงวันที่ 27 พ.ค. 2561 ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 02-214-6630 ต่อ 501-503