posttoday

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต

27 มีนาคม 2561

เรียกแขกวัยรุ่นเปิดเวทีกลางสยามสแควร์ คิกออฟด้วยงานที่ใช้ชื่อว่า “Our Futures 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต”

เรื่อง ชุติมา สุวรรณเพิ่ม ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

เรียกแขกวัยรุ่นเปิดเวทีกลางสยามสแควร์ คิกออฟด้วยงานที่ใช้ชื่อว่า “Our Futures 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต” ชักชวนผู้ร่วมงานข้ามเวลาก้าวไปสู่ในยุคปี 2030 ที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง จุดประกายวาดภาพแห่งอนาคต โต้โผใหญ่นำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผสานพลังความร่วมมือการไฟฟ้านครหลวง ไทยเบฟเวอเรจ ธนาคารกสิกรไทย จัดงานที่นำแนวคิด “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District)” สร้างสรรค์เวทีสังคมอุดมปัญญา และคิดค้นนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของสังคมอีกกว่า 20 ปีข้างหน้า

งานนี้มีโชว์นวัตกรรมสุดล้ำ บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน และทางเชื่อมรถไฟฟ้า สถานีสยามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้คนเกิดความตื่นตัว และตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเวลาก้าวไปอยู่ในยุคปี 2030 รวมทั้งการเปิดเวทีสัมมนาสาธารณะเรื่อง “อนาคต Futures Public Forum” เปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคเอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการมาพูดคุย แลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ให้เกิดมุมมองหลากหลาย และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมกันสร้างอนาคตต่อไป

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต “Our Futures 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต”

หลากหลายจริงอะไรจริง เมื่อแม่งานเชื้อเชิญไอดอลวัยรุ่น ปี 2018 “เฌอปราง แก้ว น้ำหนึ่ง” สามสาวนักร้องเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 สุดโด่งดัง มาพูดคุยถกกันในหัวข้อ “City of New Generations-เมืองของคนรุ่นใหม่” วัยรุ่นวันนี้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า พวกเขาอยากใช้ชีวิตกันในรูปแบบไหน?!! เป็นคำตอบน่าสนใจไม่น้อย

“เมืองแห่งอนาคต” มุมมองของคนรุ่นใหม่

หัวข้อบนเวทีพูดคุยกันเรื่อง “เมืองแห่งอนาคต” สร้างสีสันเรียกแฟนคลับคับคั่งสยาม เมื่อคนขึ้นเวทีโชว์มุมมองใหม่ คือ เฌอปราง อารีย์กุล สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48 มีความสามารถด้านการร้องเต้นที่แฟนๆ ได้ประจักษ์แล้ว อีกมุมหนึ่งในด้านการศึกษา เก่งระดับหัวกะทิ ฉีกแนวไปจากงานที่เธอทำมากๆ เฌอปราง กำลังเรียนคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

อีก 1 ในสมาชิกวง BNK48 “น้ำหนึ่ง” มิลิน ดอกเทียน กำลังศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกสาวสวยเก่ง “แก้ว” ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ ปีนี้สำเร็จการศึกษา จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ (เอกเปียโน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาให้แฟนคลับได้ปลาบปลื้มกันโดยถ้วนหน้า

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต เกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48

นำเสวนาโดย พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่มีดีกรีผู้วางผังประเทศไทย ผังภาพกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และผังเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC

ทำไมจึงเชื้อเชิญ BNK48 ขึ้นเวทีนี้? พนิต ขยายความว่า เกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มนี้คือไอดอลของคนรุ่นใหม่ ซึ่งสะท้อนความคิดความอ่านในฐานะตัวแทนเยาวชน ส่งผ่านสังคมบ่อยครั้ง และแสดงได้ชัดเจนว่า พวกเธอมีความสามารถที่ทำได้มากกว่าร้องเต้นได้ใจวัยรุ่น

พนิต ตั้งคำถามนำร่องว่า ขอเริ่มคุยกันเรื่อง “ผังเมืองกรุงเทพฯ” ใครสงสัยและอยากแก้ไขอะไรบ้าง? ยื่นไมโครโฟนให้ตอบคำถามนี้คนแรก เฌอปราง เคยประกาศออกสื่อมาแล้วว่าอยากให้รัฐแก้ไขผังเมืองหลวง สาวน้อยน่ารักที่มีรอยยิ้มติดใบหน้าเสมอ ขอตอบแบบนี้

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต เฌอปราง อารีย์กุล สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48

“ผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่เอื้อต่อความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การจัดการหลายๆ เรื่องก็ไม่เป็นระบบ ความเจริญยังกระจุกตัวในโซนเดียว ไม่มีการกระจายออกไปจากเมืองเลยค่ะ” เฌอปราง ออกตัวก่อน ไม่มีความรู้ลึกเรื่องการจัดวางผังเมือง แต่ขอพูดในฐานะคนอยู่ในเมืองหลวง ที่เห็นหลายๆ อย่างไร้ระเบียบ

“น้ำหนึ่ง” มิลิน สาวเมืองสิงห์บุรีที่มาใช้ชีวิตเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ และในฐานะร่ำเรียนคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ขอพูดเรื่องเกี่ยวข้องกับที่ได้ร่ำเรียนมา เมืองไทยวันนี้มีการพัฒนาไม่หยุดทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และด้านภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น

“ฤดูหนาวปีนี้เห็นได้ชัดเจนนะคะ หนาวๆ ดีใจได้ใส่คอเต่าไปซ้อมเต้นกัน พออีกวันก็ร้อนปรับตัวไม่ทัน ฤดูกาลที่เปลี่ยนเร็ว สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น เช่น พลังงานที่มากขึ้นไม่มีจำกัด”

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต เฌอปราง อารีย์กุล สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48

พนิต สำทับเรื่องนี้ว่าที่แปลกอีกอย่างของปีนี้ คือฝน เปลี่ยนจากปีที่แล้วมามากๆ ฝนยุคใหม่ตกนอกฤดูกาลบ่อยครั้งขึ้น และอาจารย์หนุ่มส่งคำถามไปที่สาวสวยพี่ใหญ่ บัณฑิตจุฬาฯ “แก้ว” ณัฐรุจา ในฐานะเป็นเจ้าถิ่นร่ำเรียนในย่านนี้มาถึง 4 ปี ก็น่าจะตอบได้ชัดเจน หัวข้อเรื่อง “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม - Siam Innovation District” ได้เห็นอะไรในพื้นที่นี้บ้าง?

“ตอนเรียนปี 1 ที่ตรงนี้ สยามสแควร์วันกำลังสร้าง และเสร็จในตอนที่แก้วเรียนปี 2 พื้นที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากนะคะ และสิ่งที่ชอบมากคือสวนอุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ต้นแบบเรียนรู้ มีการสร้างทางลาดเพื่อไล่ระดับให้น้ำไหลผ่านได้ มีการบำบัดน้ำเสียที่น่าสนใจมากค่ะ เป็นการจัดสวนด้วยนวัตกรรมที่ชัดเจนมาก”

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต “น้ำหนึ่ง” มิลิน ดอกเทียน สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48

โลกอนาคตจะแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม และครีเอทีฟ พนิต อธิบายโดยเฉพาะประเทศที่มุ่งก้าวสู่โลกพัฒนาแล้ว จะเน้นเรื่องการคิดค้นใหม่ และเรื่องนวัตกรรม ซึ่งจะถูกนำเสนอในย่านการศึกษา รอบมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นที่มาของงานครั้งนี้

โครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เป็นอีกแนวคิดที่จะสร้างโอกาสเพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศไทย โดยสนับสนุนนวัตกรไทย (Innovator) ครีเอทกล้ามเนื้อความคิดสร้างสรรค์ทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน สนับสนุนด้านงานวิจัย หรือเป็นศูนย์กลางตลาดเพื่อมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต

ต้อง(รีบ)สร้างพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์

นอกจากเวทีเสวนาสาธารณะ โครงการเตรียมฉายภาพไปสู่ในยุคปี 2030 มีทั้งงานเทศกาลภาพยนตร์แห่งอนาคต - Futures Film Festival กิจกรรมสร้างการรับรู้สาธารณะเรื่องอนาคตที่เกี่ยวข้องกับทุกๆ คน ผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยความร่วมมือกับองค์กรทางวัฒนธรรมจาก 3 ประเทศ คือ บริติชเคาน์ซิล สหราชอาณาจักร สถาบันเกอเธ่ เยอรมนี และเจแปนฟาวน์เดชั่น ญี่ปุ่น

นิทรรศการจากอดีตสู่อนาคต - Futures Exhibition นำเสนอพัฒนาการของประเทศโดยย่อ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมการเดินทางสู่ความเป็นไปได้ของอนาคตที่หลากหลาย เพื่อร่วมกันค้นหาว่าเราจะมาร่วมกันกำหนดอนาคตที่ต้องการได้อย่างไร

การจัดแสดงนวัตกรรมสุดล้ำรอบๆ สยามสแควร์ อ.พนิต ส่งคำถามอยากเห็นอะไรเพิ่มไปจากนี้

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต “แก้ว” ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48

“แก้ว” ณัฐรุจา ในฐานะคนเรียนเอกเปียโน บอกว่า ลานดนตรี ถ้ามีก็จะสร้างความรื่นรมย์ให้คนเดินไปมาได้ไม่น้อย แต่ต้องไม่รบกวนเกะกะทางเท้า กทม.น่าจะจัดพื้นที่ให้นักดนตรีที่อยากมีเวทีแสดงออก

“ศิลปะเป็นการสร้างวัฒนธรรม ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกรุงเทพฯ ได้ดีเลยค่ะ” ณัฐรุจา ย้ำเรื่องนี้

ในฐานะคนวางผังเมือง พนิต ก็ช่วยสำทับเรื่องนี้ด้วยว่า พื้นที่สีเขียวคนเมืองต้องการแน่ๆ อยู่แล้ว และพื้นที่โล่งมีร่มเงา และปรับพื้นที่ใช้ได้หลากหลาย ก็เป็นอีกพื้นที่หลักที่เมืองสมัยใหม่ควรมี

“โลกที่พัฒนาแล้ว จะจำกัดพื้นที่ส่วนตัวลดลง ขยายพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น ผมเคยไปออกแบบสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ย่านบีทีเอสบางหว้า โดยลดพื้นที่สีเขียวลง เพิ่มลานโล่งๆ ที่ตีเส้นแบ่งสรรให้เป็นสนามบาสเกตบอล สนามฟุตบอล ลานแอโรบิก ผลก็คือคนเข้ามาใช้สวนสาธารณะแห่งนี้เพิ่มมากกว่าเดิม เป็นการปรับแต่งพื้นที่ตามอัธยาศัยในแต่ละชุมชน” อ.พนิต กล่าว

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต “แก้ว” ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48

ณัฐรุจา เสนอความคิดที่กรุงเทพฯ ควรแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก ก็คือ การแยกขยะ ขยะคือปัญหาใหญ่ของเมืองหลวง

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองไม่น่าอยู่เพราะขยะล้นเมือง การรณรงค์แยกขยะทำไม่ได้ผลเลยค่ะ คนยังทิ้งทุกอย่างรวมๆ กันทั้งที่มีถังขยะแยก 3 ถัง เราเสียผลประโยชน์มากๆ กับการไม่สามารถนำขยะมารีไซเคิล เพื่อเพิ่มมูลค่าได้”

“ทุกอย่างน่าจะปรับ หรือแก้ไขให้ดีขึ้นได้ค่ะ” เฌอปราง เสนอความเห็นบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องรถติด การจราจร เป็นอีกปัญหากับชีวิตมาก แม้คนกรุงเทพฯ มีตัวเลือกกับการใช้รถไฟฟ้า

“วันนี้ก็นั่งรถไฟฟ้ามาค่ะ เป็นวิธีแก้ไขปัญหาส่วนตัว แต่พอมองไปบนถนนก็เห็นรถติดอยู่ดี ซึ่งก็เคยได้ยินมาว่าวิธีคือออกแบบพื้นที่จราจรให้เป็นวงเวียน เพื่อให้รถวิ่งไหลคล่องตัวขึ้น แต่พอไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถก็ติดอยู่ดีนะคะ” เฌอปราง บอกใสๆ เรียกเสียงปรบมือสนับสนุนจากบรรดาแฟนคลับได้สนั่น

ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต เกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48

พนิต อธิบายให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า สิ่งที่เฌอปรางเข้าใจไม่ผิด แต่หลักการที่ถูกก็คือปริมาณรถวงเวียนแต่ละช่องต้องพอๆ กัน จึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ และสิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุดก็คือ ทำขนส่งระบบรางให้มากขึ้น และย้ายการพัฒนาต่างๆ ไปอยู่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้า เพื่อเอื้อให้คนเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนได้มากขึ้น และง่ายสะดวกขึ้น ลดเวลาให้คนเมืองที่ต้องใช้เวลากว่า 2-3 ชั่วโมงในแต่ละวัน

“เวลาเป็นสิ่งมีค่าสำหรับทุกคน ระยะเวลาที่ใช้เดินทางเป็นปัญหาใหญ่ของเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในเมือง อยากให้กรุงเทพฯ ในอนาคตมีรถสาธารณะมากขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตขึ้นด้วย นอกจากความสะดวกสบายแล้ว ถ้ามีเวลาเหลือไปทำสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นค่ะ” เฌอปราง ฝากถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคตเมืองหลวง

กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต เมืองนวัตกรรมแห่งสยามจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด ใครสนใจเพิ่มเติม คลิกเข้าไปดูรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ siaminnovationdistrict.com/our-futures-2030/