posttoday

กวีในห้องนอน กับ การเดินทางจิตใจ

14 มกราคม 2561

ในที่สุดความฝันที่อยากจะมีหนังสือบทกวีของ แคทเธอรีน นภาลัย โฟลเดอร์

โดย มัลลิกา นามสง่า  ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

ในที่สุดความฝันที่อยากจะมีหนังสือบทกวีของ แคทเธอรีน นภาลัย โฟลเดอร์ (Catherine Napalai Faulder) ก็เป็นจริงในวัย 27 ปีความฝันที่ถูกเจ้าตัวข่มกดไว้ เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอ แม้คิดเขียนมันมาตั้งแต่เยาว์วัยก็ตาม

Journey of a Bedroom Poet คือ หนังสือที่เธอทำเองแทบจะทุกขั้นตอน และวันนี้เธอพร้อมเปิดเผยเรื่องราวกับผู้อ่าน

แคทเธอรีน ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เกิดที่เมืองไทย พออายุ 16 ปี ไปอยู่โรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษ จนเรียนจบระดับปริญญาตรีและใช้ชีวิตทำงานที่นั่น เธอกลับมาเมืองไทยอีกครั้งในวัย 24 ปี ขณะทำงานที่กูรูแมกกาซีน ก็ได้ปลุกไฟความเป็นนักคิดนักเขียนของเธอให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง “สนุกได้แรงบันดาลใจเยอะ และเหมาะกับแคทที่ชอบไลฟ์สไตล์ ชอบออกกำลังกาย ชอบดนตรี ดูหนัง แฟชั่น

มีคนเคยบอกไว้ว่า ถ้าจะเขียนอะไรต้องรักสิ่งที่จะเขียน ถ้ารักสิ่งที่เขียนผู้อ่านก็จะรู้สึกได้เช่นกัน ทีนี้ได้ทำหลายอย่าง แต่แคทชอบดนตรีมากที่สุด

ดนตรีเหมือนภาษาที่เรารู้สึกได้ บางคนพูดภาษาอังกฤษคนหนึ่งพูดฝรั่งเศส เขาพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่เขานั่งห้องเดียวกัน ฟังเพลงด้วยกันเขาจะเข้าใจกัน แม้เพลงนั้นจะไม่ใช่ภาษาที่พวกเขาเข้าใจความหมายก็ตาม

มีแต่งเพลงเองด้วย แต่งเป็นภาษาไทยก็มีในหนังสือเล่มนี้มีเนื้อเพลงในหนังสือด้วย แคทร้องเองแร็ปเอง แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักร้อง แคทชอบแต่งบทกวี แล้วใช้บทกวีไปแต่งเป็นเพลง”

แคทเธอรีนเขียนกลอนตั้งแต่อายุ 12 ปี “ตอนเรียนอยู่ที่ไทย ครูฝรั่งเป็นคนเปิดใจเปิดตาของแคทให้เห็นความสวยความงามในบทกวีและจากจุดนั้นทำให้แคทชอบแต่งกวี นั่งเขียนทุกสิ่งทุกอย่าง ตอนนั้นแคทมีความรู้สึกเศร้าพอเขียนกวีรู้สึกโอเคขึ้น”

นักกวีชาวอเมริกัน เอมิลี ดิกคินสัน คือหนึ่งในแรงบันดาลใจ “เขาใช้ภาษาคล้องจอง สัมผัสเราได้ยินเหมือนจังหวะดนตรี แล้วเขาเป็นผู้หญิง มีความมั่นใจซึ่งแคทชอบ

กวีในห้องนอน กับ การเดินทางจิตใจ

เขาเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องของการใช้คำ ใช้คำง่าย ไม่ซับซ้อนแต่ให้ความหมายที่หลายแง่มุมเขาเก่งมาก แล้วบทกวีของเขาเปิดตาเปิดใจเรื่องจิตวิญญาณของเรา ให้เราฟังเสียงตัวเอง”

แม้จะรักในการเขียนกวี แต่เธอก็ขังตัวเองไว้ภายใต้ชื่อ Bedroom Poet ไม่เปิดเผยตัวตน “ตอนนั้นรักการเขียนมากแต่ไม่กล้าให้คนรู้ว่าเราเขียนกวี มันถึงเป็นกวีในห้องนอน ชื่อ Bedroom Poet แคทสร้างเขาขึ้นมาเป็นผู้หญิงคนหนึ่งรักการเขียนกวี แต่เขากลัวว่าคนจะไม่ชอบ ไม่มั่นใจตัวเองว่าจะทำได้เหรอเรื่องนี้

ผู้หญิงคนนี้เป็นอีกมุมหนึ่งของแคท แคทคิดว่าทุกคนมีสิ่งที่เขารักมากแต่เขาไม่กล้าทำ หรือไม่มีเวลาทำ คิดมากเกินไปว่าคนจะไม่ชอบ กลัวที่จะแสดงสิ่งที่เรารักออกมา แคทก็เป็นแบบนั้นแต่ตอนนี้แคทกล้าทำแล้ว

เมสเซจของหนังสือ เราอยากเห็นคนทำสิ่งที่เขารัก เพราะถ้าทุกคนทำสิ่งที่เขารักจะดีกว่า ทุกคนจะดีใจมีความสุข”

ก่อนที่หนังสือจะออกมาเป็นเล่ม แคทเธอรีนได้นำบทกวีที่เธอแต่งไปเพอร์ฟอร์แมนซ์หลายแห่งนานเป็นเวลา 3 ปี และอยู่ในกลุ่ม Bangkok Lyrical Lunacy

“มีเพื่อนชวนไปอีเวนต์ที่นักกวีไปเพอร์ฟอร์มบทกวีของเขาตามโรงแรม โรงเรียน ร้านอาหาร ครั้งแรกสั่นมากเลย  แคทเปิดใจให้ทุกคนฟังเลย พูดเรื่องความกลัว ความลับของเราทั้งหมดเลย

กวีในห้องนอน กับ การเดินทางจิตใจ

ความรู้สึกเหมือน เราเปิดตัวเองควักหัวใจแล้วยื่นไปวางที่มือคนอื่น ให้คนอื่นดู แคทกลัวมากเพราะมันเป็นฝันของเรา แชร์กวีของเรากับทุกคน”

จากหลายพันบทกวีที่เขียนไว้ เธอคัดเลือกประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งก็คือเรื่องราวของเธอ ที่มันจะสามารถสื่อสารและสะท้อนแง่มุมความคิดกับคนอื่นได้ 

“มีเรื่องความไม่มั่นใจในตัวเอง การติดโซเชียลมีเดีย เรื่องสีผม เรื่องสัญชาติ แคทเคยป่วยล้วงคออาเจียนเพื่อจะทำลายเส้นเสียงของตัวเอง เพราะไม่อยากให้ตัวซัคเซสในการร้องเพลง มีความขัดแย้งในตัวเอง

แคทอยากให้คนรู้ด้วยว่าแคทหาวิธีช่วยตัวเองได้ ตอนแคทเป็นแบบนั้นบอกกับใครไม่ได้ แต่การแต่งบทกวีมันช่วยเราได้ เราเริ่มเข้าใจมัน เรื่องนี้มีพูดนิดๆ ในเล่ม เพราะพูดหลายเรื่อง มันเหมือนเป็นการเดินทางของผู้หญิงคนหนึ่ง

สำหรับแคทกวีเป็นสิ่งที่เรารักมากที่สุด กวีเราจะเปลี่ยนโลกได้ จะช่วยให้คนอื่นมั่นใจตัวเองด้วย”

ลองฟังกวีในห้องนอน ซึ่งจะช่วยให้คุณนอนหลับ และตื่นมาเข้าใจโลกเพิ่มขึ้นในอีกแง่มุมติดตามเธอและสั่งซื้อหนังสือได้ทางเฟซบุ๊กอินสตาแกรม Bedroompoet หรือซื้อหนังสือทางAmazon, iBooks และ Kindle