posttoday

มีเงินหลายบัญชี บริหารให้ดีต้องทำอย่างไร

24 ตุลาคม 2560

ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับคนที่บริหารจัดการเงินเก่งๆ ก็คือ การมีสมุดบัญชีเงินฝากหลายบัญชี บางคนมีครบทุกธนาคาร ธนาคารละ 2 บัญชี รวมๆ กันที่เปิดอยู่ในประเทศไทยก็ 10 กว่าเล่มเห็นจะได้

เรื่อง : โยโมทาโร่ภาพ : เอพี

ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับคนที่บริหารจัดการเงินเก่งๆ ก็คือ การมีสมุดบัญชีเงินฝากหลายบัญชี บางคนมีครบทุกธนาคาร ธนาคารละ 2 บัญชี รวมๆ กันที่เปิดอยู่ในประเทศไทยก็ 10 กว่าเล่มเห็นจะได้ มีตั้งแต่บัญชีเงินเดือน เงินเก็บ เงินเที่ยว เงินกองทุน เงินเล่นหุ้น บัญชีขายของออนไลน์

บางคนก็มีหลายบัญชี เพราะเห็นแก่ของแถมเปิดบัญชี เช่น บัตรเอทีเอ็มลายโดราเอมอน หรือหมีในแอพไลน์ โดยที่ไม่ตระหนักว่าบัญชีเหล่านี้อาจสร้างปัญหาให้กับคุณมากกว่าเดิม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ คุณจะเสียค่ารักษาบัตรเอทีเอ็มปีละ 200 บาท/บัญชี ถ้าคุณมี 10 บัญชี และทุกบัญชีทำหมดก็จะเสียถึงปีละ 2,000 บาท ซึ่งเอาไปซื้อหุ้นได้พอสมควร

นอกจากนี้ การมีจำนวนบัญชีมากเกินไปทำให้คุณอาจละเลยบัญชีที่ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะปกติแล้วจะมีการใช้งานประจำอยู่ไม่เกิน 3 บัญชีเท่านั้น คือ บัญชีเงินเดือน เงินออม และเงินสำหรับการลงทุนในกองทุนหรือหุ้นต่างๆ

ต่อมาเราจะได้ดอกเบี้ยน้อย ปกติแล้วหากคุณเทเงินเก็บไว้ในบัญชีสะสมทรัพย์ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงเพียงบัญชีเดียว คุณก็จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นการมีบัญชีที่เหมาะสมแนะนำว่า ควรจะมีอยู่ประมาณ 4 บัญชีก็พอ ก็คือ บัญชีเงินเดือน บัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน บัญชีลงทุน และบัญชีเพื่อความสุข

1.บัญชีเงินเดือน

เป็นไปตามชื่อสำหรับใช้ในการรับเงินเดือน และเก็บไว้ใช้สำหรับการใช้จ่ายอื่นๆ เมื่อได้เงินเดือนมาแล้วแบ่งไปใส่ในเงินเก็บตามเป้าหมาย และให้เหลือพอใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างไม่ลำบากเกินไป ซึ่งจะช่วยให้เราประเมินรายรับรายจ่ายต่อเดือนได้มากขึ้น

2.บัญชีเงินออมฉุกเฉิน

เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น สำหรับการใช้จ่ายฉุกเฉินเมื่อปัญหาต้องใช้เงินเร่งด่วน เงินในบัญชีนี้ควรจะมีอย่างน้อยๆ ประมาณ 6-12 เท่าของเงินเดือนที่ได้รับเต็มๆ ที่ช่วยให้เราอยู่ได้ อย่างน้อยๆ 1 ปีกรณีตกงาน เป็นเงินเก็บก้อนแรกที่เราควรทำให้ครบตามเป้า แล้วถ้ากรณีที่มีเงินเดือนสูงขึ้นเราก็ต้องปรับให้มีเงินในบัญชีนี้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

3.บัญชีลงทุน

เป็นบัญชีที่เหลือจากบัญชี "เงินฉุกเฉิน" อาจจะเรียกว่าเป็นเงินเก็บก็ได้ไม่มีจำกัด ว่าจะต้องเก็บในรูปแบบของบัญชีออมทรัพย์ อาจจะเก็บในรูปแบบของกองทุนหรืออะไรก็ได้ตามที่คุณชื่นชอบ โดยต้องมีการวางแผนให้ดีว่าจะกระจายเงินไปให้แต่ละบัญชีในสัดส่วนเท่าไร บัญชีนี้จะเป็นตัววัดความมั่งคั่งของเราได้ดี ยิ่งมีรวมกันมากเท่าไรก็ยิ่งสบายใจมากขึ้นเท่านั้น

4.บัญชีเพื่อความสุข

เป็นบัญชีสำหรับลงทุนแบบหนึ่ง แต่ใช้เพื่อการท่องเที่ยว หรือซื้อสิ่งของที่อยากได้ หรือเป้าหมายอื่นๆ บัญชีนี้อาจจะใช้เงินเหลือประจำวัน เช่น ตั้งเป้าใช้เงินวันละ 200 บาท หากเหลือก็เอามาเก็บในบัญชีนี้ หรือหากมีรายได้เสริมทางอื่นๆ ก็เอามาเก็บในบัญชีนี้ได้ เป็นต้น เป็นบัญชีที่จะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะช่วยให้คุณเห็นภาพของเงินที่จะเก็บและใช้ได้ชัดเจนขึ้น

สุดท้ายแล้วการมีกี่บัญชีนั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว เพราะประเด็นสำคัญคือ การรู้จักเก็บ และรู้ความเคลื่อนไหวในสถานะการเงินของตัวเอง เพื่อการบริหารจัดการด้านการเงินได้ดีขึ้นนั่นเอง คุณจะบริหารจัดการ 10 บัญชีก็ได้ หากทุกบัญชีให้ประโยชน์ด้านการเงินแก่คุณเพิ่มมากขึ้น n