posttoday

‘เอนอีซ’ เอนไซม์ยกระดับ ‘สิ่งทอ’ ประหยัดพลังงาน-รักษ์สิ่งแวดล้อม

23 กรกฎาคม 2560

เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยหลักสำคัญของทุกคน ที่ยังคงทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ

โดย...อาทิตย์ ลมูลปลั่ง/ วัชราภรณ์ สนทนา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยหลักสำคัญของทุกคน ที่ยังคงทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ที่สร้างรายได้หลักต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทว่าในกระบวนการผลิตสิ่งทอส่วนใหญ่ยังมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในอุตสาหกรรม จึงเกิดแนวคิดลดใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ด้วยการใช้ “เอนไซม์เอนอีซ” ผลงานการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไทย ซึ่งสามารถทดแทนสารเคมีได้ 100 เปอร์เซ็นต์

เอนไซม์เอนอีซ นวัตกรรมวิจัยยกระดับสิ่งทอ 

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะผู้วิจัยเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) “เอมไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน” ได้สำเร็จ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และโรงงานสิ่งทอธนไพศาล ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ในสหสาขาวิชาต่างๆ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ (ENZease)” ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center : TBRC) ซึ่งจุลินทรีย์นี้สามารถสร้างเอนไซม์ได้ทั้งอะไมเลสและเพคติเนสในเวลาเดียวกัน นับว่าเป็น “เอนไซม์อัจฉริยะ” ที่สามารถทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน คือ pH 5.5 และที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงมีจุดเด่นคือ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพความแข็งแรงของผ้า สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียวภายในเวลา 1 ชั่วโมง เท่านั้น ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนในการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

‘เอนอีซ’ เอนไซม์ยกระดับ ‘สิ่งทอ’ ประหยัดพลังงาน-รักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของผ้าฝ้ายให้มีคุณภาพสูงมากกว่าที่ใช้สารเคมี เนื่องจาก เอนไซม์เอนอีซจะทำปฏิกิริยาแบบจำเพาะเจาะจง ไม่ทำลายเส้นใยผ้า ช่วยให้ผ้ามีความแข็งแรง น้ำหนักลดลง และเนื้อผ้านิ่ม เหมาะสมสำหรับการสวมใส่ ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทเอเชียสตาร์ เทรด ซึ่งมีความชำนาญในการผลิตเอนไซม์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตเอนไซม์เอนอีซในเชิงพาณิชย์ได้มากกว่า 10 ตัน/เดือน และจำหน่ายภายในปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี ระหว่างวันที่ 20-21 ก.ค. ทีมวิจัยยังได้เผยแพร่โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีเอนไซม์เอนอีซ ให้กับผู้ประกอบการผ้าหม้อห้อมพื้นเมือง จ.แพร่ ทั้งร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้
ผลงานวิจัยในการผลิตหม้อห้อมอีกด้วย

ทดแทนสารเคมี 100%ลดต้นทุนการผลิต

นายปิลันธน์ ธรรมมงคล กล่าวว่า ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันมีการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะ “เทคโนโลยีเอนไซม์” ไปใช้ในการพัฒนากระบวนการทางสิ่งทอมากยิ่งขึ้น เช่น การนำเอนไซม์อะไมเลสสำหรับการลอกแป้ง และเอนไซม์เพกติเนสกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้าย ทดแทนสารเคมี อาทิ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และโซดาไฟ ทั้งนี้การทดสอบการใช้ “เอนไซม์เอนอีซ” ในโรงงานสิ่งทอธนไพศาลประสบความสำเร็จอย่างมาก อาทิ กระบวนการแบบจุ่มอัดหมักและแบบจุ่มแช่ โดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมของโรงงาน และไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องจักรและสายการผลิตแต่อย่างใด นอกจากนี้ผ้าที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงาน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการฟอกย้อมและพิมพ์ลาย ก่อนนำส่งลูกค้าของโรงงาน จากการใช้ “เอนไซม์เอนอีซ” นั้น สามารถทดแทนการใช้สารเคมีในระบบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้น้ำ ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสีย ลดขั้นตอนในกระบวนการเตรียมผ้า ลดพลังงานและต้นทุนการผลิตโดยรวมได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกระบวนการดั้งเดิม

‘เอนอีซ’ เอนไซม์ยกระดับ ‘สิ่งทอ’ ประหยัดพลังงาน-รักษ์สิ่งแวดล้อม

ช่วยการย้อมห้อม สีติดเสมอทั้งผืนผ้า

นางประภาพรรณ ศรีตรัย ตันแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ต.ทุ่งโฮ้ง จ.แพร่ เปิดเผยว่า จากการใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียวทั้งแบบแช่ และแบบต้ม ทำให้ผ้าที่ได้มีระดับการลอกแป้งและการซึมน้ำของผ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานและเหมาะสมต่อการนำไปย้อมสีและพิมพ์ลายได้ โดยเมื่อนำผ้าผืนที่ได้จากการทดสอบด้วยเอนอีซมาผ่านกระบวนการพิมพ์ลาย และย้อมสีห้อม พบว่ามีการย้อมสีห้อมติดสีสม่ำเสมอกันทั้งพื้น ดูดซึมน้ำสีได้ดีและเร็วโดยไม่ต้องออกแรงขยี้ และมีสัมผัสที่นุ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการใช้เอนอีซยังช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถเพิ่มคุณภาพของผ้าฝ้ายและช่วยลดพลังงานในกระบวนการต้มด้วยผงซักฟอกลงได้ และช่วยลดเวลาในกระบวนการแช่ผ้ากับน้ำหมักจากน้ำผักผลไม้จาก 3 วัน เหลือเพียงแค่ 18 ชั่วโมงเท่านั้น

นางชวัลณัฏฐ์ ถิ่นจอมธ์ ผู้ประกอบการร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น เปิดเผยว่า นำเอมไซม์เอนอีซมาใช้ในการลอกแป้งและทำความสะอาดผ้าฝ้ายแล้วพบว่าลดขั้นตอนการทำความสะอาดได้มาก ใช้เวลาเพียง 1 วัน จากเดิมใช้เวลา 3 วัน และยังช่วยลดกลิ่นเหม็นของแป้งที่ติดอยู่บนผ้าได้ดีมาก นอกจากนั้นแล้วยังขจัดคราบสกปรกบนผ้าได้ดีทำให้ผ้านิ่มขึ้นและสีของห้อมสังเคราะห์ซึมผ่านผ้าได้ดีขึ้นช่วยให้สีย้อมติดสม่ำเสมอทั้งผืนผ้าเป็นที่พอใจของลูกค้ามากขึ้น

‘เอนอีซ’ เอนไซม์ยกระดับ ‘สิ่งทอ’ ประหยัดพลังงาน-รักษ์สิ่งแวดล้อม

เปิดโอกาสผู้ประกอบการเข้าถึงนวัตกรรม

อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จของงานวิจัยเอนไซม์อัจฉริยะ ที่นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ   สิ่งทอไทยครั้งนี้ สวทช.เปิดโอกาสและเชิญชวนผู้ประกอบการสิ่งทอไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งสัมผัสผลงานวิจัยและนวัตกรรม “เอนไซม์อัจฉริยะ” ในงานสัมมนา“ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีเอนไซม์” วันที่ 17 ส.ค. 2560 เวลา 12.30-16.30 น. ณ ห้องบอลรูม ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค กทม. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอนไซม์ ตลอดจนการประยุกต์ใช้เอนไซม์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับฟังได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียด 02-644-8150 ต่อ 81889 หรือติดตามข้อมูลที่ www.nstdaacademy.com/enz

‘เอนอีซ’ เอนไซม์ยกระดับ ‘สิ่งทอ’ ประหยัดพลังงาน-รักษ์สิ่งแวดล้อม

‘เอนอีซ’ เอนไซม์ยกระดับ ‘สิ่งทอ’ ประหยัดพลังงาน-รักษ์สิ่งแวดล้อม