posttoday

คำสารภาพของอดีตผู้ต้องขัง ผมไม่เห็นพระจันทร์

11 มิถุนายน 2560

กำลังใจ คำนี้เป็นคำไม่หรูหรา ไม่ยุ่งยาก แต่ลึกซึ้ง เป็นคำพูดที่พูดกับใครก็เข้าใจและรู้สึกดี ทุกคนจะต้องผ่านวันเวลาที่ยากลำบาก

โดย...มัลลิกา

“กำลังใจ คำนี้เป็นคำไม่หรูหรา ไม่ยุ่งยาก แต่ลึกซึ้ง เป็นคำพูดที่พูดกับใครก็เข้าใจและรู้สึกดี ทุกคนจะต้องผ่านวันเวลาที่ยากลำบาก รู้สึกท้อ ห่อเหี่ยว ทำอะไรก็ไม่มีใครรัก ทำอะไรก็ไม่มีใครเห็นว่าดี

คิดว่าผู้ต้องขังที่ก้าวพลาดไปก็อยู่ในภาวะนี้ คือถูกตราหน้าว่า เป็นคนผิด ต้องอยู่ในที่ซึ่งถูกกำจัดเสรีภาพ ดูอย่างไรก็ไม่ดี ยิ่งผู้ต้องขังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกในทางลบกับตัวเอง ก็จะรู้สึกในทางลบต่อสังคมไปด้วย

การให้กำลังใจไม่ใช่การเข้าข้างตนเอง หรือลืมความผิดพลาดของตนเอง แต่ต้องนำความผิดพลาดนั้น กลับมาทบทวนเพื่อจะได้แก้ไข ไม่กลับไปทำผิดพลาดอีก ซึ่งต้องการกำลังใจที่เกิดขึ้นในตัวเองก่อน และถ้าสังคม ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ให้โอกาส ให้กำลังใจ ก็สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีได้”

พระดำรัส พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

โครงการกำลังใจเป็นโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ก่อตั้งเมื่อปี 2549 และเมื่อปี 2559 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธาน ที่โครงการกำลังใจ ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ต้องขังชายที่เข้ารับการอบรมเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำของเรือนจำชั่วคราวดอยราง จ.เชียงราย เข้าศึกษาดูงานโครงการพัฒนาดอยตุง พื้นที่ 52 ไร่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มชาวเขา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตัวแทนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และผู้พ้นโทษที่ผ่านการพัฒนาทางเลือก

คำสารภาพของอดีตผู้ต้องขัง ผมไม่เห็นพระจันทร์

หนึ่งในผู้ต้องขัง มีนักโทษชาย ชื่อ “วีรภาพ กันแก้ว”

6 ปี 16 เดือน 15 วัน…

สิ้นคำตัดสิน น้ำตาท่วมในอกจนทะลักออกมาผ่านนัยน์ตา ความรู้สึกมึนชา เหมือนถูกจับโยนหมุนเคว้งกลางอากาศ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฤทธิ์ของยาบ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในประสาทหรือไม่ แต่เขาก็ไม่อยากได้คำตอบใดๆ อีกแล้ว เพราะทั้งหูทั้งตาอื้ออึงไปหมด

ทว่า เสียงเดียวที่ได้ยินชัดคนเดียว คือเสียงสะอื้น เพราะความรู้สึก “ไม่อยากเข้าคุก”

“กินไม่อิ่ม นอนไม่อุ่น หน้าหนาวหนาวจัด หน้าร้อนร้อนมาก” วีรภาพเปิดใจถึงความทรงจำที่อยู่ในเรือนจำ

เรือนจำกลางเชียงราย คือทัณฑสถานที่ วีรภาพ กันแก้ว ต้องเข้าอยู่

คำสารภาพของอดีตผู้ต้องขัง ผมไม่เห็นพระจันทร์

ภาพวันแรกที่เดินเข้าไปในคุกยังฝังใจ “ที่นอนแออัด น้ำใช้ต้องแย่งกัน คนเยอะ มีอย่างเดียวที่เป็นของเรา คืออากาศหายใจ อย่างจะลุกเข้าห้องน้ำกลับมาไม่มีที่นอนแล้ว

ช่วงแรกผมนอนหลับเพราะมีฤทธิ์ยาบ้าอยู่ พอผ่านมาสักอาทิตย์เริ่มคิดว่า จะอยู่ได้ไหม เราต้องตายแน่ ถามคนอื่นในคุกคดีอย่างเรากี่ปี ความเครียดเกิดขึ้น คิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะกลัว ถ้าติดนานออกไปตอนอายุ 50 จะไปทำอะไร ความคิดตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการอภัยโทษเลย”

“ผมไม่เห็นพระจันทร์”

บทเรียนหลังกำแพงสูงตระหง่าน ทำให้วีรภาพตระหนักได้ว่า ความรักจากครอบครัวสำคัญยิ่งนัก “เพื่อนบางคนไม่มีใครมาเยี่ยมเลย บางคนไม่มีญาติ บางคนมีแต่ก็อายที่ลูกที่น้องติดคุกไม่มาหาตัดขาด ผมโชคดีที่มีแม่ ผมทำให้แม่อายคนในหมู่บ้าน ผมเสียใจมาก แต่แม่ก็มาเยี่ยมตลอด เอาเงินให้ผมใช้

กินไม่อิ่ม ถ้าไม่ญาติเอาของกินมาฝาก ไม่มีเงินซื้อจากร้านข้างในก็ลำบาก แต่ผมมีแม่กับพี่สาวให้เงิน 5,000 บาททุกเดือน ติดคุกแล้วยังลำบากเขาหาเงินให้ใช้อีก ตอนผมอยู่ข้างนอกยังไม่เคยให้เขาขนาดนี้เลย

คำสารภาพของอดีตผู้ต้องขัง ผมไม่เห็นพระจันทร์

ในคุกมันไม่ได้โหดร้ายมาก ในหนังที่เราเห็นๆ กันมันก็มีจริง แต่ไม่เว่อร์ขนาดนั้น แต่ชีวิตในคุกมันต่างจากข้างนอกสิ้นเชิง ไม่มีอิสระ เพราะมีนักโทษเป็นพันคนเจ้าหน้าที่มีไม่กี่สิบ เขาจึงต้องมีกฎเข้มงวด

ช่วงแรกๆ ผมนับวันตลอดว่า ผ่านมากี่วันแล้ว จนหลังๆ ไม่นับแล้ว ยิ่งนับยิ่งทุกข์ทรมาน ก็เล่นกีฬา หาช่วยงาน ให้ถึงเย็นแล้วสว่างไปวันๆ หาอะไรทำ ไม่อยู่คนเดียว

2 ปีแรกผมไม่เห็นพระจันทร์ เพราะก่อน 6 โมงเย็น ทุกคนต้องขึ้นตึกนอน แต่หลังจากนั้นมาเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ผมจึงได้เห็นพระจันทร์บ้าง”

มุมมืดของชีวิต

“ผมโดนล่อซื้อยา ตอนนั้นที่ตัวมี 20 เม็ด ไปค้นที่บ้านเจออีก 30 เม็ด เจอข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองและจำหน่าย” วีรภาพค่อยๆ เล่าเรื่องราวในอดีต ที่เขาได้ก้าวผิดพลาด ทุกเหตุการณ์กลับมาแจ่มชัด ฉายซ้ำอีกครั้ง

คำสารภาพของอดีตผู้ต้องขัง ผมไม่เห็นพระจันทร์

“ตอนปี 2550 ผมขายเย็นตาโฟที่ตลาดโต้รุ่ง ได้ทุนจากพี่สาว ซื้อน้ำซอสมาจากกรุงเทพฯ อร่อยมาก แตกต่างจากที่มี ลูกค้าเยอะ แต่ภาระน้ำซอสแพงต้นทุนค่าขนส่งก็สูง ขายดีแต่ไม่คุ้ม

ตอนปี 2552 ก่อนนั้นเคยใช้ยามาบ้าง แต่เหตุการณ์ที่เข้าสู่วงจร มีเด็กเดินของติดเงินผมห้าร้อย เขาใช้มาเป็นยา 10 เม็ด ผมก็นำไปขายต่อ ได้กำไรก็เกิดความโลภ แล้วคนที่เราขายให้ก็มาขอซื้ออีก เราก็เลยไปเอามาขาย ก็ได้กำไรเท่าหนึ่ง ความเหนื่อยไม่มี ความกลัวตอนนั้นไม่คิด เพราะไม่เคยมีคดีอะไรติดตัว

ขายด้วย เสพด้วย สังคมเริ่มแคบลง เพื่อนน้อย เลิกกับแฟน เพราะยาบ้านี่แหละ แฟนรับไม่ได้ อารมณ์เราเปลี่ยน ชีวิตประจำวันเปลี่ยน ยาอยู่กับเราจาก 20 เม็ด เป็นร้อย เป็นสองร้อย ขายเยอะ หนักเข้าก็เสพเยอะ มีเงินเยอะก็ใช้เยอะ เราหลอน อารมณ์รุนแรง คิดอะไรทำเลย มีทะเลาะตบตีแฟนบ้าง ควบคุมตัวเองไม่ได้

ทิ้งร้านให้คนอื่นดู เราใช้ชีวิตไปวันๆ มีเงินก็ใช้หมดไป ไม่ได้มีบ้าน มีรถ ตอนขายเย็นตาโฟมีเงินให้แม่ ขายยาได้เยอะกว่าแต่ไม่มีเงินให้แม่ ตอนนั้นแม่รู้ร้องไห้ ขอให้เลิก แต่ผมไม่ได้สนใจอะไรเลย แม่ พี่สาวเสียน้ำตาหมด ผมไม่สนใจ ออกไปเช่าโรงแรมอยู่ จนผมถูกล่อซื้อ”

3 ปี 11 เดือน 20 วัน อิสระที่หายไป

“ผมเรียกเรือนจำว่า บ้านใหญ่ ความทรงจำดีๆ ไม่ค่อยมี แต่โชคดีที่บ้านใหญ่มีหลายแดน แดน 5 คือแดนแรก เป็นแดนปรับตัว แดน 3 ระหว่างยังไม่ตัดสิน แดน 2 เป็นนักโทษเด็ดขาด ผมโชคดีได้ช่วยงานอยู่แดนแรกจนถึง 3 ปีนิดๆ

ตอนนั้นช่วยเป็นพวกจัดเลี้ยง กองงานโรงเลี้ยง ตักแกง ตักข้าว คอยบริการพวกนักโทษ อยู่กองงานเกือบ 2 ปี ได้เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นผู้ช่วยงานของเจ้าหน้าที่ ช่วยดูแลนักโทษมาใหม่ ฝึกระเบียบแถว เป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เราทำเองแต่ต้องได้รับคำสั่ง

พออยู่ไปเรื่อยๆ เริ่มปรับตัว ในเรือนจำมีเรียนธรรมะ ผมก็เอาตรงนั้นมาช่วยปลง ผมเรียนจบนักธรรมตรีในเรือนจำ อยู่มาวันหนึ่งมีหนังสือเวียนสมัครโครงการกำลังใจ เกณฑ์คัดนักโทษชั้นเยี่ยม ผมเข้าข่ายเลยลองสมัครมา ตอนนั้นคิดแค่ว่า อยากพ้นกำแพงสูงๆ”

วีรภาพเข้ารวมโครงการกำลังใจ ในปี 2558 เป็นรุ่นที่ 6 ณ เรือนจำชั่วคราวดอยราง จ.เชียงราย ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง เหลือจำนวนที่ต้องถูกจองจำเพียง 2 ปีกว่า

“กิจกรรมในดอยรางมีปลูกผัก เลี้ยงไก่ ปลูกข้าว ทำน้ำหมักอินทรีย์ ปั้นกระถาง มีหลายอย่างให้ทำ ความรู้สึกอิสระ ดีกว่าที่เก่า แม่มาเยี่ยมได้บ่อยขึ้น มันแตกต่างกันมาก อยู่บ้านใหญ่ เวลาญาติมาเยี่ยมมีกระจกกั้น แล้วยกหูโทรศัพท์คุยกัน เห็นแม่อยู่ข้างหน้าแต่สัมผัสไม่ได้ มันปวดร้าวนะครับ แล้วคุยได้ 15 นาที ต้องแยกกันแล้ว

แต่ที่ดอยรางนั่งกินข้าวด้วยกันได้ ผมได้กอดแม่ มันทำให้อบอุ่น ทำให้เรารู้สึกอยากมีชีวิตต่อไป เจ้าหน้าที่อนุญาตให้พาญาติไปดูแปลงผักที่เราปลูก สุขภาพจิตเราดีขึ้น แม่เราก็มีความสุขขึ้น หน้าตาไม่เครียด เหมือนตอนเราอยู่ข้างใน

ผมอยู่ดอยรางประมาณ 10 เดือน เพื่อนเหมือนกระจก แต่ละคนเล่าเรื่องราวให้กันฟัง มีคนที่แย่กว่าเรา บ้านไม่มี มีบ้านไม่มีไฟฟ้า บางคนไม่มีทางเลือก แต่เรามีทางเลือก มีโอกาส มีพี่สาวช่วยเหลือ แต่ยังเลือกทำผิด

คำสารภาพของอดีตผู้ต้องขัง ผมไม่เห็นพระจันทร์

ก็คิดได้ว่า ถ้าเราออกไปเรายังไม่เปลี่ยน ถ้าต้องกลับเข้ามาอีกต้องตายในคุกแน่ๆ คิดถึงคุก กำแพงสูงไม่อยากมาอีก ก็ตั้งใจเรียนรู้ต่างๆ รู้การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง มันน่าจะปรับใช้อะไรได้บ้างถ้าออกไป ไปขายก๋วยเตี๋ยวได้ไหม ก็บอกกับกับพี่สาวว่าออกมาจะขายอีกนะ

แล้วผมได้เข้าเฝ้าพระองค์ภา เมื่อเดือน ก.ค. 2559 ผมขนลุกเลย เรามีบุญได้เข้าเฝ้า ได้ฟังสิ่งที่พระองค์พูด ผมเจ็บคอ พระองค์ท่านประทานลูกอมให้ก็เริ่มมีความคิด เราอยู่ตรงนี้จะทำประโยชน์อะไรให้ใครได้ไหม”

ระหว่างที่อยู่เรือนจำชั่วคราวดอยราง วีรภาพได้รับพระราชทานอภัยโทษอีกครั้ง

15 ต.ค. 2559 เขาได้รับอิสรภาพ

อ้อมกอดแม่ คือสิ่งแรกที่เขาปรารถนาและเขาได้สวมกอดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว...

5 พ.ค. 2560

“กว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวกำลังใจ

ร้านก๋วยเตี๋ยวกำลังใจเกิดขึ้นมาได้เพราะพระเมตตาในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงรับฟังจากการที่ผมได้นำเสนอ ในการเข้าร่วมกิจกรรมของพระองค์ท่าน ณ โครงการพัฒนาดอยตุง เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 ผมกราบทูลพระองค์ท่านไปว่า เมื่อจบการอบรมในโครงการของพระองค์ท่านแล้ว ผมจะออกมาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ

ในโครงการอบรมของพระองค์ท่าน ได้มีการนำเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชามาสอน ซึ่งทำให้ผมได้คิด ได้ไตร่ตรอง และวางแผนการใช้ชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมมากๆ

เมื่อผมจบโครงการอบรมของพระองค์ท่าน ผมได้ออกมาทำตามที่กราบทูล ไว้ ซึ่งผมรู้สึกซาบซึ้งในพระองค์ท่านมาก ได้อ่านพระดำรัสท่าน ฟังสิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งให้กับผมและเพื่อนๆ ในวันดังกล่าวแล้ว ผมคิดว่าเป็นบุญของผม

ดังนั้น เมื่อผมอบรมเสร็จผมมาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ใน อ.แม่จัน และต่อมาผมได้รับพระเมตตาจากพระองค์ท่านอีกครั้ง โดยพระองค์ท่านได้ให้พระสหายคือ คุณปาล์ม และคุณแทน (เจ้าของก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร กรุงเทพฯ) มาให้คำแนะนำผมและช่วยเหลือผมในหลายๆ อย่าง

รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือจากพี่โครงการกำลังใจด้วย โดยผมปวารณาตัวว่าจะทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม และรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดไป”

วีรภาพ กันแก้ว ได้กลั่นความคิดออกมาเป็นตัวอักษร แล้วได้ผนึกไว้ข้างผนังร้านก๋วยเตี๋ยวกำลังใจ ตามชื่อโครงการที่ได้ชุบชีวิต เปิดประตูให้เขาได้ค้นพบแสงสว่างที่จะนำพาชีวิตก้าวต่อไป นับจากหันหลังให้เรือนจำ ไปใช้ชีวิตเยี่ยงปุถุชนทั่วไป คำตีตราว่าเป็นนักโทษได้สิ้นสุดลงแล้ว

เขาได้ทำตามที่ตั้งเจตนาไว้ เปิดร้านเย็นตาโฟครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2559 ก่อนที่จะย้ายทำเล มาอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย และได้ฤกษ์เปิดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวกำลังใจ

“ผมรู้สึกปีติที่สุดในชีวิต จำได้ว่าชามที่สองพระองค์ทรงสั่งหมี่เหลืองเย็นตาโฟแห้ง ชามแรกผมจำไม่ได้ ผมตื่นเต้นมาก มือที่จับตะกร้อลวกเส้นสั่นไปหมด ผมยังคิดว่าผมฝันอยู่เลย แล้วพระองค์ยังประทานเงินให้ผมเป็นทุนอีก และยังให้พระสหายให้คำแนะนำผมเกี่ยวกับการจัดการร้าน เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตผม”

ร้านก๋วยเตี๋ยวกำลังใจเปิดเวลา 07.00-15.00 น. หยุดวันอาทิตย์ วีรภาพเล่าว่า วันหนึ่งสามารถทำกำไรได้ประมาณ 1,000-2,000 บาท ลูกค้ามาพอเห็นป้ายที่ติดอยู่ในร้านว่ามี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาร้านนี้และทราบว่าเขาเคยติดคุกมาก่อน หลายคนก็ให้กำลังใจ และแสดงความยินดีที่เขาสามารถกลับตัวกลับใจได้

วีรภาพภูมิใจกับสูตรเย็นตาโฟที่สามารถมัดใจลูกค้าให้กลับมาเป็นขาประจำได้ “ผมแกะสูตรจากข้างขวด ลองผิดลองถูก ทำทิ้งหลายรอบ ชิมกันเองจนได้รสชาติที่ใกล้เคียงกับตอนซื้อน้ำซอส แล้วก๋วยเตี๋ยวต้มยำน้ำใส ผมก็ใช้มะนาวสด ต้องเป็นมะนาวแป้นเท่านั้น เพราะมีกลิ่นหอมเตะจมูก บีบสดๆ ชามต่อชาม ถั่วแม่ก็ตื่นมาคั่วเอง พริกป่นก็ซื้อจากเจ้าที่ทำใหม่ตลอด ตอนนี้ก๋วยเตี๋ยวต้มยำน้ำใสขายได้วันละประมาณ 100 ชาม”

นับจากวันที่พ้นคุก เขาถามแม่กับพี่สาวว่า “อายไหมที่เขาติดคุก” หากแต่อ้อมกอดที่ให้กลับมาแทนเสียงก็เป็นคำตอบที่ทำให้เขาแช่มชื่นหัวใจ ประจวบกับเพื่อนบ้าน หรือลูกค้า ไม่มีใครเคยทำท่าทางรังเกียจที่เขาเคยต้องโทษมาก่อน สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นกำลังใจให้เขามีพลังในการใช้ชีวิตให้อยู่ในครรลองที่ถูกที่ควร

“ผมเคยคิดผิดทำผิดมาแล้ว ก็ได้บทเรียนกับตัวเอง คนเราต้องเริ่มจากความคิดก่อน อย่าคิดไม่ดี อย่าอยากรวยทางลัด คนเราเหงื่อไม่ไหลได้ตังค์ไม่มีหรอก เราได้เงินสุจริตเราจะสบายใจ ไม่ได้ร่ำรวยแต่มีความสุข เริ่มมีขันติ ความพอเพียง ไม่มีความโลภ ตอนนี้ผมกลัวไม่ได้อยู่กับแม่ ความอยากไม่มีแล้ว

กำลังใจเป็นอะไรที่สำคัญมาก คนไม่เคยขาดอิสระ อาจจะไม่เห็นค่าคำนี้ ผมเพิ่งเข้าใจว่า ทำไมคนป่วยต้องการกำลังใจ ตอนอยู่ในคุกผมอยากเห็นแต่หน้าแม่ หน้าพี่สาว เพราะพวกเขาเป็นกำลังใจที่ช่วยให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อ”

ตัวเลขที่วีรภาพจดจำได้แม่นยำ ประหนึ่งเป็นการย้ำเตือนสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต หากสักวันหนึ่ง ตัวเลขพวกนั้นเขาจะค่อยๆ ลืมมันไป ทว่าสิ่งที่เขาจะตระหนักเสมอ คือ “ตัวเลขของเวลา” ที่จะทำให้ทุกนาที ทุกวันมีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น