posttoday

พัฒนายาต้านมะเร็ง ในพระราชดำริ

14 พฤศจิกายน 2559

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2484-2488

โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ วรวุฒิ แก่นจันทร์

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2484-2488 ส่งผลกระทบที่รุนแรงเกินคาดคิดประชาชนบางส่วนต้องทิ้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพื่อหนีภัยสงคราม ที่ดินถูกทิ้งร้าง ข้าวปลาอาหารขาดแคลนอีกทั้งกรุงเทพฯ ยังถูกซ้ำเติมจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2485 สร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อบ้านเรือน รวมทั้งพื้นที่การเกษตรสำคัญของประเทศเสียหายอย่างหนัก มีการเจ็บไข้ได้ป่วยกันมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์หนึ่งปีถัดจากการสิ้นสุดสงครามโลก ในขณะที่ประชาชนอยู่ในภาวะทุกข์เข็ญประเทศไทยอยู่ในสภาพบอบช้ำอ่อนแอ พระองค์ทรงหาทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อราษฎรของพระองค์ที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เนื่องจากเกรงว่าประชาชนยากที่จะเข้าถึงโอกาสในการรักษา

จุดเริ่มที่พระราชวังสวนจิตรลดา

ประเทศไทยมีการศึกษาเห็ดต่างๆ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรจัดหาอุปกรณ์และดำเนินการสาธิตฝึกอบรมการเพาะเชื้อเห็ดให้ราษฎร โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา มีการทดลองเพาะเห็ดชนิดต่างๆ และเห็ดหลินจือตั้งแต่ปี 2531 โดยพระองค์ให้จัดสร้างโรงเพาะเห็ดชนิดต่างๆ ขึ้นด้วยเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อปลูกเห็ดชนิดต่างๆ หลายชนิด โดยเฉพาะเห็ดหลินจือ

พัฒนายาต้านมะเร็ง ในพระราชดำริ

 

ก่อนปี 2531 เห็ดหลินจือมีราคาสูงมาก หาซื้อได้ยากส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ในการเพาะเห็ดของโครงการส่วนพระองค์พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้นำเอาเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเพาะเห็ดมาทำเป็นปุ๋ยหมักอีกด้วย โดยหน่วยวิจัยและพัฒนาได้ดำเนินการ โดยเน้นเรื่องการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพาะเห็ด และศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเห็ด

ดร.สุรีย์วรรณ พันธ์นรา นักวิชาการด้านเห็ดหลินจือโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงเห็ดจะทำแบบครบวงจรเริ่มตั้งแต่การแยกเชื้อบริสุทธิ์ การเลี้ยงเชื้อในเมล็ดธัญพืช การเตรียมวัสดุเพาะ การเพาะเลี้ยงจนเก็บเกี่ยวเห็ดได้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนนำไปอบแห้ง บรรจุใส่ถุงพลาสติกก่อนนำไปจำหน่าย ต่อมามีการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณณ์เห็ดหลินจือรูปแบบต่างๆ อาทิ เห็ดแรนูลสำหรับชง เห็ดหลินจือสกัดบรรจุแคปซูล เม็ดอมเห็ดหลินจือ น้ำเห็ดหลินจือกระป๋อง

ปี 2549 ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาได้มอบสายพันธุ์เห็ดหลินจือ G9 ซึ่งได้รับมาจาก MR.Sun Tong Fu ให้งานจุลชีวประยุกต์โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดานำไปทดลองวิจัยและพัฒนา โดยสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นการนำเห็ดหลินจือมาจากเกาหลีและเห็ดหลินจือป่าสีม่วงมาผสมกันโดยศาสตราจารย์อี๋ฉวนอี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพด้านรักษาโรค นิวส์ไฮต้าเหลียนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยการเกษตรแห่งประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเห็ดหลินจือสายพันธุ์นี้ ส่วนดอกนอกจากจะมีขนาดใหญ่ หนา และมีสปอร์มากแล้ว ยังมีปริมาณสารสำคัญ หรือสารออกฤทธิ์สูงกว่าเห็ดหลินจือสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย

พัฒนายาต้านมะเร็ง ในพระราชดำริ ดร.สุรีย์วรรณ พันธ์นรา

 

เมื่อได้รับสายพันธุ์เห็ดหลินจือที่ดีและได้รับทราบข้อมูลด้านเภสัชของสปอร์เห็ดหลินจือ ซึ่งแต่เดิมโครงการทิ้งไปไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในปี 2553 นี้งานจุลชีวประยุกต์ ฝ่ายเทคโนโลยีเกษตร จึงมีโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือเพื่อนำสปอร์ไปใช้ในทางยา โดยได้รับทุนศึกษาวิจัยส่วนหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสาระสำคัญของเห็ดหลินจือในสภาวะการปลูกต่างๆ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้รับความนิยม เนื่องจากราคาไม่แพงและเป็นผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้ง่าย โดยเฉพาะน้ำเห็ดหลินจือผสมน้ำผึ้งจากการที่ประชาชนหันมาใส่ใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเห็ดหลินจือ ขณะที่ท้องตลาดภาคเอกชนก็มีการนำผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือมาจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

หลินจือ...เห็ดหมื่นปี

ความร่วมมือแบบบูรณาการสืบสานแนวพระราชดำริ โครงการวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในประเทศไทย เกิดขึ้นภายใต้โครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ปีงบประมาณ 2551-2554 ภายหลังที่ประเทศไทยเกิดความนิยมในการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือเพิ่มมากขึ้นจากคุณประโยชน์ของเห็ด โดยมีผู้นิยมรับประทานเห็ดหลินจือในรูปแบบต่างๆ อาทิ ชา เนื้อเห็ดแห้ง เม็ดแคปซูล และน้ำบรรจุกระป๋อง เพื่อบำรุงร่างกาย แต่ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือบางอย่างไม่ได้เน้นเรื่องการเก็บสปอร์เห็ดหลินจือมาใช้ประโยชน์

พัฒนายาต้านมะเร็ง ในพระราชดำริ อำนาจ เดชะ

 

อำนาจ เดชะ ผู้อำนวยการพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ กล่าวว่า ก่อนปี 2531 มีการนำเข้าเห็ดหลินจือจากจีนจำนวนมากซึ่งราคาแพง คนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อได้ ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มีการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่างๆ รวมถึงเห็ดหลินจือ ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา และให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชน เพื่อใช้บริโภคและประกอบอาชีพ เห็ดหลินจือจึงค่อยๆ เริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ทำให้คนไทยมีโอกาสที่จะซื้อเห็ดหลินจือมากขึ้น จนถึงปัจจุบันที่นำไปสู่การต่อยอดในเรื่องการวิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรมเพื่อใช้เป็นยาต้านมะเร็ง

โดยการริเริ่มของสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับโครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงายที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ สำนักพระราชวัง การวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นการวิจัยแบบบูรณาการด้วยความร่วมมือจาก 12 หน่วยงานที่สำคัญ ทั้งจากมหาวิทยาลัยรัฐและกระทรวงสาธารณสุข มีมหาวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำอย่างศิริราช จุฬาลงกรณ์ มหิดล เชียงใหม่ แม่โจ้ ในการช่วยค้นคว้าวิจัยสรรพคุณทางการแพทย์ให้ด้วย ซึ่งพบว่ามีสรรพคุณช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงตับ ดีกับผู้ที่มีปัญหาไขมันเกาะตับ ถือเป็นยาบำรุงชั้นดีโดยกินเป็นชาที่ผลิตจากเห็ดหลินจืออบแห้ง แต่จะกินป็นยามีผลทางการรักษาต้องกินระดับเข้มข้นที่ผลิตจากสปอร์

พัฒนายาต้านมะเร็ง ในพระราชดำริ จารุณี เขื่อนเพชร

 

จารุณี เขื่อนเพชร นักวิจัยจากโครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย กล่าวถึงงานวิจัยว่าประสบความสำเร็จในการผลิตเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือตามแนวเกษตรดีที่เหมาะสม จนได้พันธุ์เห็ดหลินจือที่ให้ผลสูงคุ้มค่าต่อการลงทุนเชิงพาณิชย์ เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพทดแทนการนำเข้าและสามารถพัฒนาผลงานเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ อาทิ สายพันธุ์ MG-1 MG-2 และ MG-5 โดยพบว่าสายพันธุ์ MG-2 ให้ผลผลิตสูง คุ้มค่าต่อการลงทุนเชิงพาณิชย์และมีคุณค่าทางยาสูง มีการค้นพบวิธีการเพาะเลี้ยงที่ดีที่สุด เพื่อให้ผลผลิตสูงกับวิธีการเก็บสปอร์ที่ดีที่สุดคือ การใช้พู่กัน

ขณะที่คุณภาพทางเคมีของเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือพบว่าสปอร์กะเทาะผนังหุ้มมีฤทธิ์ยาดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้มหลายเท่า มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันและฤทธิ์ต้านมะเร็งในดอกเห็ดและสปอร์เห็ด และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ของคนปกติที่สำคัญสามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งทางสูตินรีเวชได้ แต่การจำหน่ายในรูปแบบของการใช้เห็ดหลินจือเป็นยาต้องมีการขอจดทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ

พัฒนายาต้านมะเร็ง ในพระราชดำริ

 

ทั้งนี้ โครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย นอกจากมีส่วนร่วมในโครงการวิจัยนี้ การดำเนินงานหลักคือเป็นผู้ผลิตเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือ เพื่อส่งให้เอกชนนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมและยา โดยหนึ่งโรงเรือนสามารถเก็บสปอร์เห็ดหลินจือได้ประมาณ 10 กิโลกรัม จากโรงเรือนที่มีอยู่ 45 โรงเรือน 4 โรงบ่มก้อนเชื้อ ถือว่าโครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงายเป็นหน่วยงานที่มีการเพาะพันธุ์ วิจัย และพัฒนาเห็ดหลินจือที่ครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย

นอกจากการเพาะพันธุ์เห็ดหลินจือเพื่อจำหน่ายดอกและสปอร์ ซึ่งทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งให้กับโครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงายแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กล้วยไม้สวยงามของพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์อีกด้วย

พัฒนายาต้านมะเร็ง ในพระราชดำริ

 

หลินจือเห็ดแห่งจิตวิญญาณ

การพัฒนาการเพาะเพื่อนำสปอร์ไปใช้ในทางยา เห็ดหลินจือเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในอาณาจักรของเชื้อราไม่มีคลอโรฟิลล์ เห็ดหลินจือจัดเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยาสูง มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็ง ต้านปวด ป้องกันเส้นประสาทเสื่อม ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือดและต้านการอักเสบ ชาวจีนใช้ประโยชน์จากเห็ดหลินจือมานานกว่า 4‚000 ปี โดยใช้ในตำรับยาที่เป็นยาบำรุงสุขภาพ ยาอายุวัฒนะและยารักษาโรคตับอักเสบ

ส่วนที่เป็นสรรพคุณทางยาคือ ส่วนดอกและสปอร์ ส่วนดอกมีรูปร่างคล้ายพัดหรือไต ผิวมันเป็นวาวคล้ายเคลือบแล็กเกอร์ สปอร์รูปไข่สีน้ำตาลขนาด 8.5-11.5 มิลลิเมตร สปอร์เห็ดหลินจือที่กะเทาะผนังหุ้มแล้วนี้ โครงการส่วนพระองค์จะได้นำไปศึกษาทดลอง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สปอร์เห็ดหลินจือที่มีคุณภาพต่อไป

นอกจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ในเห็ดหลินจือยังประกอบด้วยกรดแมมิโน 18 ชนิด และมีไมโครเอละเมินท์อีก 10 ชนิด ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ส่วนประกอบที่เป็นสรรพคุณ เช่น Ganoderna Alkaloids มีส่วนช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยลดแรงต้านและการสิ้นเปลืองออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ