posttoday

ทำไมเมื่อเริ่มมีอายุ ‘ขา’ ถึงไปก่อน???

12 กันยายน 2558

เมื่อวันก่อนคุณน้าข้างบ้านบ่นว่าปวดเมื่อยขามาก หลังจากไปเดินเที่ยวงานมหกรรมสินค้าแห่งหนึ่งทั้งที่เดินไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง สงสัยน้าอายุมากแล้ว

โดย... พจ.สิริลักษณา ทวีโชติช่วง แผนกฝังเข็ม คลินิกหัวเฉียวแพทย์จีน

เมื่อวันก่อนคุณน้าข้างบ้านบ่นว่าปวดเมื่อยขามาก หลังจากไปเดินเที่ยวงานมหกรรมสินค้าแห่งหนึ่งทั้งที่เดินไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง สงสัยน้าอายุมากแล้ว แต่แท้จริงแล้วคุณน้าอายุเพิ่ง 40 กลางๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าแก่แต่อย่างใด พอกลับมานั่งคิดหาเหตุผลว่าทำไมพอเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน คุณอาคุณน้ามักบ่นว่าเหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อยเอวเมื่อยขา อาการที่มักพบก็คือ ปวดตึงตามข้อ เคลื่อนไหวไม่สะดวก กล้ามเนื้อที่ต้นขานิ่มเล็กลง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น

อาการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะ “ขา” เป็นอวัยวะที่รับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็นทำหน้าที่เปรียบเสมือนโครงสร้างรากฐานของตึกทนรับน้ำหนักตัวและแรงกดทับต่างๆ อยู่ทั้งยังออกแรงเดิน วิ่ง นำพาร่างกายของเราเคลื่อนไหวได้ตามใจสั่ง งานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า ในคนอายุ 20 ปี ไม่ได้ทำงานประเภทออกแรงแบกหามหรือใช้ร่างกายหนักเกินไปนั้นปกติแล้วทุก 10 ปี มีค่าเฉลี่ยการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อประมาณร้อยละ 5 เมื่ออายุ 30 ปี สมรรถภาพการส่งเลือดของหัวใจเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายเริ่มลดลง เลือดและออกซิเจนถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะน้อยลง กล้ามเนื้อบริเวณขาเล็กลง ในขณะเดียวกันมีการขาดแคลเซียมด้วย ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ขาอ่อนแอลง กล้ามเนื้อมัดใหญ่เริ่มนิ่มเล็ก เดินได้ไม่นานไม่ทนเหมือนสมัยหนุ่มสาว จนกระทั่งถึงอายุ 80 ปี แรงกล้ามเนื้อเมื่อเทียบกับคนอายุ 25 ปี นั้นลดลงไปถึงร้อยละ 55

ในตำรา “หวงตี้เน่ยจิง” ซึ่งเป็นตำราแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดของจีนกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ในเพศหญิงเมื่ออายุตั้งแต่ 35 ปี เพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พลังชี่ของไตได้ผ่านช่วงที่แข็งแรงที่สุดของชีวิตไปและเริ่มเข้าสู่ความเสื่อมอันเป็นอนิจจัง ลมปราณและสารจำเป็นของไตอันเป็นเหมือนสารตั้งต้นแห่งชีวิตที่เราได้รับมาจากพ่อแม่นั้นกำลังค่อยๆ ลดน้อยลง ไตเป็นผู้ควบคุมกระดูก ดูแลไขกระดูก ดังนั้นเมื่อสารจำเป็นและลมปราณของไตเสื่อมลงกระดูกและข้อจึงเสื่อมตาม อีกทั้งประกอบกับการกินอาหารที่ไม่ถูกหลัก คือชอบรับประทานอาหารรสจัด ของหวาน ของมัน ของทอด ของเย็น อาหารเหล่านี้ทำให้การย่อยและดูดซึมสารอาหารของม้ามเสื่อมถอย เสมหะ ความชื้นคั่งค้างในร่างกาย ทำให้อ้วน ยิ่งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น “ขา” ก็ยิ่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก ลมปราณของไตที่พร่องไปไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ เส้นเอ็นที่ตับดูแลอยู่จึงขาดการหล่อเลี้ยงกลายเป็นหดเกร็ง แข็งตึง ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร เวลาเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ จึงรู้สึกว่าติดขัดไม่คล่องแคล่ว ทำให้รู้สึกว่าร่างกายไม่สมบูรณ์สั่งได้ดั่งใจเหมือนเมื่อก่อน

แนวทางการรักษาทางแพทย์แผนจีนทั้งการใช้ยาจีน การฝังเข็มและการนวดทุยหนาเน้นที่การบำรุงไตเป็นหลัก บำรุงลมปราณไต เพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก สารจำเป็นและลมปราณที่เพียงพอสามารถส่งไปหล่อเลี้ยงตับ ช่วยให้เส้นเอ็นมีความยืดหยุ่นมากขึ้น อีกทั้งการบำรุงม้ามเพิ่มเลือดและลมปราณ ช่วยสลายเสมหะขับความชื้นที่สะสมคั่งค้างอยู่ทำให้ลมปราณไหลเวียนได้ดีขึ้นเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นและแข็งแรง นอกจากนี้วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุยังน้อย เปรียบเสมือนเป็นการเสริมสร้างรากฐานของตึกให้แข็งแรงตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ยืดอายุการใช้งานของ “ขา” ออกไปได้อีกนาน