posttoday

คนขายแดด...รวยฟ้าแลบ

27 กรกฎาคม 2556

แนวโน้มไฟฟ้าพลังงานก๊าซขาดแคลน ทำให้นักธุรกิจผลิตและขายพลังงานแสงแดด อย่าง “สมโภชน์ อาหุนัย” และ “วันดี กุญชรยาคง”

โดย...โสภาวดี ธเนตปราโมทย์ และเจียรนัย อุตะมะ

แนวโน้มไฟฟ้าพลังงานก๊าซขาดแคลน ทำให้นักธุรกิจผลิตและขายพลังงานแสงแดด อย่าง “สมโภชน์ อาหุนัย” และ “วันดี กุญชรยาคง” กลายเป็นเศรษฐีใหม่ของฟอร์บส์ พุ่งแรงแซงเศรษฐีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ สายการบิน และโรงพยาบาลขึ้นมาได้

ผลการจัดอันดับ 50 เศรษฐีเมืองไทยตามมูลค่าสินทรัพย์ประจำปี 2556 สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้คนไทยได้ฮือฮากันถ้วนหน้า เมื่อพบว่า 2 เศรษฐีใหม่ ติดอันดับความรวยครั้งแรก แซงหน้าเศรษฐีเก่าขึ้นมาพรวดเดียว 10 อันดับ

อันดับที่ 40 “สมโภชน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มูลค่าทรัพย์สิน 1.03 หมื่นล้านบาท และอันดับที่ 43 “วันดี” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอสพีซีจี (SPCG) มูลค่าทรัพย์สิน 9,360 ล้านบาท

ทั้งสองคนดำเนินธุรกิจเดียวกันคือ พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ธุรกิจใหม่ของโลกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริม

ทั้งคู่รู้จักกลไกตลาดทุนเป็นอย่างดี จึงผลักดันโครงการเข้าตลาดหุ้น และสร้างมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเศรษฐีได้ในเวลาอันรวดเร็วโดยเพิ่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อ 12 ปีมานี้เอง

คำถามต่อมาคือว่า ถ้าหมดระยะเวลาสนับสนุนจากรัฐบาล จะยังคงสภาพความเป็นเศรษฐีไว้ได้หรือไม่

“สมโภชน์ ถือหุ้น EA อยู่ 1,509.66 ล้านหุ้น หรือ 40.47% ณ ราคาหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.ที่หุ้นละ 7.25 บาท

เขาเป็นนักการเงินที่เดินหันหลังให้กับตลาดทุน ยอมทิ้งเก้าอี้บริหารในบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งการเดินออกมาจากตลาดทุน ไม่ได้สร้างความประทับใจให้สมโภชน์นัก แม้กระทั่งการเข้ามาซื้อกิจการในตลาดหลักทรัพย์ ซีฮอร์ส (SH) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น อีเทอเนิล เอนเนอยี (EE) ที่ช่วงแรกเป็นร่างทรงให้กับนายทุนคนหนึ่ง

ใช้เวลากับ EE ไม่นานนัก เขาก็หาโอกาสให้ตัวเองได้พิสูจน์ศักยภาพในตัวเอง ด้วยการเดินจาก EE เพื่อมาเป็นนักอุตสาหกรรม ก่อร่างสร้างความเป็นเศรษฐีเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมไบโอดีเซล ตั้งบริษัท “พลังงานบริสุทธิ์” ธุรกิจพลังงานไบโอดีเซล เมื่อ 5 ปีกว่าที่ผ่านมา

มุ่งมั่นนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) สร้างฝันให้เป็นจริง โดยนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2556

เริ่มต้นด้วยการทำธุรกิจไบโอดีเซล ศึกษาและลงมือตั้งแต่เครื่องจักรยันการผลิต แล้วขยายเข้าสู่ธุรกิจแสงแดดและลม ตลอดเวลาของการบ่มเพาะ EA ทำให้ “สมโภชน์” เรียนรู้การเป็นนักอุตสาหกรรม ผนวกกับนักการเงิน เป็นต้นทุนธุรกิจที่สร้างจุดต่างให้กับธุรกิจ EA นั่นหมายความว่า EA ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนถูก แข่งขันผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันได้

ตลอดเวลาของการสะสมทรัพย์ในแดด ทำให้ “สมโภชน์” กลายเป็นเศรษฐีใหม่ เขากลับไม่รู้สึกรู้สากับความเป็นเศรษฐี “สมโภชน์” บอกว่า ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนไปจากการเป็นเศรษฐี นั่นเป็นเพียงภาพลวงตา ที่สร้างตัวเลขในกระดานจากราคาหุ้นเท่านั้น ทุกวันยังต้องทำงานหนัก แต่งตัวเรียบง่าย กินอาหารพื้นๆ จะไปหลงอะไรกับสิ่งเหล่านี้

“ความสุขของผมไม่ได้มาจากเงิน การติดอยู่ในบ่วงความโลภ ไม่มีสุข สำหรับผมสิ่งที่มีมากกว่าเงิน คือ ความสุขทุกวันกับงานที่ทำ นอนหลับสนิท ทำในสิ่งที่ชอบ”

ทุกสิ่งในโลก เกิดขึ้นแล้วดับไป ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็มีวันเสื่อม เฉกเช่นเดียวกับสถานะเศรษฐีฟ้าแลบ ที่เกิดขึ้นและดับลงจากธุรกิจแดดและลม ทำให้หลายคนเป็นห่วงตำแหน่งเศรษฐีของ “สมโภชน์” จะขึ้นลงเร็วปานสายฟ้าหรือไม่

สำหรับสมโภชน์แล้วเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติ แต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองและธุรกิจ EA เติบโตอย่างรวดเร็วมาจากพลังงานทดแทน ที่เป็นแนวโน้มของโลก ที่มองพลังงานทดแทนจะเติบโตอย่างยั่งยืน เห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งยุโรปและสหรัฐ จะเน้นพลังงานทดแทนมากขึ้นแทนพลังงานจากน้ำมัน หรือก๊าซ และถ่านหิน ที่ลดลง เป็นฉันทามติว่าสิ่งแวดล้อมมีผลกับชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น เป็นต้นทุนทำให้ค่าพลังงานจากน้ำมันสูงขึ้นทุกวัน

ฉะนั้น จุดตัดกันของพลังงานสะอาด (แดด ลม น้ำ) กับพลังงานรูปแบบเดิมที่ใช้น้ำมัน ก๊าซ จะตัดกันที่ต้นทุนพลังงานทดแทนที่ถูกลง และเป็นจุดที่ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนต้องแข่งขันกัน เพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งนโยบายส่งเสริมจากรัฐบาลในการสร้างให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในอาเซียน ที่รับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เติบโตยั่งยืน

“ผมต้องการเห็นพลังงานทดแทนระยะยาว เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีพีดี) มีการระดมความคิดระหว่างผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ส่วนเข้ามาทำงาน ให้มีการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพสูง มากกว่าการห่วงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ที่ผมทำมาไม่ได้คิดว่าจะมาติดอันดับ ยิ่งมาอยู่ตรงนี้ สร้างความกดดัน ให้ทำงานดีกว่า อย่าไปหลงอะไรกับมัน” สมโภชน์ ย้ำ

นักบุกเบิก

สำหรับ “วันดี วัย 56 ปี ถือหุ้น SPCG 263 ล้านหุ้นหรือ47.01% ราคาล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.ที่หุ้นละ 25.50 บาท” บริษัท เอสพีซีจี เป็นผู้พัฒนาโซลาร์ฟาร์มเชิงพาณิชย์แห่งแรก ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

เธอเคยได้รับการยกย่องจากนิตยสารฟอร์บส์เอเชีย ให้เป็นนักธุรกิจหญิงที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลติดทำเนียบ 15 นักธุรกิจหญิงดาวรุ่งที่น่าจับตามองตั้งแต่ปีก่อน

ความรวยที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน

“วันดี” เคยเป็นรองประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน (SOLAR) บริษัทผู้ผลิตและขายปลีกพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศ

เธอปลุกปั้นบริษัทนี้มากับมือจนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่เมื่อบริษัทรุ่งเรืองเกิดการแตกคอกับหุ้นส่วนธุรกิจ “ไพวงษ์ เตชะณรงค์”

จากนั้นได้ขายหุ้นทั้งหมดและลาออกไปเคว้งคว้างทั้งที่วัยใกล้เกษียณ

“อายุ 50 ปีแล้ว อยู่กับโซลาร์ตรอน มา 25 ปี จนอิ่มตัว อยากหาอะไรใหม่ๆ ท้าทายทำ เพราะหากอยู่ที่เดิมทำให้มองไม่รอบด้าน” เธอเคยกล่าวไว้

“วันดี” เล่าว่า ช่วงชีวิตหลังจากนั้นได้ปรนเปรอตัวเอง ทั้งเข้าสปา เข้าห้องสมุด และสปอร์ตคลับ

“ไม่คิดว่าชีวิตช่วงนั้นล้มเหลว เป็นการให้รางวัลชีวิต หลังการตรากตรำมามาก เปลี่ยนจากชีวิตที่ยุ่งเหยิงมาเป็นชีวิตที่ง่ายๆ ช่วงที่หยุดงานไปก็ได้แต่งงาน เขาเป็นข้าราชการ เป็นเพื่อนกันมานาน แต่ไม่มีโอกาสคบกัน”

ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างมีความสุขได้ไม่นาน ปลายปี 2551 ช่วงหลังรัฐประหาร รัฐบาลขิงแก่ ชีวิตของดาวดวงนี้ต้องหักเหกลับเข้าวงการอีกครั้ง

“ตอนนั้นกระทรวงพลังงานภายใต้ รมว.พลังงาน ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ มีนโยบายพัฒนาพลังงานทดแทน ก็ขอให้ไปช่วยดูเรื่องนี้ จึงเห็นโอกาสและเกิดธุรกิจของบริษัท โซล่า เพาเวอร์ (SPC) กว่าจะสำเร็จก็ปี 2553”

“วันดี” เล่าว่า ธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม หรือพลังงานแสงอาทิตย์นั้น จะยากลำบากช่วงแรกในการระดมทุน แต่เมื่อระดมทุนได้แล้วจะเติบโตแบบก้าวกระโดด

เริ่มต้นตั้งแต่ศึกษาข้อมูลจากนโยบาย คำนวณตัวเลขทางการเงิน เมื่อสำเร็จแล้วขอกู้เงินธนาคาร ตอนนั้นธนาคารมีเงื่อนไขว่าต้องมีผู้ร่วมทุนที่ดีเข้ามา เพราะทุนบริษัทไม่พอ ต้องใช้เงินทุนทั้งหมดถึง 700 ล้านบาท

เธอยอมขายที่ 1 แปลง และบ้าน 1 หลัง เพื่อระดมทุนส่วนตัวให้ได้ 280 ล้านบาท พร้อมการค้ำประกันส่วนตัว ดึงกระทรวงพลังงานเข้ามาร่วมทุน บรรษัทการเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ธนาคารโลกเข้ามาถือหุ้นและร่วมลงทุน จึงได้เงินกู้จากธนาคารมาลงทุนโครงการแรก 420 ล้านบาท

SPC ขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งแรกวันที่ 2 เม.ย. 2553 ได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10% จึงมีโครงการ 2 และ 3 ตามมา

“จากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะถึงจุดคุ้มทุน 10 ปี ตอนนี้ 8 ปี ก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว”

จากนั้นเข้าไประดมทุนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ ด้วยการซื้อกิจการของบริษัท สตีล อินเตอร์เทค (STEEL) เพื่อเข้าจดทะเบียนทางอ้อมปี 2553

เมื่อรวมกิจการกันแล้วกลายมาเป็น เอสพีซีจี ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท และเข้าซื้อขายเดือน เม.ย. 2554 ตอนนั้นขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพียง 3 โรง ทำให้ยังขาดทุน

บริษัทย้ายจาก mai ไปซื้อขายใน ตลท.เมื่อต้นปี 2555 ปีนั้นบริษัทมีกำไร 39 ล้านบาท เพราะขายไฟได้ถึง 7 โรง และมีแผนจะนำโครงการที่ 10-16 ขายให้กองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานโซลาร์ฟาร์มมูลค่า 5,300 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีนี้ และจะออกโซลาร์บอนด์ อายุ 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี มูลค่ารวม 7,000-7,500 ล้านบาท เสนอขายในปีนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ได้ ตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นไป

ล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทในเครือของ กฟภ. ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีลูกค้า 16 ล้านครัวเรือน จากปัจจุบันประเทศไทยมี 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

“หากกินส่วนแบ่ง 10% ก็เท่ากับ 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และในต่างประเทศพบว่าตลาดโซลาร์รูฟมีขนาดตลาดใหญ่กว่าโซลาร์ฟาร์ม 3 เท่าตัว เพิ่มขึ้น 75% ส่วนกำไรสุทธิจะก้าวกระโดดเป็น 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68%”

สิ้นไตรมาสแรกที่ผ่านมา เอสพีซีจีก่อสร้างและผลิตกระแสไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งสิ้น 16 โครงการ หรือ 85.3 เมกะวัตต์

เธอมีแผนจะก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์มให้ครบ 36 โครงการสิ้นปีนี้

เธอเล่าว่า เอสพีซีจี ตอนนี้อยู่ตัวเพราะเมื่อเกิดความเชื่อมั่นในโครงการแล้วก็ระดมทุนได้ขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต่างจาก โซลาร์ตรอน ที่เคยทำมาที่ขายปลีกต้องเหนื่อยไปตลอด