posttoday

ทำอย่างไร...เมื่อธาตู (สี่) ไม่สมดุล

28 มกราคม 2553

ร่างกายของคนเราประกอบกันขึ้นด้วยธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ่เมื่อใดที่ธาตุทั้งสี่เกิดกำเริบ หย่อน หรือพิการ ย่อมหนีไม่พ้นโรคที่จะตามมา...

ร่างกายของคนเราประกอบกันขึ้นด้วยธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ่เมื่อใดที่ธาตุทั้งสี่เกิดกำเริบ หย่อน หรือพิการ ย่อมหนีไม่พ้นโรคที่จะตามมา...

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

ร่างกายของคนเราประกอบกันขึ้นด้วยธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ไขกระดูก หัวใจ ปอด พังผืด ม้าม ตับ ไต ไส้เล็ก ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า สมอง ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำดี น้ำตา เสลด มันเหลว หนอง น้ำลาย เลือด น้ำมูก เหงื่อ ไขข้อ มันข้น ปัสสาวะ ธาตุลม ได้แก่ ลมพัดขึ้น ลมพัดลง ลมพัด นอกลำไส้ ลมพัดในลำไส้ ลมพัดทั่วร่างกาย ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ธาตุไฟ ได้แก่ ไฟอบอุ่นกาย ไฟเผาให้แก่ ไฟร้อนระส่ำระสาย ไฟย่อยอาหาร

ถ้าธาตุเหล่านี้ดำรงอยู่ปกติไม่แปรปรวนโรคก็จะไม่เกิดขึ้น และ่เมื่อใดที่ธาตุทั้งสี่เกิดกำเริบ หย่อน หรือพิการขึ้นมา ย่อมหนีไม่พ้นโรคที่จะตามมา

สาเหตุการเกิดโรค

อ.สุกัญญา หงสประภาส แพทย์แผนไทย ประจำไทยเมติคอลสปา โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า การแพทย์แผนไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์ว่า มาจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่น ผีบรรพบุรุษ ถูกคุณไสย เป็นต้น และมีความเชื่อว่ามาจากอิทธิพลในเรื่องต่อไปนี้

1.อิทธิพลของธาตุสี่ที่ไม่สมดุล ซึ่งเมื่อธาตุ ไม่สมดุลย่อมทำให้เกิดโรค

2.อิทธิพลของฤดูกาล หมายถึง คนเราหากไม่สามารถปรับตัวให้สมดุลจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ร้อน ฝน และหนาว ได้ย่อมทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

3.อิทธิพลของอายุที่เปลี่ยนไปตามวัยอันเป็นกฎธรรมชาติ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในที่สุด

4.อิทธิพลของถิ่นที่อยู่อาศัย คือ ณ สถานที่ ที่แตกต่างกัน ในประเทศเขตอากาศร้อน อุ่น เย็น และหนาว มีโอกาสเป็นโรคที่ไม่เหมือนกัน

5.อิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล คือการเปลี่ยนแปลงเวลาทุก 24 ชั่วโมงในรอบ 1 วัน และอิทธิพลของดวงดาวตามจักรราศี 12 ราศี ที่มีผลต่อชีวิตยาวนานหลายปี เรียกว่าดาวเคราะห์เสวยอายุอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคได้

6.พฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุก่อโรค ทางกาย ได้แก่ การรับประทานอาหาร มากเกินไป หรือน้อยเกินไป รับประทานอาหารบูด หรือ รับระทานอาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ ไม่ถูกกับโรค การฝืนอิริยาบถ คือ การนั่ง ยืน เดิน นอน ที่ไม่สมดุลกัน ทำให้โครงสร้างร่างกายเสียสมดุลและเสื่อมโทรม การอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศ ไม่สะอาด ร้อนจัดหรือเย็นจัด หรืออยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีกลิ่นอับชื้น การอด ได้แก่ การอดข้าว อดนอน อดน้ำ การขาดอาหาร การกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ การออกกำลังกาย ทำงาน หรือมีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป ทางจิตใจ ได้แก่ การที่มีความโศกเศร้าเสียใจหรือดีใจเกินไปจนขาดอุเบกขา และการมีโทสะรุนแรงจนขาดสติ

 

ทำอย่างไร...เมื่อธาตู (สี่) ไม่สมดุล

รู้จักธาตุสี่และธาตุเจ้าเรือน

อ.สุกัญญา กล่าวว่า ร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุสี่นั้น องค์ประกอบของธาตุที่รวมกันอยู่ จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งเด่นหรือมากกว่าธาตุอื่น เราเรียกธาตุนั้นว่า ธาตุกำเนิด หรือธาตุเจ้าเรือน บุคคลใดจะมีธาตุเจ้าเรือนใด ให้พิจารณาใช้ธาตุของเดือนทางจันทรคติที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดามาเป็นของตน หรืออีกทางหนึ่ง สังเกตจากบุคลิกภาพ ความรู้สึกนึกคิด ลักษณะนิสัย ปัจจุบัน ซึ่งลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับลักษณะที่เป็นมาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ทั้งนี้เป็นเพราะการเลี้ยงดู พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และจากสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ธาตุเปลี่ยนไป แต่ปกติธาตุเจ้าเรือนเดิมจะไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต

ทั้งนี้ อ.สุกัญญา ได้จำแนกเกี่ยวธาตุเจ้าเรือนและลักษณะของธาตุเจ้าเรือนแต่ละอย่างไว้ดังนี้

ธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุดิน คือบุคคลที่เกิด ในเดือน 11 12 1 หรือเดือน ต.ค. พ.ค. ธ.ค. ลักษณะเป็นคนสูงใหญ่ ผิวค่อนข้างคล้ำ ผมดกดำ เสียงดังฟังชัด ข้อกระดูกแข็งแรง กระดูกใหญ่ น้ำหนักตัวมาก ล่ำสัน อวัยวะสมบูรณ์

ธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุน้ำ คือบุคคลที่เกิด ในเดือน 8 9 10 หรือเดือน ก.ค. ส.ค. ก.ย. ลักษณะเป็นคนร่างใหญ่ น้ำหนักตัวมาก ผม ดกดำ เคลื่อนไหวช้า เรียนรู้ช้า แต่เป็นมิตรกับคนอื่นง่าย ใจเย็น

ธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุลม คือบุคคลที่เกิดในเดือน 5 6 7 หรือเดือน เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ลักษณะเป็นคนรูปร่างผอม ผิวแห้ง หยาบ พูดเร็ว เดินเร็ว อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว วิตกกังวลง่าย เรียนรู้เร็ว แต่ลืมง่าย

ธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุไฟ คือบุคคลที่เกิดในเดือน 2 3 4 หรือเดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. ลักษณะรูปร่างปานกลาง แข็งแรง ผิวหนังย่น ผมแดงหงอกเร็ว พูดเสียงดัง ฟังชัด หิวบ่อย กินจุ หงุดหงิดง่าย โกรธง่ายหายเร็ว ฉลาดหลักแหลม

คนธาตุไม่สมดุล

อ.สุกัญญา อธิบายว่า ธาตุเจ้าเรือน จะเป็นตัวกำหนดให้บุคลิก ลักษณะ ท่าทาง อุปนิสัย โอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคของแต่ละธาตุ เช่น คนธาตุไฟ ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเกิดโรคจากธาตุไฟแปรปรวนได้มากกว่าคนเกิดธาตุอื่น

คนที่ธาตุดินไม่สมดุล จะมีแนวโน้มเครียดง่าย คิดเล็กคิดน้อย ลังเล ไม่มั่นใจ ดื้อรั้น เฉยชา ส่งผลต่อการเกิดโรคประจำตัวของ ธาตุดิน คือ หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจตาย ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ ท้องเสีย กระเพาะ ระบบขับถ่าย ท้องผูก ริดสีดวงทวาร มะเร็ง อาการปวดตามข้อตามกระดูก การเจ็บป่วยมักเกิดขึ้นในทุกฤดู และสิ่งที่ควรระวัง คือ การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การ กลั้นอุจจาระและปัสสาวะบ่อยๆ และการทำงานหนัก

คนที่ธาตุน้ำไม่สมดุล จะมีแนวโน้มเกียจคร้าน เบื่อง่าย หงุดหงิด คิดมาก ไม่สดชื่น ผิวพรรณหยาบ หม่นหมอง ส่งผลต่อการเกิดโรคประจำตัวของธาตุน้ำ คือ ไข้หวัด ไอมีเสมหะ ทอนซิลอักเสบ ไซนัส ปอดบวม หอบหืด หลอดลมอักเสบ มดลูกอักเสบ ไตอักเสบ โรคอ้วน โรคระบบขับปัสสาวะ เป็นต้น การเจ็บป่วยมักจะเกิดในฤดูหนาว สิ่งที่ควรระวังคือ การอยู่ในที่เย็น การดื่มน้ำเย็น การกลั้นอุจจาระและปัสสาวะ

คนที่ธาตุลมไม่สมดุล จะมีแนวโน้มกระวนกระวาย ตกใจง่าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ หมดแรง เหนื่อยง่าย อาหารไม่ย่อย ส่งผลต่อการเกิดโรคประจำตัวของธาตุลม คือ โรคเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เส้นเลือดฝอยตีบตัน หน้ามืดเป็นลม ใจสั่น เหน็บชา สมองเสื่อม ความดันโลหิต ท้องอืดโรคกระเพาะ โรคประสาท เป็นต้น บ่อยครั้งจะเกิดอาการหมดแรงเอาดื้อๆ ท้องลั่น มีลมในกระเพาะมาก เวลาเดินข้อจะลั่น

การเจ็บป่วยมักจะเกิดขึ้นในฤดูฝน สิ่งที่ ควรระวังคือ ความเครียด นอนไม่หลับ พักผ่อน ไม่พอ อากาศอับชื้น เหนื่อยง่าย ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร ระบบกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย

คนที่ธาตุไฟไม่สมดุล อ.สุกัญญา กล่าวว่า จะมีแนวโน้มเครียด หงุดหงิดง่าย คิดมาก ใจร้อน ลังเล ส่งผลต่อการเกิดโรคประจำตัว ของธาตุไฟ คือ โรคความดันโลหิตสูง โรค เครียด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ภูมิแพ้ บ่อยครั้งจะ เกิดอาการอาหารไม่ย่อย มีลมร้อนในกระเพาะทำให้เรอบ่อยร้อนใน มีแผลในปาก เหงื่อออกมากผิดปกติ

การเจ็บป่วยมักเกิดในฤดูร้อน สิ่งที่ควรระวังคือ การอยู่ในที่ร้อน การรับประทานอาหารปิ้ง ย่าง ทอด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

วิธีปรับธาตุสมดุล

อ.สุกัญญา กล่าวว่า การรักษาแบบองค์ รวมแนวแพทย์แผนไทยจะเน้นการทำร่างกายให้สมดุล ให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคมากกว่าการรักษา จึงต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการรักษาในรูปแบบต่างๆ ได้แก่

1.ปัจจัยซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนด ได้แก่ ธาตุเจ้าเรือน ฤดูกาล ถิ่นที่อยู่ สุริยจักรวาล ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มนุษย์ต้องพยายาม ปรับตัวให้เข้ากับปัจจัยหรือสมุฏฐานต่างๆ ด้วยการกินอาหาร ยาสมุนไพร และการป้องกัน ตนเอง

2.ปรับพฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุให้เกิดโรคดัง ที่กล่าวมาแล้ว คือ หลีกเลี่ยงการฝืนอิริยาบถ ที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุล ธาตุสี่แปรปรวน ฝึกบริหารจิตให้รู้ทันจิต นำเอาหลักธรรมานามัยมาใช้ คือ กายานามัย ออกกำลังกาย การดัดตนด้วยท่าฤษีดัดตน การรับประทานอาหารสมุนไพรให้ถูกกับธาตุและพอเหมาะ จิตตานามัย ฝึกสมาธิให้จิตมีพลัง เกิดปัญญาและความสงบ ทำให้มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และชีวิตานามัย การดำรงชีวิตด้วยทางสายกลางไม่ประมาท รักษาศีลและสิ่งแวดล้อมให้สะอาดสมดุลกับธาตุภายนอกทั้งสี่

3.การรักษาด้วยอาหารหรือสมุนไพร เพื่อปรับธาตุแต่ละธาตุที่มีปัญหาให้สมดุล ตามการเสียสมดุล ตามธาตุเจ้าเรือน ตามฤดูกาล และตามอาการเฉพาะโรค เป็นต้น

4.การรักษาด้วยการนวด การประคบ และอบด้วยสมุนไพร