posttoday

เหงื่อออกเป็นเลือด โรคที่พบน้อย รักษาให้หายขาดได้

19 เมษายน 2565

ไขข้อข้องใจ 'ภาวะเหงื่อออกเป็นเลือด' พร้อมแนะวิธีดูแลโรคอื่นๆ ที่เกิดจากเหงื่อในช่วงอากาศร้อน โดยเฉพาะผดและสิวที่พบมากสุด

จากกระแสข่าวพบเด็กหญิง 7 ขวบมีเลือดออกตา จมูก และผิวหนังโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากโรคภาวะเหงื่อออกเป็นเลือด (Hematohidrosis) หรือที่เรียกว่า ภาวะที่มีเลือดออกจากผิวหนังปกติที่ไม่มีร่องรอยบาดแผลใดๆ ซึ่งสามารถพบเลือดออกได้ตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ฝ่ามือ หลังมือ หน้าผาก ใบหน้า ซอกพับ หรือดวงตา เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก แต่มักสร้างความตื่นตกใจและความเครียดต่อผู้ที่เป็นและผู้ที่พบเห็น 

เหงื่อออกเป็นเลือด โรคที่พบน้อย รักษาให้หายขาดได้

เรื่องนี้ ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และ รศ.พญ.รัตนาวลัย นิติยารมย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย อธิบายว่า สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจพบสัมพันธ์กับภาวะความเจ็บปวดทางร่างกาย เช่น โรคประจำตัวที่เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด การออกกำลังกายอย่างหนัก การมีประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด หรือภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง รวมถึงยังมีความเชื่อเกี่ยวกับภาวะเหงื่อออกเป็นเลือดกับความเชื่อทางศาสนา

ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา กล่าวว่า ผู้ที่มีอาการเหงื่อออกเป็นเลือดบางรายจะมีอาการเจ็บหรือปวดแสบบริเวณที่จะมีเลือดออกนำมาก่อน บางรายอาจมีอาการใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลมในขณะที่มีอาการ เลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดแดงสด หรือน้ำสีแดงจาง อาจมีกลิ่นคาวเลือด ปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน และสามารถหยุดได้เองในเวลาไม่นาน

ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะมีปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือบุคลิกภาพผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังจากการเกิดอาการเหงื่อออกเป็นเลือด โดยส่วนใหญ่ผุ้ที่มีภาวะนี้จะตรวจไม่พบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายหรือการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการใด ๆ

ทั้งนี้ การรักษาภาวะนี้ขึ้นกับสาเหตุ หากในรายที่ตรวจไม่พบสาเหตุใด ๆ การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาปัญหาทางจิตใจควบคู่กันไป ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งอาจมีอาการหลายเดือนจนถึงหลายปี แล้วอาการเหล่านี้มักหายไปได้เอง

เหงื่อออกเป็นเลือด โรคที่พบน้อย รักษาให้หายขาดได้

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุ Hematidrosis เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก อาการผู้ป่วยคือจะมีเลือดออกบริเวณผิวหนัง และเยื่อบุอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเลือดจะไหลออกเป็นพักๆ สำหรับโรคเหงื่อออกเป็นเลือด เกิดจากเส้นเลือดฝอยรอบๆ บริเวณต่อมเหงื่อ เกิดความเปราะบาง เกิดการปริแตก และมีเลือดไหลออกมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และส่วนมากจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สำหรับในเพศหญิงจะอยู่ในช่วงอายุก่อนจะมีประจำเดือน พบมากระหว่างอายุประมาณ 11-14 ปี อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้

สำหรับในช่วงอากาศร้อน จะพบว่าร่างกายมีเหงื่อออกจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และรักแร้ ซึ่งการที่มีเหงื่อออกนั้น เกิดจากความร้อนหรืออารมณ์และจิตใจที่ถูกกระตุ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติหรือเรียกว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมากหรือภาวะเหงื่อท่วม” เป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ มีสาเหตุ ที่พบได้บ่อย คือ โรคอ้วนเพราะชั้นไขมันใต้ผิวหนังที่หนาขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี จึงต้องเพิ่มการระบายความร้อนออกทางเหงื่อ การขาดฮอร์โมนเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนหรือภาวะวัยทอง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวานที่มีความผิดปกติในการใช้พลังงานและการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อต่างๆ การติดเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดอาการไข้เรื้อรัง เช่น โรคมาลาเรีย และวัณโรค โรคหัวใจวายเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายต้องใช้พลังงานเพิ่มในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ ความร้อนในร่างกายจึงสูงขึ้น ซึ่งต้องกำจัดออกโดยการเพิ่มภาวะเหงื่อออก นอกนี้ยังมีสาเหตุจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาพาราเซตามอล หรือยาที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน ยาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน ยาด้านจิตเวช โรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในโรคมะเร็งอาการเหงื่อออกมากผิดปกติทั่วตัวมักเกิดในช่วงกลางคืน

โรคที่เกิดจากเหงื่อที่พบบ่อยจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง ได้แก่

ผด เป็นโรคที่พบบ่อยในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงเกิดจากการอุดกั้นที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง ทำให้เหงื่อไม่สามารถไหลซึมออกมาได้ จะเกิดเป็นตุ่มพองน้ำใสๆ เล็กๆ ตื้นๆ โดยมากจะเป็นบริเวณที่ถูกแดดหรือถูกความร้อนซึ่งมักเรียกว่าผดแดด ถ้ามีเหงื่อออกมากก็จะยิ่งเป็นมากขึ้นและจะยุบหายไปเมื่อไม่มีเหงื่อออก

รังแค เกิดจากการทำงานที่มากขึ้นของต่อมไขมัน มีลักษณะเป็นสะเก็ดบางๆ หรือขุยละเอียดอ่อนบนหนังศีรษะ พบมากในวัยหนุ่มสาวและจะน้อยลงในวัยชรา

สิว เกิดจากการขับถ่ายไขมันออกมาผิดปกติขึ้นอยู่กับวัย ส่วนมากพบในวัยหนุ่มสาว และเกิดจากความเครียดทางจิตใจ สภาวะแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งอากาศร้อน การเสียดสี สารเคมีในเครื่องสำอาง การรับประทานยา และพันธุกรรม ส่วนใหญ่บริเวณใบหน้า แผ่นหลัง หน้าอก และหัวไหล่ มากน้อยตามลำดับ 

การป้องกันเกิดโรคต่างจากเหงื่อ คือ การรักษาสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วน ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน หวาน และเค็ม เพิ่ม ผัก และผลไม้ ที่สำคัญคือควรรักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค ที่เกิดจากเหงื่อ เพื่อส่งผลดีคุณภาพชีวิต