posttoday

รู้ทัน! วัยทองก่อนวัย ก่อนรังไข่เสื่อม

31 มกราคม 2565

คุยกับครูก้อย-นัชชา ลอยชูศักดิ์ เรื่อง "วัยทองก่อนวัย" ที่ส่งผลให้มีบุตรยากตามมา

รู้ทัน! วัยทองก่อนวัย ก่อนรังไข่เสื่อม

วัยทองก่อนวัยอันควร มักพบในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี อันเนื่องมาจากจากฟองไข่ในรังไข่สลายเร็วกว่าปกติ ทำให้ประจำเดือนค่อยๆ ขาดหายและขาดหายอย่างถาวรในที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเมื่ออายุย่างเข้าช่วงวัย 45-55 ปี แต่กรณีวัยทองก่อนวัยในผู้หญิงน้อยกว่า40 ปี ส่งผลให้มีบุตรยากตามมา เนื่องจากรังไข่ มีหน้าที่หลักใน “สร้างเซลล์ไข่” และ “การสร้างฮอร์โมนเพศหญิง” กระตุ้นไข่ให้สุกและตกตามรอบเดือน เมื่อเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนวัย เป็นอาการบ่งชี้ถึง “ภาวะรังไข่เสื่อม” ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ถดถอยทำให้มีบุตรยาก

จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเข้าสู่ภาวะ "วัยทองก่อนวัย"

ครูก้อย-นัชชา ลอยชูศักดิ์ ครูวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาผู้มีบุตรยากและผู้ก่อตั้งเพจ BabyAndMom เพจที่ให้ความรู้และการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยากตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ได้ศึกษาและรวบรวมงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับหลักโภชนาการในการรับประทานอาหารที่จะช่วยเสริมภาวะเจริญพันธุ์ ช่วยบำรุงไข่ บำรุงมดลูก และปรับสมดุลฮอร์โมนเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้มีบุตรยากมายาวนาน ให้ข้อมูลว่า ก่อนจะเข้าสู่วัยทองร่างกายจะมีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า คือ ประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อนทิ้งช่วงนาน ท้องยาก หรือมากะปริดกะปรอย ปริมาณประจำเดือนจะลดลง มีอาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น อาการร้อนวูบวาบตามตัว นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย ช่องคลอดแห้ง เจ็บแสบช่องคลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ ผิวแห้ง ผมร่วง ซึ่งหากมีอายุต่ำกว่า 40 ปี และเริ่มมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวิฉัยว่ากำลังเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนวัยหรือไม่ โดยแพทย์จะใช้ชุดตรวจเลือดเพื่อตรวจหาระดับ Follicle-Stimulating Hormone (FSH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่สร้างไข่และกระตุ้นให้ไข่สุก มีผลต่อการมีประจำเดือน สามารถตรวจสอบโดยการเจาะเลือดตอนช่วงมีประจำเดือน 1-3 วันแรก หรือในรายที่สงสัยว่าน่าจะมีระดับไทรอยด์ต่ำ จะมีการตรวจฮอร์โมน Thyroid-Stimulating Hormone (TSH) ร่วมด้วยเพราะส่งผลต่อความผิดปกติของรอบเดือนเช่นกัน

โดยสามารถตรวจประเมินประสิทธิภาพของรังไข่จากตรวจค่า FSH ดังนี้

รู้ทัน! วัยทองก่อนวัย ก่อนรังไข่เสื่อม

· FSH ต่ำเกินกว่า 4mIU/ml ไข่ใบเล็ก ท้องยาก

การมี FSH ในระดับต่ำเกินไปอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้วงจรรอบเดือนหยุดชะงักไปได้ ซึ่งค่าของฮอร์โมน FSH เป็นอีกหนึ่งปัจจัยมีผลต่อโอกาสตั้งครรภ์ มักจะพบในผู้หญิงที่มีอาการของภาวะถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovarian Syndrome หรือ PCOS) ภาวะที่มีไข่ใบเล็กจำนวนมากในรังไข่ ทำให้ไข่ไม่สุกและไม่โตตามเกณฑ์หรือไม่ตกตามรอบ ทำให้ประจำเดือนมาช้าและท้องยาก

· FSH 4-7mIU/ml ระดับปกติ

ระดับของ FSH ในร่างกายระดับนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ บ่งบอกถึงรังไข่สำรอง (Ovarian reserve) รวมถึงคุณภาพและจำนวนของไข่ที่เหลืออยู่ในเกณฑ์ปกติ

· FSH 10-20 mIU/ml เริ่มกระตุ้นไข่ได้ยาก เสี่ยงวัยทองก่อนวัยอันควร

ระดับของ FSH ที่เกิน 10mIU/ml จะเริ่มกระตุ้นไข่ได้ยาก หากมีอายุต่ำกว่า 40 ปีค่าดังกล่าวจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารังไข่เริ่มเสื่อม

· FSH สูงเกิน 20mIU/ml เข้าสู่วัยทอง มักจะพบในผู้หญิงที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด สามารถทำให้เป็นผู้มีบุตรยากได้

เมื่อมีจำนวณไข่ลดน้อยลง และคุณภาพของไข่เสื่อมลง ร่างกายจะพยายามผลิต FSH ออกมามากขึ้นเพื่อชดเชยและกระตุ้นให้ follicle มีการเจริญเติบโตมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง หากพบว่ามีระดับ FSH สูง อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่ากำลังจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว ไข่ที่คุณภาพดีจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและอินฮีบินบีสูง ผลคือ ค่า FSH จะต่ำลง หากไข่คุณภาพไม่ดีฮอร์โมนที่สร้างได้จากไข่จะมีระดับต่ำ ส่งผลให้ค่า FSH สูงขึ้น สัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงการทำงานรังไข่ที่แย่ลง คือ ค่า FSH มากกว่า 10 mIU/mL ร่วมกับค่า E2 ที่น้อยกว่า 80 pg/ml มีรายงานว่าค่า FSH ที่มากกว่า 18 mIU/ml จะมีโอกาสการตั้งครรภ์น้อยมาก

กล่าวโดยสรุป การตรวจ FSH คือการตรวจฮอร์โมนการทำงานของรังไข่ ซึ่งหากตัวเลขยิ่งสูงแปลว่าการทำงานของรังไข่ยิ่งเสื่อมสภาพ อย่างไรก็ตามค่า FSH ในแต่ละเดือนไม่คงที่หากได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน เช่น ยาคุมกำเนิด อาจได้ค่าที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากกำลังทานยาคุมกำเนิดต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะมีผลต่อการตรวจและการแปลผลด้วย

ดังนั้น หากมีข้อสงสัยว่ากำลังเผชิญกับปัญหาเข้าสู่ “วัยทองก่อนวัยอันควร” หรือ “รังไข่เสื่อม” ควรต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก เนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ หรือ โรคภายในสตรีเพื่อจะได้ให้แพทย์ตรวจวินินิจฉัยและรักษาต่อไป ครูก้อยกล่าวสรุป